ไม่พบผลการค้นหา
ประธานสหภาพแรงงานแบงก์ไทยพาณิชย์ออกแถลงการณ์เรียกร้องผู้บริหารระดับสูงรับผิดชอบกรณีสร้างความกังวลต่อรายได้ของพนักงานระดับล่าง ด้่านผู้บริหารบอกปรับโครงสร้างผ่านไป 1 ปี พนักงานมีผลตอบรับที่ดี

นายไวทิต ศิริสุวรรณ ประธานสหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์ โพสต์ในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2561 ระบุว่า เตรียมจะออกแกลงการณ์ เพื่อเรียกร้องให้ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารออกมารับผิดชอบ กรณีที่ทำให้เกิดวิกฤตแก่รายได้ของพนักงานระดับล่าง และพนักงานกลุ่มงานอื่นๆ หลังจากมีนโยบายแยกกลุ่มงานขายกับบริการออกจากกันชัดเจน นอกจากนี้ยังกำหนดเป้าหมายการทำงานของเขตพื้นที่ไม่คำนึงถึงสถานการณ์จริง ทั้งที่ผลประกอบการแบงก์ไตรมาสแรกปีนี้หดตัวร้อยละ 4.6 นัดชุมนุมสมาชิก 15 มิ.ย.นี้

แถลงการณ์สหภาพ SCB.jpg

พร้อมกับออกแถลงการณ์ เรื่อง 'วิกฤตพนักงานสาขา เขตพื้นที่ฯ รับนโยบายรับเป้าทำแผนฯ..." ระบุบางช่วงบางตอนว่า พนักงานสาขานอกจากปิดสาขาแล้ว ยังต้องรับแรงกดดันจากนโยบายผู้บริหารให้ผู้จัดการเขตพื้นที่ทุกเขตพื้นที่ดำเนินการจัดทำแผนกำหนดเป้าหมายของเขตพื้นที่ และสาขาภายใต้สังกัด กำหนดตัวเลขเป้าหมายในทุกผลิตภัณฑ์ธนาคาร เนื่องจากผลประกอบการของธนาคารลดลงอย่างต่อเนื่อง 

ขณะที่ ยอดหนี้เสียพุ่งกระฉูด ธนาคารต้องหาเม็ดเงินหว่านลงไปกลบภาวการณ์ดังกล่าวในหลายโครงการ และจะมีแผนงานดังกล่าวในวันที่ 1 ก.ค. นี้ 

"วิกฤตครั้งนี้ มีผลกระทบกับพนักงานทุกคนโดยตรง โดยเฉพาะพนักงานสาขาหนักหนาสาหัสที่สุดเท่าที่เคยเกิดการเปลี่ยนแปลง นอกเหนือจากนั้น ยังมีข่าวการจัดตั้งกลุ่มงานใหม่เพิ่มขึ้น ในชื่อ High Biz เพื่อแข่งขันกับกลุ่มงานอื่นๆ" 

"สิ่งที่สหภาพฯ ต้องการคือ ยกเลิกมาตรการนี้ หรือต้องไม่กำหนดเป้าหมายเป็น KPIs (ตัวชี้วัดสมรรถนะการทำงาน) ของสาขา อีกทั้งต้องให้ผลตอบแทนเช่นเดียวกับ sale (ฝ่ายขาย) เท่านั้น หากไม่ สหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์จะนัดชุมนุมแสดงพลังในเร็ววันนี้" แถลงการณ์จากสหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุ

'วอยซ์ ออนไลน์' ได้สอบถามกับนายไวทิตถึงกระแสข่าวนัดชุมนุมสมาชิกในวันที่ 15 มิ.ย. นี้ ซึ่งนายไวทิต ระบุว่า เนื่องจากวันที่ 15 มิ.ย. จะมีการประชุมของผู้จัดการเขตพื้นที่ที่สำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ รัชโยธิน ดังนั้น จึงต้องการแสดงพลังให้ผู้บริหารทราบถึงความกังวลและความเดือดร้อน โดยยืนยันว่า ปัจจุบันพนักงานสายงานบริการที่สาขาแต่ละแห่งทำงานหนักไม่แพ้ฝ่ายขายอยู่แล้ว แต่วิธีการแยกการบริหารและกำหนด KPIs ปัจจุบันเป็นการซ้ำเติมพนักงาน 

"ไตรมาสแรกที่ผ่านมา กำไรธนาคารลดลง และเราก็มีผลประกอบการลดลงมาเรื่อย แม้เราจะเป็นธนาคารที่มีกำไรสูงสุดในอุตสาหกรรม แต่เราก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการแก้ปัญหากำไรลดลงด้วยการกำหนดและแยกการทำงานระหว่างฝ่ายขายกับฝ่ายบริการ แม้พนักงานกว่าร้อยละ 60 จะเป็นคนของฝ่ายขาย และอีกร้อยละ 40 เป็นพนักงานสาขาก็ตาม แต่ทุกวันนี้ เขาก็ต้องบริการลูกค้า ออกไปชักชวนนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น พร้อมเพย์ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าไม่ต้องเสียเงิน แต่เป็นของใหม่ให้ลูกค้ารู้จัก เป็นต้น"นายไวทิต กล่าว

ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปีนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 11,364 ล้านบาท หดตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.6 เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านไอที ขณะที่อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL อยู่ที่ร้อยละ 2.77 จากร้อยละ 2.83 ณ สิ้นปี 2560 โดยธนาคารได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 5,012 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.98 ของสินเชื่อรวม 

ฝ่ายบริหารยืนยันการแบ่งกลุ่มพนักงานเพื่อตอบรับโจทย์ธุรกิจในยุคโลกเปลี่ยนเร็ว

ด้านนางพรรณพร คงยิ่งยง รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief People Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยกับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่า การประชุมวันนี้ (15 มิ.ย.) เป็นการประชุมแผนงานของธนาคารระยะครึ่งปี โดยเชิญผู้จัดการเขตพื้นที่มารับฟัง ซึ่งเป็นการประชุมปกติในองค์กร ส่วนนโยบายการจัดสรรทรัพยากรบุคคลในสาขาต่างๆ ของธนาคาร โดยแยกพนักงานฝ่ายขาย (sell) กับพนักงานฝ่ายบริการ (service) มีเหตุผลคือเพื่อให้พนักงานสามารถดูแลลูกค้าได้เพิ่มขึ้น มีโฟกัสมากขึ้น และเป็นทักษะเฉพาะทาง ซึ่งเป็นการเพิ่มทักษะและสร้างคุณค่าให้แก่พนักงานไปในตัว

"กระบวนการจัดสรรทรัพยากรบุคคลที่เราทำตอนนี้ เป็นเส้นทางเพื่อรองรับธุรกิจธนาคารในอนาคต เราต้องเตรียมคนรับกับโลกที่เปลี่ยนไป เพราะเราอยากเห็นคนของเราเก่งขึ้นไปเรื่อยๆ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานและลูกค้าได้ ซึ่งเราทำแผนงานนี้มาได้ 1 ปีครึ่งแล้ว เราไม่ได้ลงทุนแค่ด้านเทคโนโลยี แต่เราลงทุนเรื่องคน เพื่อให้คนของเราฝ่ากระแสของการเปลี่ยนแปลงไปได้ และเป็นทักษะติดตัวของเขา ไม่ว่าในอนาคตเขาจะทำงานกับไทยพาณิชย์หรือไม่" นางพรรณพร กล่าว

อีกทั้ง ในยุคที่ลูกค้าใช้บริการผ่านโมบายแบงก์กิ้ง อินเทอร์เนตแบงก์กิ้งเพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกรรมที่ทำผ่านสาขาลดลง ธนาคารก็จำเป็นต้องพัฒนาทักษะของพนักงานไปทำในงานที่จะตอบโจทย์ของโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไป ดังนั้นตัวชี้วัดเป้าหมายความสำเร็จ หรือ KPIs ของสาขา จึงแบ่งเป็นฝ่ายขายที่มีของฝ่ายขาย กับฝ่ายบริการก็มีของฝ่ายบริการเอง 

"หลังจากดำเนินการผ่านมา 1 ปีครึ่ง พบว่า พนักงานมีผลตอบรับที่ดี เพราะทำให้พนักงานมีโฟกัสมากขึ้น อย่างพนักงานขายก็ได้มีเวลาดูแลลูกค้า ได้พัฒนาทักษะ ส่วนพนักงานสาขา ซึ่งเป็นฝ่ายบริการ เขาก็สามารถดูแลลูกค้าที่เดินเข้ามาในธนาคารได้เพิ่มขึ้น สะดวกขึ้น และเขาก็สามารถให้บริการลูกค้าได้ชัดและเป็นประโยชน์กับลูกค้า เช่น ถ้ามีลูกค้าเดินเข้ามาที่สาขาขอเปิดบัตรเดบิต พนักงานสาขาด้านบริการก็สามารถดูแลลูกค้าได้ แต่ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนขึ้น เช่น กองทุน หรือ ตราสารหนี้ ก็สามารถส่งให้กับพนักงานขายที่มีความชำนาญเฉพาะด้วยดูแลได้ เป็นต้น" นางพรรณพร กล่าว  


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :