ไม่พบผลการค้นหา
เวทีเสวนาประชาชน-ศาล-ทหาร-รัฏฐาธิปัตย์ ชี้การรัฐประหารเป็นสิ่งไม่ชอบธรรม ยกเกาหลีใต้ - ตุรกี ลงโทษผู้นำยึดอำนาจได้ ขณะที่แกนนำพรรคเพื่อไทย ชี้ศาลให้การรับรองรัฐประหารทำให้ยุติวงจรยึดอำนาจไม่ได้

กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) จัดเสวนาประชาชน-ศาล-ทหาร-รัฏฐาธิปัตย์ หลังศาลฎีกามีคำพิพากษาตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ยกฟ้อง คสช.ที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับเป็นโจทก์ในข้อหาร่วมกันเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ที่ คสช.ร่างขึ้นใหม่ มีบทบัญญัติยกเว้นโทษการทำรัฐประหารและการใช้อำนาจต่อจากนั้นไว้แล้ว

โดย นายอานนท์ นำภา ทนายความกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ซึ่งเป็นโจทก์ที่ยื่นฟ้อง คสช. ระบุว่า ศาลขั้นต้นยอมรับว่า คสช.ได้อำนาจมาโดยมิชอบตามระบอบประชาธิปไตยแต่รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวนิรโทษกรรมให้แล้ว ขณะที่เหตุผลศาลฎีกาที่ยกฟ้อง ได้รับรองอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ของ คสช.ว่าเข้ามาใช้อำนาจแทนประชาชนหลังจากรัฐประหารและไม่มีรัฐสภาแล้ว พร้อมยืนยันว่า หากย้อนเวลาได้หรือในอนาคต ก็จะยื่นฟ้องคณะรัฐประหารอีก เพื่อทำหน้าที่ฐานะพลเมืองและเป็นการชี้ว่าการยึดอำนาจเป็นสิ่งไม่ชอบธรรมและควรมีความผิดด้วย

อนาคตใหม่ ชี้ คสช.อำนาจสูงสุดแต่โยนศาลตีความ

ด้าน นายชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และอดีตประธานแอมเนสตี้ ประเทศไทย ให้ข่อมูลว่า ในต่างประเทศ อย่างเกาหลีใต้และตุรกีล่าสุด สามารถเอาผิดหรือนำคณะรัฐประหารมาลงโทษได้ โดยที่เกาหลีใต้ใช้เวลา 20 ปีในการรื้อคดีเอาผิดผู้ก่อรัฐประหาร ส่วนในตุรกี ผู้ก่อรัฐประหารก็ถูกลงโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิตเช่นกัน 

นายชำนาญ ระบุว่า กรณีพลเมืองโต้กลับยื่นฟ้อง คสช.ในไทยนั้น แม้ศาลจะยกฟ้อง แต่ในทางการเมืองถือว่าประชาชนประสบความสำเร็จ พร้อมยืนยันว่า ปัจจุบันนานาอารยประเทศจะไม่ถือว่า กฎหมายคือคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ที่กำหนดมาให้คนในรัฐปฏิบัติตาม แต่ถือว่ากฎหมายคือการยินยอมพร้อมใจของคนในรัฐในการออกกติกาการอยู่ร่วมกันเพื่อความสงบสุขในสังคม 

โดยที่ผ่านมา ศาลไทยเลี่ยงคำว่า รัฏฐาธิปัตย์กับคณะรัฐประหาร แต่จะอ้างตัวบทกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญละเว้นโทษแทน ต่างจากครั้งนี้ เพราะรัฏฐาธิปัตย์ หมายถึงผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ ขณะที่ คสช.และสภาแต่งตั้งเอง ออกกฎหมายมาอีกหลายฉบับ ยังต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จึงย้อนแย้งว่า หาก คสช.มีอำนาจสูงสุดไม่อยู่ใต้อำนาจใคร ก็ไม่ควรให้ศาลใดตีความการใช้อำนาจ

'พงศ์เทพ' สับรัฐประหารทำประเทศถอยหลัง แนะศาลไม่รับยึดอำนาจ

ขณะที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรคเพื่อไทยและอดีตผู้พิพากษา ระบุว่า ประเทศไทยมีรัฐประหารทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จหลายครั้งและล้วนทำให้ประเทศถอยหลังจากวงจรอุบาทว์นี้ ดังนั้นหากศาลไม่รับรองการรัฐประหารก็ยุติวงจรอุบาทว์นี้ได้ 

นายพงศ์เทพ ยังยกตัวอย่างในปี 2496 ซึ่งมีการฟ้องให้ปลด รมว.คลัง แต่ศาลยกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า รมว.คลังสมัยนั้นได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร และรับรองความชอบธรรมในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ จึงไม่สามารถปลดได้ และหลังจากตัดสินคดีไม่นาน 1 ใน 3 ผู้พิพากษาก็ได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารสมัยนั้นให้ดำรงตำแหน่งเป็น รมว.ยุติธรรม จึงสะท้อนความสัมพันธ์ของคณะรัฐประหารกับวงการศาลตลอดมาได้เป็นอย่างดี

อีกทั้งคำวินิจฉัยส่วนตนของนายกีรติ กาญจนรินทร์ ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยจากทั้งหมด 9 คนในคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟ้องนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต ส.ส.พรรคพลังประชาชนว่า จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จจนต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง ที่ย้ำว่า "ศาลควรมีบทบาทในการพิทักษ์ความชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงพันธกรณีในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบและพันธกรณีในการปกปักรักษาประชาธิปไตยด้วย" 

คำวินิจฉัยของนายกีรติ ว่า “หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักษ์รักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป"

นายพงศ์เทพ ย้ำวา หากผู้พิพากษาทั้งหลายกล้าหาญและเถรตรงเช่นนายกีรติ ก็จะไม่มีใครกล้าก่อรัฐประหารอีกในอนาคต

ส่วน นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม24มิถุนาประชาธิปไตย ระบุว่า ระบบยุติธรรมไทย เกี่ยวกับการขอประกันตัวสู้คดีสำหรับ คดีหมิ่นเบื้องสถาบันมาตรา 112 แต่ศาลไม่อนุญาตด้วยเหตุผลว่าเป็นคดีร้ายแรงและผู้ต้องหาอาจหลบหนี ทั้งที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริง จึงสะท้อนการเลือกปฏิบัติ ทั้งเป็นการมัดมือชกและเหมือนมีการตัดสินคดีไว้แล้วเมื่อเทียบกับหลายคดี ซึ่งปัญหาเกิดจากการให้ศาลใช้ดุลพินิจ ในระบบกล่าวหาของกระบวนการยุติธรรม ที่ศาลจะเป็นผู้ชั่งเองว่า จะให้น้ำหนักฝ่ายไหน จึงง่ายต่อการบิดเบือนและคลาดเคลื่อนในการอำนวยความยุติธรรม