ไม่พบผลการค้นหา
สภาผู้แทนราษฎร เริ่มประชุมพิจารณาพระราชกำหนด 3 ฉบับ แบ่งเวลาฝ่ายละ 24 ชั่วโมง นายกรัฐมนตรี ขอสภาฯ เห็นชอบ พ.ร.ก. เพราะจำเป็นต่อการแก้ไขสถานการณ์ ย้ำโควิด-19 เศรษฐกิจกระทบทุกประเทศ ต้องเร่งแก้ไขด่วน

สภาผู้แทนราษฎร ประชุมนัดแรกรับทราบพระบรมราชโองการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญครั้งที่ 1 ประจำปี 2563 , รับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ประกาศแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คน ประกอบด้วย นายวรวิทย์ กังศศิเทียม เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายจิรนิติ หะวานนท์ นายนภดล เทพพิทักษ์ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ , รับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ประกาศแต่งตั้งนายนุรักษ์ มาประณีต เป็นองคมนตรี , รับทราบสถานภาพ ส.ส. จากพรรคอนาคตใหม่ เข้าสังกัดพรรคภูมิใจไทย 9 คน , เข้าสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน , เข้าสังกัดพรรคชาติพัฒนา 1 คน และเข้าสังกัดพรรคก้าวไกล 54 คน , และรับทราบกรณีนายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ ส.ส.ลำปาง พรรคเพื่อไทย ถึงแก่อนิจกรรม

ก่อนเข้าสู่การพิจารณาพระราชกำหนด 3 ฉบับ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงทำความเข้าใจกับสมาชิกถึงความความคืบหน้าจัดสร้างอาคารรัฐสภาฝั่งสภาผู้แทนราษฎร ยังมีบางส่วนไม่แล้วเสร็จ แต่สามารถประชุมได้แล้ว พร้อมกำชับฝ่ายเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรดูแลการก่อสร้างไม่ให้ต้องต่อสัญญาออกไปอีก พร้อมย้ำกับสมาชิกถึงการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ย้ำให้สมาชิกสวมหน้ากากตลอดเวลา ยกเว้นเฉพาะตอนอภิปราย ให้สมาชิกมีผู้ติดตามมาไม่เกิน 2 คน ผู้ชี้แจงให้มาเท่าที่จำเป็น และขอให้ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและสุจริต

มีเวลาอภิปรายฝ่ายละ 24 ชั่วโมง

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวต่อที่ประชุมถึงการหารือกันถึงกรอบเวลาการประชุมพิจารณาพระราชกำหนด 3 ฉบับ ตั้งแต่วันที่ 27 ถึง 31 พฤษภาคม โดยประชุมถึงเวลา 20.00 น.ทุกวัน โดยรัฐบาลมีเวลาอภิปราย 24 ชั่วโมง แบ่งเป็นคณะรัฐมนตรี 11 ชั่วโมง ส.ส.รัฐบาล 11 ชั่วโมง เผื่อเวลาอีก 2 ชั่วโมง และฝ่ายค้านอีก 24 ชั่วโมง หากฝ่ายใดประท้วงก็ให้หักเวลาฝ่ายนั้น ย้ำจะอภิปรายไปตามกฎเกณฑ์ ข้อบังคับการประชุม และวันที่ 31 พ.ค.เวลาประมาณ 15.00 น. จะลงมติพระราชกำหนด 3 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 และลงมติพระราชกำหนดการประชุมผ่ายสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ภายในเวลา 20.00 น. 

นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน โดยเสนอให้พิจารณาพระราชกำหนดทีละฉบับ หากสมาชิกจะอภิปรายเชื่อมโยงพระราชกำหนดฉบับอื่น ก็ให้อภิปรายได้โดยอนุโลม และขอให้ใช้วิธีการเลื่อนหรือพักการประชุม เพื่อจะได้ไม่ต้องเช็คองค์ประชุมในวันถัดไป โดยนายชวนให้ทั้ง 2 ฝ่าย ไปตกลงกันว่าจะรวมการอภิปรายหรืออภิปรายแยกรายฉบับ นายวิรัชจึงชี้แจงตามข้อบังคับว่าพระราชกำหนดทั้ง 3 ฉบับ เป็นเรื่องในทำนองเดียวกันและมีความเชื่อมโยงกัน จึงพิจารณาเรียงรายฉบับไม่ได้ จนนายสุทินชี้แจงว่าขอให้อนุโลมให้สมาชิกอภิปรายเชื่อมโยงพระราชกำหนดฉบับอื่นได้ ขณะที่นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พระราชกำหนด 3 ฉบับแรก มีความเกี่ยวเนื่องการแก้ปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงเสนอให้รวมพิจารณาพร้อมกันโดยแยกลงมติรายฉบับ

ประชุมสภา

นายกฯรัฐมนตรี ขอสภาฯ เห็นชอบ พ.ร.ก. เพราะจำเป็นต่อการแก้ไขสถานการณ์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-1เป็นโรคอุบัติใหม่ ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยมาตรการควบคุมระยะการแพร่ระบาดของรัฐบาลและประเทศอื่นๆ อาทิ มาตรการจำกัดพื้นที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด มาตรการระยะห่างทางสังคม ทำให้ภาวะทางเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดการชะงักงัน หดตัวลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว กระทบเศรษฐกิจไทยปี 2563 ไตรมาศแรกติดลบร้อยละ 1.8 โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุด จำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่กลางเดือนมกราคม จากมาตรการควบคุมการเดินทางของประเทศต่างๆ ส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 มีจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 6.69 ล้านคน ลดลงร้อยละ 38 จากไตรมาสที่ 1 ปีที่แล้ว ซึ่งสถานการณ์เริ่มระบาดหนักตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม ทำให้รัฐบาลมีความจำเป็นต้องปิดพื้นที่เพื่อลดการเคลื่อนย้ายคน และเว้นระยะห่างทางสังคม ปิดสถานประกอบการ ปิดสถานบริการ รวมถึงสนามบิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานของประชาชนในทุกสาขาอาชีพ กระทบรายได้ลดลงถึง 9.28 แสนล้านบาท คนว่างงานสูงขึ้นนับล้านคน โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ GDP ปี 2563 ติดลบที่ร้อยละ 5-6 คาดว่าไตรมาส 2 จะปรับตัวลดลงรุนแรงมากขึ้นกว่าไตรมาสแรก

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการใช้มาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้นตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. รัฐบาลพยายามทุกวิถีทางบริหารจัดการแหล่งเงินภายใต้กรอบงบประมาณที่มีอยู่ปัจจุบัน ทั้งการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจําปี 2563 งบกลางใช้จ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การปรับแผนใช้จ่ายงบประมาณ และการจัดทำแผนร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย 2563 แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อสถานการณ์แพร่ระบาดและช่วยเหลือเยียวยาประชาชน จึงจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องหยุดยั้งสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการสร้างความพร้อมด้านสาธารณสุขเพื่อรองรับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น การเยียวยาประชาชนเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมหลังสถานการณ์แพร่ระบาดสิ้นสุดลง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวประมาณการว่าต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วน 1 ล้านล้านบาท จึงไม่สามารถใช้งบประมาณตามวิธีงบประมาณปกติหรือกู้เงินตามระบบปกติได้ จำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยสาธารณะความมั่นคงทางเศรษฐกิจและป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ

ประยุทธ์ ประชุมสภา


ย้ำใช้งบประมาณคุ้มค่า-โปร่งใส

นายกรัฐมนตรี ยืนยันถึงการใช้งบประมาณโดยรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศ ความคุ้มค่าและความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินกู้ ซึ่งรัฐบาลกำหนดหลักการสำคัญสอดคล้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ให้กระทรวงการคลังโดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศวงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ไม่เกินวันที่ 30 ก.ย.2564 ใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ภายใต้แผนงานหรือโครงการตามบัญชีท้ายพระราชกำหนด 3 แผนงานหลักได้แก่ แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 วงเงิน 45,000 ล้านบาท , แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่ ได้รับผลกระทบ วงเงิน 555,000 ล้านบาท , และแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบ วงเงิน 400,000 ล้านบาท และกำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ทำหน้าที่กลั่นกรองแผนงานก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ กำกับดูแลการดำเนินโครงการ และรายงานความก้าวหน้าต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตามระเบียบที่ออกตามคำแนะนำของคณะกรรมการ และให้กระทรวงการคลังรายงานผลการกู้เงินนำเสนอต่อรัฐสภาภายใน 60 วัน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ

โควิดกระทบตลาดเงิน-ตลาดทุนทั่วโลก

นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า สถานการณ์แพร่ระบาดช่วงต้นปีมาถึงกลางปี เป็นการระบาดที่รุนแรงมากที่สุดในรอบ 100 ปี ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก จึงมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมระยะที่ 1 ระยะที่ 2 เป็นมาตรการช่วยบรรเทาภาระทางการเงินของประชาชน ทั้งพักชำระหนี้ให้ประชาชน มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการ ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ลดค่าน้ำค่าไฟ ขยายเวลาชำระค่าไฟ คืนเงินประกันค่าใช้ไฟฟ้า ชะลอการจ่ายภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการ และชดเชยรายได้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ

ยันจะกระจายให้ผู้ประกอบการรายเล็กอย่างทั่วถึง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การตรา พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ มีวัตถุประสงค์ด้านสาธารณสุข การเยียวยาประชาชน และผู้ประกอบการ เพื่อรักษาสภาพคล่อง โดย พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจหรือการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำซอฟโลน มีการกำหนดเพดานเงินกู้ ยืนยันว่าจะกระจายให้ผู้ประกอบการรายเล็กอย่างทั่วถึง และชี้ถึงความจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินในระบบเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังการแพร่ระบาด จึงต้องเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจให้กับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และสอดคล้องการเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ พร้อมย้ำว่าการกู้เงินวงเงิน 1 ล้านบาท กระทบสัดส่วนหนี้สาธารณะสัดส่วนร้อยละ 57.96 ไม่เกินกรอบบริหารหนี้สาธารณะที่ร้อยละ 60 จึงจะเน้นการกู้แหล่งเงินกู้ภายในประเทศเป็นหลัก กำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินกู้โดยกลไกจากคณะกรรมการกลั่นกรอง ต้องเป็นโครงการที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดเท่านั้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสภาผู้แทนราษฎรจะอนุมัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :