ไม่พบผลการค้นหา
กูเกิลและเทมาเส็ก เผยงานวิจัยด้านเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ต พบอาเซียนและไทยมีโอกาสเติบโตอีกมาก แนะรัฐบาลลงทุนพัฒนาทักษะบุคลากรให้เหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจดิจิทัล

นายเบน คิง หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ กูเกิล ประเทศไทย เปิดเผยว่า ระบบนิเวศดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยรายงานการวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกูเกิลและเทมาเส็กครั้งล่าสุด คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีสัดส่วนมูลค่าเท่ากับ 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐของจีดีพีรวมของภูมิภาค หรือประมาณ 7.8 ล้านล้านบาท ภายในปีพ.ศ.2568 ซึ่งประเทศไทยมีส่วนช่วยในการเติบโตอย่างมหาศาลของภูมิภาคนี้ โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ในปี พ.ศ. 2568 เติบโตขึ้นถึง 7 เท่าจากปี พ.ศ. 2558 และทำให้ประเทศไทยเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

การเติบโตแบบก้าวกระโดดของเศรษฐกิจดิจิทัล มีตัวเร่งการเติบโตสำคัญก็คือการเพิ่มขึ้นของผู้บริโภคที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

ปัจจุบันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 350 ล้านคน ในขณะที่จำนวนผู้บริโภคที่ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นหลักมีขนาดใหญ่กว่าประชากรทั้งหมดของสหรัฐอเมริกาซึ่งพวกเขาไม่เพียงแต่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเท่านั้นแต่ยังมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆบนโลกออนไลน์อีกด้วย

โดยข้อมูลพบว่า ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เวลาค้นหาข้อมูล รับชมวิดีโอ และซื้อสินค้าบนอินเทอร์เน็ตผ่านทางโทรศัพท์มือถือมากกว่าชาวอเมริกัน ยุโรป หรือญี่ปุ่น และพวกเขาก็กำลังหันมาใช้บริการทางออนไลน์มากขึ้น จำนวนผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ซื้อสินค้าที่จับต้องได้ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากที่มีน้อยกว่า 50 ล้านคนในปี พ.ศ. 2558 เป็น 120 ล้านคนในปี พ.ศ. 2561 และในช่วงเวลาเดียวกันผู้ใช้บริการร่วมเดินทาง (Ride-Hailing) ได้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 4 เท่า จาก 8 ล้านคน เป็น 35 ล้านคน

อาเซียนกับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล

ผู้บริหารกูเกิล กล่าวว่า อาเซียนกำลังสร้างบริษัทชั้นนำในระบบนิเวศดิจิทัลด้วยธุรกิจท้องถิ่น เป็นผู้ครองตลาดอีคอมเมิร์ซซึ่งเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล การซื้อสินค้าทางแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Lazada, Shopee และ Tokopedia คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 70 ของการซื้อสินค้าออนไลน์ในปี พ.ศ. 2561 ซึ่งมีมูลค่าถึง 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ 7.5 แสนล้านบาท นอกจากนี้ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีการใช้บริการร่วมเดินทาง (Ride-Hailing) มากถึง 8 ล้านเที่ยวต่อวัน โดยส่วนใหญ่ใช้บริการผ่านแอปพลิเคชัน โกเจ็ก และ แกร็บ

ข้อมูลระบุว่า เชิงมูลค่าไทยครองอันดับ 2 ของภูมิภาครองจากอินโดนีเซียที่มีมูลค่า 1.22 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนเชิงการเติบโตเทียบระหว่างปี 2558-2561 สูงเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคที่ 49% รองจากอินโดโนเซียที่เติบโตมากถึง 94% และเวียดนาม 87% ตามลำดับ กูเกิลคาดการณ์ไว้ด้วยว่าระหว่างปี 2558-2568 อีคอมเมิร์ซไทยจะเติบโตเฉลี่ย 30% ปี 2568 มูลค่าแตะ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์

ทั้งนี้สื่อออนไลน์ทั้งโฆษณา เกม บริการติดตามเพลงและวีดิโอกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในไทย ปัจจุบันมีมูลค่าตลาด 2.4 พันล้านดอลลาร์ เติบโตเฉลี่ยต่อปี 44% และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2568

สำหรับ บริการร่วมเดินทาง(Ride Hailing) ในไทยปี 2561 มีมูลค่าตลาด 700 ล้านดอลลาร์ เติบโตเฉลี่ยต่อปี 22% นับตั้งแต่ปี 2558 และจะขยายตัวไปที่ 4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2568

ด้านตลาดท่องเที่ยวออนไลน์อินโดนีเซียเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดด้วยมูลค่า 8.6 พันล้านดอลลาร์ รองลงมาคือไทย 6.1 พันล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยสิงคโปร์ 5.5 พันล้านดอลลาร์ แต่ทั้งนี้ ไทยถือได้ว่าเป็นตลาดที่อิ่มตัวมากที่สุด แม้อยู่อันดับที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ระหว่างปี 2558-2568 จะมีอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุดที่ 18% แม้ว่าจะมีขนาดใหญ่อยู่แล้วก็ตาม ส่วนอินโดนีเซียซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดคาดว่าจะโตเฉลี่ย 17%

ลาซาด้า จัดโปรกระตุ้นยอดขายเฟอร์นิเจอร์

นายเบน คิง ระบุว่า การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเติบโตของผู้ประกอบการในภูมิภาคนี้ด้วย โดยปัจจุบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น (สตาร์ทอัพที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท) ทั้งหมด 9 ราย ซึ่งมากกว่าในประเทศอื่นๆ ยกเว้น จีน อินเดีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

เฉพาะครึ่งปีแรกของปีนี้ธุรกิจสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถระดมทุนได้มากถึง 9.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประมาณ 2.9 แสนล้านบาท ซึ่งสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนส่วนใหญ่เป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น แต่โดยรวมแล้วระบบนิเวศสตาร์ทอัพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก โดยประมาณ 1 ใน 3 ของเงินทุนที่ระดมได้จำนวน 2.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 7.8 แสนล้านบาท ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ได้กระจายไปยังบริษัทเทคโนโลยีรายเล็กมากกว่า 2,000 บริษัท

บริษัทเหล่านี้ต้องการกลยุทธ์ระดับภูมิภาคเพื่อตระหนักถึงประโยชน์สูงสุดจากการมีส่วนร่วมในระบบนิเวศดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยข้อยกเว้นของอินโดนีเซีย เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้จึงไม่ใหญ่พอที่จะกลายเป็นผู้นำระดับโลกในอนาคตได้ อย่างไรก็ตามเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงเทียบเท่ากับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ทางรัฐบาลไทยเองก็ควรสนับสนุนการขยายตัวของบริษัทเทคโนโลยีไทยในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากระบบนิเวศดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องอาจกลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งการพัฒนาธุรกิจและการสร้างงาน

อุปสรรคของการขยายตัวในระดับภูมิภาค

เขากล่าวว่า บริษัทยังคงเผชิญกับอุปสรรคหลายประการในการพยายามขยายธุรกิจในระดับภูมิภาค โดยอุปสรรคหลักๆ คือการขาดความสามารถในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและทำงานร่วมกันระหว่างระบบ (interoperability) และมาตรฐานที่สอดคล้องกัน บริษัทเทคโนโลยีต้องฝ่าด่านเขาวงกตของระเบียบข้อบังคับแห่งชาติกว่า 10 รายการที่แตกต่างกันในประเด็นต่างๆ เช่น การจัดเก็บข้อมูลและการค้าข้ามพรมแดน นอกจากนี้การกระจายตัวของโซลูชันการชำระเงินระดับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ที่ยังคงเป็นการใช้เงินสดทำให้เกิดแรงเสียดทานและค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมต่างๆ

สำหรับภาคเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งหมดระบบการชำระเงินแบบดิจิทัลที่เป็นระบบเปิดและสามารถทำงานร่วมกันได้และการไหลเวียนอย่างอิสระของข้อมูลภายในภูมิภาคจะช่วยให้ผู้บริโภคและธุรกิจในประเทศไทยสามารถทำธุรกรรมข้ามพรมแดนได้อย่างราบรื่นและจะทำให้เกิดการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของกลุ่มคนชั้นกลางซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยมีบัตรเครดิตมาก่อน

อุปสรรคอีกประการหนึ่งมาจากความหลากหลายของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือผู้คนในภูมิภาคนี้อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงและมีความหลากหลายในเรื่องของการใช้ภาษา การจ้างงานบุคลากรในท้องถิ่นที่มีความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นและทักษะที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ

รายงานการวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี พ.ศ. 2561 ชี้ว่ากำลังคนที่มีทักษะด้านดิจิทัลในภูมิภาคต้องขยายตัวเพิ่มขึ้นปีละร้อยละ 10 เพื่อช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในท้องถิ่น

นอกจากนี้รัฐบาลจำเป็นต้องลงทุนในการฝึกอบรมประชาชนให้มีทักษะที่เหมาะสมสำหรับระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจต่างๆ มีบุคคลากรที่เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ท้องถิ่น นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ และนักวิเคราะห์ข้อมูลกูเกิลมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยพัฒนาบุคคลที่มีความสามารถในทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะจัดการฝึกอบรมด้านทักษะดิจิทัลให้กับพนักงานเอสเอ็มอี 3 ล้านคนใน 10 ประเทศอาเซียน ภายในปี พ.ศ. 2563

ทั้งนี้ปัจจุบันเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 2.7 ของจีดีพีของประเทศ ซึ่งต่ำกว่าประเทศอื่นๆ เช่น จีนและสหรัฐอเมริกา