ไม่พบผลการค้นหา
‘ชัชชาติ’ ร่วมประชุมสภา กทม.รับข้อเสนอ ส.ก.ที่เร่งให้มีการแก้ไขกฎหมายใหม่ชง ครม.ทวงคืนสิทธิเลือกตั้ง ส.ข. โดยผู้ว่าฯ กทม.หนุนมีตัวแทนประชาชนดูแลเส้นเลือดฝอย ด้านที่ประชุมสภา กทม.ให้ ส.ก.ใหม่ 5 คน ปฏิญาณตนก่อนรับตำแหน่ง

วันที่ 6 ก.ค. 2565 ที่อาคารไอราวัฒพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้าร่วมการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) สมัยที่ 3 ครั้งที่ 1 ในรอบ 8 ปี โดยสาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้ วิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากทม. กล่าวว่า การขออนุญาตถ่ายทอดสดให้ประชาชนสามารถรับชมร่วมกันเป็นครั้งแรก รวมทั้งไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองในการอภิปรายทั้งคดีแพ่ง และอาญา จึงขอให้ส.ก. และผู้ร่วมประชุม อภิปรายอย่างระมัดระวัง

ขณะที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ก่อนเปิดการประชุมว่า ในวันนี้ที่ประชุมสภากทม. จะมีการหารือเรื่องการนำการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) กลับมาอีกครั้งเพื่อให้มาทำหน้าที่ร่วมกับ ส.ก. เพื่อแบ่งเบาภาระงาน โดยการเลือกตั้ง ส.ข. มีการจัดครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2557

ส่วนประเด็นเรื่องหนี้สินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวนั้น ชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้จะยังไม่มีการบรรจุเรื่องเข้าวาระการประชุมแต่ถ้าหากสภากทม.มีข้อซักถาม ก็พร้อมที่จะตอบ ซึ่งเบื้องต้นจะมีการตั้งคณะกรรมการทำงานร่วมกันเพื่อพิจารณา และแก้ปัญหาหนี้สินที่ผูกผันเกี่ยวกับสัมปทานการเดินรถไฟฟ้า

ส่วนประเด็นการตรวจสอบผู้อำนวยการเขตลาดกระบังที่ตั้งแต่วานนี้ (5 ก.ค.) มีตัวแทนชุมชนในเขตลาดกระบังมาร้องขอความเป็นธรรมให้กับผู้อำนวยการเขต หลังจากมีกระแสข่าวว่าเกิดการทุจริต และผอ.คนดังกล่าวได้มีการยื่นใบลาออกไปแล้ว

ชัชชาติ กล่าวว่า อย่านำมวลชนมากดดันกระบวนการทำงานจนผิดสังเกต เรื่องนี้หากไม่มีมูลความจริงก็ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล ซึ่งต้องเป็นไปตามกระบวนการต่อไป สำหรับเรื่องหนังสือลาออก ของผอ.เขต คนดังกล่าวนั้น หากยื่นมาจริง คาดว่าเอกสารจะเป็นไปตามขั้นตอน แต่ขอยืนยันว่าจนขณะนี้ยังไม่พบการกระทำผิดใดๆ 

สภากทม สก -4317-BC4F-221C1870C0AB.jpegสภากรุงเทพมหานคร สก สภากทม -BC8C-4466-902C-CF1151C6E48E.jpeg

สภา กทม. ดันผู้ว่าฯ ชงเลือกตั้ง 'ส.ข.'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2565 สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) โดย วิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากทม. ได้กล่าวนำสมาชิกที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศผลรับรอง 5 เขต หลังมีการตรวจสอบทุจริต ได้แก่ 

-พีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท พรรคก้าวไกล

-ประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล ส.ก.เขตห้วยขวาง พรรคเพื่อไทย

-อนงค์ เพชรทัต ส.ก.เขตดินแดง พรรคพลังประชารัฐ

-รัตติกาล แก้วเกิดมี ส.ก.เขตสายไหม พรรคไทยสร้างไทย

-อนุรักษ์ เลิศวัฒนาไพบูลย์ ส.ก.เขตวังทองหลาง พรรคเพื่อไทย

จากนั้นประชุมได้พิจาณาญัตติของ ส.ก.ในเรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งรัดให้มีการจัดตั้งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.)  โดย นภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้เสนอญัตติ กล่าวว่า สมาชิกทางการเมืองในระดับท้องถิ่น ปัจจุบันผ่านมา 8 ปีแล้ว ยังไม่มีแนวโน้มที่จะเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ไปที่ส.ข.เลย แม้ว่าครั้งหนึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เคยมีการยื่นให้มีการเลือกตั้ง ส.ข.โดยเร็ว และชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นว่า สมควรมีการเลือกตั้งส.ข. เพราะเป็นการกระจายอำนาจให้พี่น้องประชาชนเพื่อการมีส่วนร่วมในการกำหนด และสะท้อนปัญหามาสู่กทม. แต่จนแล้วจนรอดคณะรัฐมนตรี (ครม).ไม่รับเข้าพิจารณา 

นภาพล กล่าวว่า แนวความคิดของคณะรัฐมนตรีไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง ส.ข. แต่ผู้อำนวยการเขตมีการแต่งตั้งคณะกรรมการประชาคมเขตแทน ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนโดยตรง และไม่มีอำนาจในการตรวจสอบ ผิดกับส.ข.ที่มาจากการเลือกตั้ง มีอำนาจตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528

นภาพล เสริมว่า การที่ภาครัฐ ไม่มีการเลือกตั้งส.ข. เป็นการทำให้พี่น้องชาว กทม. ขาดโอกาสได้เลือกตั้งผู้แทนระดับท้องถิ่น ขาดโอกาสที่พี่น้องประชาชนจะร่วมพัฒนา และนำปัญหามาสู่กทม. โดยตรง และขาดอำนาจในการตรวจสอบ ซึ่งถือว่าเป็นการรับอำนาจของพี่น้องประชาชนในแต่ละเขต 

โดยเสนอให้ ผู้ว่าฯ กทม. อาจจะช่วยเสนอถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ปรับแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 24 เพื่อให้ ส.ข.ที่พี่น้องประชาชนเลือกกลับคืนมา และช่วยเหลือธุระ เพื่อการกระจายอำนาจใน กทม.จะได้สมบูรณ์

ด้าน สุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตหนองจอก พรรคเพื่อไทย อภิปรายเห็นด้วยกับการที่ ส.ข.ควรจะต้องมี เพราะตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ส.ข.ไม่ได้ยกเลิก แต่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ที่สำคัญคือ จนกว่าจะทำแผนยุทธศาสตร์ชาติให้เสร็จเรียบร้อย แต่ไม่ทราบว่าทำแผนเสร็จกันหรือยัง อยากฝากไปเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจสูงสุด 

สุทธิชัย กล่าวว่า กทม.เป็นการปกครองแบบพิเศษที่ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง และเมื่อก่อนมีส.ข. แต่โดนยึดอำนาจไป และไม่คิดฝันว่า วันนี้จะได้กลับเข้ามาในรอบ 8 ปี แต่ ส.ข. กลับไม่มีใครพูดถึงเลย ไปไหนพี่น้องประชาชนถามหาแต่ส.ข. ว่าเมื่อไหร่จะเลือกตั้ง

สุทธิชัย กล่าวว่า 8 ปีที่ผ่านมา ส.ก. ไม่มี ส.ข. ก็ไม่มี ชาวบ้านจะพึ่งใคร นี่คือสิ่งที่ประชาชนเรียกร้อง อยากฝากประธานไปถึงผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศให้ดูเรื่องนี้ เพราะขั้นตอนไม่ได้เสร็จที่สภาฯ หรือผู้ว่าฯ แต่แล้วเสร็จที่คณะรัฐมนตรี 

"ให้โอกาสพี่น้องประชาชนมาเลือกตัวแทนของเขาในระดับที่เขาจะพึ่งพาได้ และคนที่ออกกฎหมายท้องถิ่น ไม่รู้ทำไมถึงตัด ส.ข. ทิ้งทำให้ประชาชนอ่อนเบี้ย เพลียแรง" สุทธิชัย กล่าว 

สภากทม ชัชชาติ -1D4B-407C-9210-36140ADD4C8D.jpegสก สภากทม -14A3-4E46-A4B3-327BDCDE4DDE.jpegชัชชาติ สก ประชุมสภากทม สภากทม สภากรุงเทพมหานคร -D3D7-45FC-8F53-74B157D446B7.jpeg

ขณะที่ พีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท พรรคก้าวไกล เสนอว่า ควรมีการศึกษาว่า ส.ข. ทำหน้าที่อย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพ ปัญหาของการไม่ชัดเจนของตำแหน่ง ส.ข. หากจะแก้ก็ควรจะมีการศึกษา หรือพูดคุยกันว่าประชุมแล้วได้อะไรบ้าง ไม่ใช่ประชุมเดือนละครั้งแล้วไม่มีอะไร เพราะส.ข.ทั้ง 50 เขต ใช้งบประมาณจำนวนมากในแต่ละเดือน ขอให้ได้ประโยชน์สูงสุด

ชัชชาติ -30FB-455B-8810-DFEE1B5499F1.jpegชัชชาติ สื่อ -C913-452D-97CE-41E42B13E759.jpeg

'ชัชชาติ'รับข้อเสนอสภากทม.แก้กฎหมายคืนเลือกตั้ง 'ส.ข.' ดึงร่างกฎหมายมาแก้ไขใหม่

ต่อมา ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์หลังมีการประชุมกับสภา กทม. ว่า ในส่วนของผู้ว่าฯ กทม. นั้น ก็ได้รับทราบในส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ซึ่งในที่ประชุม สมาชิกสภากทม. (ส.ก.) ส่วนใหญ่อยากให้มีตัวแทนประชาชนในระดับเส้นเลือดฝอยเพื่อดูแลทุกข์สุขของประชาชน 

ชัชชาติ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ของกรุงเทพมหานคร สมัยที่แล้วที่ได้นำส่งไปให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำลังอยู่ในชั้นพิจารณา โดยใจความสำคัญของร่างนั้นคือการยกเลิกการเลือกตั้ง ส.ข. ขณะที่ ส.ก.ที่มาจากการเลือกตั้งในวาระนี้ต้องการให้นำระบบ ส.ข.กลับคืนมา ซึ่งตามที่ได้รับทราบก็สามารถดึงกลับมาแก้ไขเพิ่มเติมได้ และในส่วนของหลักการนั้น ชัชชาติ ให้ความเห็นว่า ต้องคุยกับ ส.ก. เป็นหลัก ยิ่งมีตัวแทนประชาชนเยอะยิ่งดี 

ส่วนตัวมองเรื่องนี้ว่า หาก กทม. มี ส.ข. เข้ามาร่วมทำงานจะเป็นการกระจายอำนาจโดยตรง คนที่มาจากเสียงของประชาชน ไม่ใช่การถูกเลือกขึ้นมารับตำแหน่ง อีกทั้งร่าง พ.ร.บ.ชุดดังกล่าวที่ส่งไปที่ประชุมครม. ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภากทม.ชุดนี้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วย

ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงประเด็นเรื่องหนูที่ชุมชนแฟลตดินแดง 5 ที่เป็นกระแสในโลกออนไลน์นั้น ชัชชาติ กล่าวว่า รับทราบปัญหาแล้ว ตั้งแต่สมัยที่ลงพื้นที่พบประชาชนตามเขต มองว่าสิ่งสำคัญคือเรื่องการจัดการขยะในที่พักมีปัญหา จึงเป็นแหล่งสะสมขยะ และเชื้อโรค เป็นแหล่งอาหาร ของหนู และสัตว์อื่นๆมารวมตัวกัน เบื้องต้นนั้นทางกทม. จะร่วมหารือกับการเคหะแห่งชาติ เพื่อวางระบบจัดการขยะในที่พัก อาจจะต้องเพิ่มความถี่ในการจัดเก็บขยะให้มากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาหนูในเมืองกรุง 

รองโฆษกสภากทม. เผยลงมติงบฯ -ตั้งกมธ.7 ก.ค.

เวลา 14.00 น. ท่ี่อาคารไอราวัฒพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองโฆษกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) แถลงสรุปประเด็นการประชุมสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญสมัยที่ 3 (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2565 โดยมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต และชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมประชุม

ภัทราภรณ์ กล่าวว่า การประชุมสมาชิกสภากรุงเทพมหานครในครั้งนี้ มีสาระสำคัญได้แก่ ญัตติของ นภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย พรรคประชาธิปัตย์ เสนอแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2562 ให้พิจารณา 3 วาระรวด ซึ่งมติที่ประชุมให้ความเห็นชอบ 

ขณะที่อีกประเด็นที่สำคัญคือ การขอให้กรุงเทพมหานครเร่งรัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยน และถกเถียงถึงความสำคัญของการมี ส.ข. ซึ่ง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้รับเรื่องไปพิจารณาแล้ว 

ส่วนการประชุมในช่วงเวลา 13.00 น. หลังการพักการประชุม เป็นการอภิปรายในส่วนร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พ.ศ. .... โดยการเสนอประเด็นต่างๆ นั้น ก็ยังคงอยู่ในช่วงการแลกเปลี่ยนหารือของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 

ภัทราภรณ์ เสริมว่า การอภิปราย และประชุมหารือในสภากรุงเทพมหานครจะมีทั้งหมด 2 วัน คือวันนี้ (6 ก.ค.) และในวันพรุ่งนี้ (7 ก.ค.) สำหรับวันนี้คาดว่าจะประชุมแล้วเสร็จในเวลาประมาณ 21.00 น. 

ส่วนในวันพรุ่งนี้(7 ก.ค. 65) จะมีการลงมติเรื่องงบประมาณฯ และจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณฯ ปี 2566 โดยจะแจ้งให้ทราบในรายละเอียดอีกที และในวันนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ได้ทดลองระบบถ่ายทอดสดเพื่อให้ประชาชนได้เห็นภาพการทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ก็ได้เน้นย้ำสมาชิกให้มีการระมัดระวังในการอภิปราย เพราะยังไม่มีการคุ้มครองเอกสิทธิ์ 

ภัทราภรณ์ เน้นย้ำว่า การแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มครองเอกสิทธิ์นั้น คงต้องศึกษารายละเอียดต่อไป ส่วนภาพของการแบ่งเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายสนับสนุนนั้น คงไม่ปรากฏให้เห็นในสภากรุงเทพมหานคร เพราะเป็นการทำงานร่วมกันของฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อพี่น้องประชาชน