ไม่พบผลการค้นหา
'ชัชชาติ' หารือ กรมราชทัณฑ์ นำนักโทษออกมาลอกท่อ 1 ก.ค. นี้ เผยเหลืองบ 15 ล้าน ตั้งเป้าลอกท่อ 500 กม.

เวลาประมาณ 11.00 น. วันที่ 7 มิ.ย.2565 ที่ห้องประชุมชีนิมิตร สำนักการระบายน้ำ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และสำนักการระบายน้ำ ร่วมหารือกับอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ร่วมกันหารือในประเด็นการดำเนินงานล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำให้กับกรุงเทพมหานคร โดยนำผู้ต้องขังออกมาช่วยงานลอกท่อ ทำความสะอาดให้แก่กรุงเทพมหานคร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ทางกรมราชทัณฑ์เคยทำหนังสือถึง สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร ให้การสนับสนุนจ้างแรงงานนักโทษจากกรมราชทัณฑ์เพื่อดำเนินการทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ในปีงบประมาณ 2563 และ 2564 แต่ที่ผ่านมากลับไม่ได้รับการตอบรับจากกทม.

โดยหลังจากการหารือเสร็จสิ้น ชัชชาติ ได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า จะเริ่มจ้างงานนักโทษชั้นเยี่ยมวันที่ 1 ก.ค.นี้ โดยจ้างแรงงานนักโทษ ผ่านกระบวนการระหว่างรัฐ ตามกฏกระทรวงการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องส่งเสริมหรือสนับสนุน ปี 63 โดยไม่ต้องเข้ากระบวนการ e-bidding และให้คำนึงถึงค่าแรงสวัสดิการต่างๆตามความสมัครใจของนักโทษ และมีการเน้นย้ำว่านักโทษที่นำมาลอกท่อเราต้องปฏิบัติกับเขา ด้วยหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งเรื่องค่าแรงสวัสดิการ ค่าอุปกรณ์ต่างๆ ความสมัครใจ ซึ่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็เน้นย้ำว่านี่เป็นนโยบายของกรมราชทัณฑ์ยู่แล้ว 

ชัชชาติ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีคลองที่ต้องขุดลอก 6,500 กิโลเมตร อยู่ในการดูแลของสำนักระบายน้ำ 2,000 กิโลเมตร และสำนักงานเขตที่ดูแลคลองย่อยอีก 4,500 กิโลเมตร ตอนนี้ลอกไปแล้ว 2,000 กิโลเมตร ในอีก 4 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ 2565 ได้หารือว่าจะให้กรมราชทัณฑ์ดำเนินการในวันที่ 1 ก.ค. นี้ และงบประมาณที่เหลืออยู่คิดว่าขุดลอกได้แน่นอน 100 กิโลเมตร ซึ่งจะดูตามข้อกฎหมายที่กำหนดอยู่ และเราสามารถดำเนินการได้เลยเพราะเป็นรัฐบาลต่อรัฐบาล 

"งบประมาณมีงบเหลือจ่ายอยู่ 15 ล้านบาท เดี๋ยวต้องไปดูงบที่เหลือ และใน 4 เดือนตั้งเป้า 500 กม. ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าพอ คิดว่าเอาที่ได้มากที่สุด ส่วนเรื่องราคาเดี๋ยวจะมีคุยอีกที" ชัชชาติ กล่าว 

ขณะที่ อายุตม์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ขอบคุณผู้ว่าฯ ที่ได้ไว้วางใจให้นำผู้ต้องขังออกมาลอกท่ออีกครั้งหนึ่ง เรื่องการนำผุ้ต้องขังออกมานั้น เป็นนโยบายที่ให้ความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน เราจะมีสวัสดิการให้เช่น หากเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุจะมีเงินดูแลให้ โดยเฉพาะอาหาร เครื่องดื่ม และการที่ผู้ต้องขังออกมานั้น เป็นการปรับตัวของผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษ ซึ่งจะมีการเตรียมนักโทษชั้นดีไว้ 1,000 คน จากเรือนจำ 10 แห่ง โดยจะดำเนินการไปตามนโยบายของ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรียุติธรรม และผู้ว่าฯ กทม.

ด้านอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า นักโทษทุกคนที่ออกมาลอกท่อนั้น ต้องฉีดวัคซีนครบโดส และก่อนเข้าออกเรือนจำ ต้องแสดงผลตรวจ ATK และห้ามพบปะญาติที่มาเยี่ยม หรือออกไปเดินในพื้นที่สาธารณะ โดยกรมราชทัณฑ์จะมีค่าตอบแทน 70 % จากกำไรที่กทม.ว่าจ้าง โดยจะยกให้กับนักโทษเพื่อเก็บไว้เป็นทุนภายหลังกลับคืนสู่สังคม

"ในส่วนของการจัดจ้างเอกชนมาร่วมทำงานลอกท่อนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาลำดับต่อไปตามความเหมาะสม เนื่องจากประชาชนร้องเรียนเข้ามาว่า นักโทษจากกรมราชทัณฑ์สามารถลอกท่อได้อย่างมีคุณภาพมากกว่า" ชัชชาติ กล่าว 

ส่วนเรื่องของการตรวจคุณภาพการขุดลอกนั้น สมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ ผอ.สำนักการระบายน้ำ กล่าวว่า จะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักการระบายน้ำเข้าไปตรวจสอบวัดระดับคุณภาพโดยใช้เครื่องมือ เพื่อพิจารณาว่าการขุดลอกอยู่ในระดับไหน หากผ่านเกณฑ์ ก็จะรับตรวจ ส่วนคลองย่อยที่สำนักงานเขตดูแลก็มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตคอยตรวจสอบเช่นกัน

นอกจากนี้ในการประชุมหารือยังได้มีคณะทำงานจากกรมราชทัณฑ์ อาทิ ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองเปรม เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรือนจำพิเศษธนบุรี และเรือนจำจังหวัดนนทบุรี รวมถึงประธานกลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ ประธานกลุ่มกรุงเทพเขตกลาง ประธานกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก ประธานกลุ่มเขตกรุงเทพใต้ ประธานกลุ่มเขตกรุงธนเหนือ และประธานกลุ่มเขตกรุงธนใต้ เข้าร่วมด้วย

ด้าน สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ระบุกรณี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ดำเนินการให้ผู้ต้องขังมาลอกท่อระบายน้ำ ว่า กรมราชทัณฑ์มีความพร้อมในการที่จะนำนักโทษที่มีความประพฤติดีใกล้พ้นโทษ และสามารถออกมาทำงานนอกพื้นที่ได้จำนวนมากถึง 1,000 คน โดยนักโทษเหล่านี้มีศักยภาพที่จะทำงานลอกท่อ 1 คนต่อ 1 วันได้ถึง 25 เมตร เพราะฉะนั้น ไม่ต้องห่วงว่าประสิทธิภาพของคนที่จะไปลอกท่อนั้นจะทำไม่ทัน เว้นเสียแต่จะมีปัญหาในเรื่องของงบประมาณ เนื่องจากผู้ว่าฯ เข้ามารับตำแหน่งในช่วงปลายปี จึงทำให้งบประมาณส่วนนี้จะไปอยู่ในส่วนการจ้างเหมาของบริษัทที่เคยได้จ้างไว้ก่อนหน้านั้น แต่ตนคิดว่า ผู้ว่าฯ น่าจะหางบประมาณส่วนอื่นมาช่วยเติมตรงนี้ไปก่อน 

ส่วนเรื่องของค่าจ้างสำหรับผู้ต้องขังที่จะมาทำงานตรงนี้ สมศักดิ์ กล่าวว่า ต้องได้แน่นอน แต่ต้องมีการคัดคนที่ประพฤติดี มีการควบคุมดูแลอย่างสูงสุด และต้องดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชนด้วย สำหรับวันนี้ก็ได้ข้อสรุปเป็นที่เรียบร้อย ถือว่าเป็นการร่วมมือที่ดี และเป็นการใช้ทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นประโยชน์ หลังจากห่างหายไปนานถึง 5 ปี 

“ช่วงโควิดผู้ต้องขังก็ไม่มีรายได้ พ่อแม่พี่น้องข้างนอกก็ต้องส่งเงินมาให้ พ่อแม่พี่น้องก็ไม่ได้มีเงินอะไร มันก็ลำบาก ผู้ว่าฯ ก็มาช่วยแก้ไขปัญหาตรงนี้ มาแก้ปัญหาให้ ก็ขอบคุณท่านผู้ว่าฯ” สมศักดิ์ ระบุ