ไม่พบผลการค้นหา
นักเศรษฐศาสตร์ ชี้คนจนประเทศไทยเพิ่มขึ้นไม่ได้ลดลง ไม่เชื่อปีหน้ารัฐจะแก้ปัญหาได้เพราะยังมีช่องว่างความเหลื่อมล้ำและการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ ขณะที่สำนักงานสถิติเผยรายได้คนไทยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน

หลัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประกาศพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาความยากจนภายในปี 2561  

ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กแสดงความเห็นกรณี ดังกล่าวว่า ตามที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีประกาศจะทำให้คนจนหมดไปจากประเทศไทยในปีหน้า เห็นว่าข้อมูลล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้ว่าคนจนในประเทศไทยกลับเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ลดลง

จากการสำรวจความยากจน โดยเทียบกับเส้นความยากจนของ ที่ 2,920 บาท/คน/เดือนพบว่าในระหว่างปี 2558-2559 ประเทศไทยมีคนจนเพิ่มขึ้น 963,000 คน เกือบหนึ่งล้านคนจากเดิมมีจำนวนคนจน 4.847 ล้านคนในปี 2558 เพิ่มเป็น 5.810 ล้านคน ในปี 2559 (หรือเพิ่มขึ้น 20% จากจำนวนคนจนในปี 2558)

ในจำนวนคนจนที่เพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งล้านคน แยกเป็นคนจนในเมืองเพิ่มขึ้น 436,000 คน (หรือเพิ่มขึ้นถึง 24% ของจำนวนคนจนในเมืองในปี 2558) และคนจนในชนบทเพิ่มขึ้น 527,000 คน (หรือเพิ่มขึ้น 17% ของจำนวนคนจนในชนบทปี 2558)

ถ้ามองในแง่สัดส่วนความยากจน พบว่าสัดส่วนของคนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.21% (หรือมีคนจน 7 คน ในประชากร 100 คน) เป็น 8.61%

 ดร.เดชรัตน์ ระบุอีกว่า ในตลอดช่วงเวลา 30 ปี ภาวการณ์ที่ความยากจนเพิ่มขึ้นเกิดขึ้น 3 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2541-2543 ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น 5.5 ล้านคน ครั้งที่สองในปี 2551 ในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น 398,000 คน และครั้งที่สามก็คือครั้งนี้ ซึ่งมีจำนวนความยากจนเพิ่มขึ้นมากกว่าครั้งวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เสียอีก

การเพิ่มขึ้นของคนจนในครั้งนี้แตกต่างจาก 2 ครั้งแรก ตรงที่ 2 ครั้งแรกจะเกิดในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ (อัตราการเติบโตของ GDP ติดลบ) แต่ครั้งนี้กลับไม่ใช่ เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงเป็นบวกอยู่ แต่รายได้ของพี่น้องคนจนกลับลดลง

ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของคนจนในครั้งนี้จึงอาจจะไม่ใช่วิกฤตตามสถานการณ์ในวัฏจักรเศรษฐกิจ แต่น่าจะเป็นวิกฤตในเชิงโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำกันในสังคมมากกว่า

เช่น ในช่วงตั้งแต่ปี 2557-2560 ค่าจ้างที่แท้จริง (หักอัตราเงินเฟ้อออกแล้ว) ของพี่น้องแรงงานแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย และรายได้ที่แท้จริงของพี่น้องเกษตรกรยังคงต่ำกว่าปี 2556 แม้จะเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ประสบภัยแล้งเล็กน้อย ในขณะที่การส่งออกและการท่องเที่ยวกำลังเติบโตได้ดี

เมื่อวิกฤตเป็นวิกฤตในเชิงโครงสร้าง การเติมเงินให้คนจนโดยไม่ได้ช่วยให้โอกาสของพี่น้องคนจนมีมากขึ้น และไม่ได้ปรับโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำกันให้ลดน้อยลง เช่น ความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สิน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ก็คงยากที่จะทำให้คนจนลดจำนวนลงอย่างที่ประกาศไว้

ความยากจนอยู่ที่ความเหลื่อมล้ำ ไม่เชื่อว่ารัฐจะทำให้หมดไปได้

เช่นเดียวกับ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ภัทร กล่าวว่า ความยากจนตามคำนิยามของธนาคารโลกที่ระบุถึงผู้ที่มีรายได้น้อยไม่กี่ดอลลาร์ และ อดยากไม่มีอาหารกิน เช่นเดียวกับคนแอฟริกา สำหรับประเทศไทยคงไม่มีแล้ว หรืออาจจะมีแต่ไม่มากนัก เพราะปัญหาความยากจนของคนไทยคือเรื่องของช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำของรายได้ การเข้าถึงการศึกษา หรือการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐมากกว่าปัญหาอื่น

ส่วนที่รองนายกรัฐมนตรี ปีหน้าประกาศว่าจะไม่มีคนจนในประเทศ เห็นว่าน่าจะเป็นเรื่องของ การขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นรัฐสวัสดิการให้กับกลุ่มคนจนให้ตรงเป้าหมายและมีประสิทธิภาพมากขึ้นมากกว่าจะหมายถึงการทำให้คนจนหมดประเทศไทยในความหมายอื่น

“ผมคิดว่าท่านรองสมคิด คงไม่ได้หมายถึงทำให้คนจนหมดไปทั้งประเทศ เพราะรู้อยู่แล้วว่ามีคนจนมาขึ้นทะเบียน12 ล้านคน แต่คงหมายถึงการจัดสวัสดิการให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นเพราะการทำให้คนจนหมดไปคงทำไม่ได้ หรืออาจไม่มีคนทำได้” 

อย่างไรก็ตาม ดร.พิพัฒน์ เห็นว่า การจัดรัฐสวัสดิการให้คนจนที่ผ่านมายังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก โดยส่วนใหญ่ยังเป็นการให้ โดยไม่มีแรงจูงใจให้กลับมาทำงานใหม่อีกรอบ ดังนั้นการจัดรัฐสวัสดิการควรจะมีการเพิ่มแรงจูงให้กลับสู่การทำงานได้ด้วย


รายได้คนไทยสูงขึ้น แต่ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีช่องว่าทางรายได้สูง

ด้าน นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า การสำรวจรายได้ของครัวเรือน ของคนไทยใน6 เดือนแรกระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.60 เพิ่มขึ้นโดยมีค่าเฉลี่ยรายได้เดือนละ 26,973 ต่อครัวเรือน 

ส่วนค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 21,897 บาทต่อครัวเรือน ทำให้แต่ละครัวเรือนจะมีเงินเหลือประมาณ 4,000 บาท ขณะที่หนี้สินเฉลี่ย ม.ค.-มิ.ย. 60 จำนวน 177,128 บาทต่อครัวเรือน   

“แต่อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าความเหลื่อมล้ำของรายได้ยังมีช่องว่างสูงมาก โดยมีคนที่มีรายได้มากและรายน้อยห่างกันค่อนข้าง”

ส่วนกรณีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประกาศพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาความยากจนภายในปี 2561 นั้น  

นายภุชพงค์ กล่าวว่า หากคำนวณ จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นเดือนละ 26,973 9 ต่อครัวเรือนทำให้ค่าเฉลี่ยรายได้ทั้งปี 2 แสนบาท ต่อครัวเรือน ซึ่งเกินกว่าเส้นความยากจนจากการขึ้นทะเบียนคนจนของกระทรวงการคลังที่กำหนดเอาไว้ที่ 1 แสนบาท  

หากรัฐบาลไม่ขยับเส้นความยากจนเพิ่มตามรายได้ที่เพิ่ม ก็จะถือว่าประเทศไทยมีประชาชนที่อยู่เหนือเส้นความยากจนมากขึ้นแต่หากขยับตามไปที่ 2 แสนบาท ต่อครัวเรือนก็จะยังมีคนจนอยู่เช่นเดิม

นายภุชพงศ์ กล่าวว่า  ความยากจนอาจจะขึ้นกับนิยามว่ากำหนดความหมายเอาไว้อย่างไรบ้าง แต่หากหมายถึงเรื่องรายได้ในแต่ละปีรายได้เฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้น แต่ยังห่างไกลจากรายได้ที่เป็นเส้นความยากจนของประเทศพัฒนาแล้ว