ไม่พบผลการค้นหา
ในรอบสัปดาห์นี้ ข่าวที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในยุโรป คือ การแต่งตั้งทหารหญิงขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของประเทศสโลวีเนีย

นอกจากจะเป็นสตรีคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้ในประเทศของตน เธอยังเป็นสตรีคนแรกที่ได้เป็นผู้บัญชาการทหารบกของประเทศสมาชิกแห่งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต (North Atlantic Treaty Organization หรือ NATO) และยังเป็นผู้บัญชาการทหารบกที่เป็นสตรีคนแรกของโลกอีกด้วย 

ทหารหญิงผู้นี้ คือ พลเอกหญิง อเลนก้า เออร์เมนซ์ (Alenka Ermenc) ซึ่งได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของประเทศสโลวีเนีย เมื่อวันพุธที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 2018

พลเอกหญิง อเลนก้า เออร์เมนซ์ ปัจจุบันอายุ 55 ปี มีสามีเป็นพลเรือน และมีบุตรธิดา 3 คน  เธอเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1963 ที่กรุงลูบลิยานา ในยุคที่ดินแดนสโลวีเนียยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐยูโกสลาเวีย ซึ่งเคยเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ที่สำคัญในภูมิภาคยุโรปตะวันออก ก่อนจะล่มสลายและแตกออกเป็นประเทศเล็กประเทศน้อยในปี ค.ศ.1991  เธอสอบได้ทุนรัฐบาลยูโกสลาเวียไปเรียนที่รอยัลคอลเลจออฟดีเฟนซ์ หรือ ราชวิทยาลัยการป้องกันประเทศ แห่งอังกฤษ แล้วจบปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยลอนดอน เมื่อจบการศึกษา เธอกลับไปรับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนในกรุงเบลเกรด เมืองหลวงของยูโกสลาเวีย

แต่เมื่อถึงปี ค.ศ. 1991 เกิดสงครามที่สโลวีเนียเรียกร้องเอกราชจากยูโกสลาเวีย เธอลาออกจากราชการ และได้อาสาเป็นทหารหญิงในกองกำลังปกป้องมาตุภูมิแห่งสโลวีเนีย เธอได้แสดงความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวในการสู้รบ ความเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ทางยุทธศาสตร์ และความเป็นผู้นำ ทำให้ได้รับการยอมรับจากทหารชายที่เป็นสหายศึกในกองกำลัง จนได้รับฉายาว่าเป็น “วีรสตรีแห่งสโลวีเนีย” ดังนั้น หลังจากที่สโลวีเนียประกาศเอกราชได้สำเร็จและสถาปนาประเทศสโลวีเนีย เธอจึงได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติหลายเหรียญ และได้รับการยกย่องอย่างมาก

ชีวิตราชการของเธอไม่เคยติดขัด เพราะสโลวีเนียปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าและราบรื่น ไม่มีการผูกขาดอำนาจไว้ที่คณะผู้ปกครองคณะใด ดังนั้นการปูนบำเหน็จและเลื่อนขั้นข้าราชการจึงเป็นไปตามครรลองที่ควร คือตามผลงานที่ปรากฏ ไม่มีการดึงการถ่วงว่าเป็นพวกใครเส้นใคร

ปรากฏการณ์ที่สตรีได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงในกองทัพ กำลังเป็นแนวโน้มใหม่ของโลกประชาธิปไตย

ก่อนหน้านี้ ในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ.2014 มีการแต่งตั้งพลเรือเอกหญิง มิเชลล์ จี. ฮาวเวิร์ด (Michelle J. Howard) เป็นรองผู้บัญชาการฝ่ายปฏิบัติการของกองทัพเรือ และล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.2018 มีการแต่งตั้ง พลโทหญิงลอร่า เจ. ริชาร์ดสัน (Laura J. Richardson) เป็นผู้บัญชาการของหน่วยบัญชาการกำลังรบกองทัพบกของอเมริกา (The United States Army Force Command  หรือ FORSCOM) ซึ่งเป็นหน่วยรบของกองทัพบกอเมริกา ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ควบคุมบังคับบัญชากำลังพลที่เป็นทหารมากถึง 776,000 นาย และเจ้าหน้าที่ที่เป็นพลเรือนมากถึง 96,000 คน

ส่วนในยุโรป หรือ กล่าวในเจาะจงลงไปที่บรรดาชาติสมาชิกนาโต แม้จะเพิ่งมีการแต่งตั้งพลเอกหญิง อเลนก้า เออร์เมนซ์ เป็นสตรีคนแรกที่ได้เป็นผู้บัญชาการทหารบกของประเทศสมาชิกนาโต แต่ก่อนหน้านี้ก็ได้มีสตรีเป็นรัฐมนตรีกลาโหมในหลายประเทศ ได้แก่ ฟินแลนด์ สวีเดน แคนาดา นอร์เวย์ ฝรั่งเศส โครเอเชีย สโลเวเนีย เดนมาร์ก มอนเตเนโก เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน เชค อิตาลี และ สเปน

เหตุที่ ประเทศสมาชิกนาโตเหล่านี้ให้สตรีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม ก็เพราะ ต้องการแสดงออกถึงการยึดมั่นในการเคารพความเสมอภาคระหว่างเพศ การแสดงออกถึงการเคารพสิทธิสตรี และเชื่อว่าสตรีมีความประนีประนอมมากกว่าเมื่อเกิดความขัดแย้ง ทำให้เกิดสงครามได้ยากกว่า นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าสตรีสามารถดูแลสวัสดิการของกำลังพลในกองทัพได้อย่างละเอียดรอบคอบ

จะเห็นได้ว่า ในประเทศที่ประชาธิปไตยก้าวหน้า สตรีสามารถก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และดำรงตำแหน่งสำคัญได้เช่นเดียวกับบุรุษ