ไม่พบผลการค้นหา
ดีแทคยืนยัน 'ซิมไม่ดับ' แม้อายุสัมปทานคลื่น 1800 MHz จะหมดลง ก.ย. นี้ แจงยังมีอีก 2 ย่านความถี่ให้บริการ สนใจเข้าประมูลใบอนุญาตคลื่น 900 MHz พร้อมส่งทีมงานช่วย BTS แก้ปัญหา 'คลื่นแทรก' ทำระบบอาณัติสัญญาณรถไฟฟ้าร่วน

นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เปิดเผยกับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่า ปัจจุบันการให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมของดีแทค มีคลื่นความถี่ให้บริการใน 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) สัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1850 MHz โดยดีแทค 2) ใบอนุญาตบนคลื่นความถี่ 2100 MHz ภายใต้บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด และคลื่นความถี่ 2300 MHz ซึ่งเป็นใบอนุญาตของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ ทีโอที และดีแทคเป็นพันธมิตรร่วมใช้โครงข่าย ดังนั้น แม้สัมปทานจะคลื่นความถี่ 1800 MHz กำลังจะหมดลงในวันที่ 15 ก.ย. นี้ ก็จะไม่กระทบกับการให้บริการ

"ยืนยันว่าจะไม่มีซิมดับ เพราะในกลุ่มลูกค้าที่ใช้โทรศัพท์ 2G อยู่บนคลื่นความถี่เดิมคือ 1850 MHz ที่มีอยู่ 4 แสนรายในปัจจุบัน สามารถเดินเข้ามาที่เคาน์เตอร์และแจ้งเปลี่ยนการใช้บริการบนคลื่นอื่นๆ ของบริษัทได้ นอกจากนี้ ยังมีโปรโมชั่นสำหรับการเปลี่ยนรุ่นโทรศัพท์เพื่อใช้กับคลื่น 3G/4G ให้กับลูกค้าด้วย" นายประเทศ กล่าว

พร้อมกับอธิบายว่า คลื่นความถี่ที่มีในปัจจุบันมี 2 กลุ่มใหญ่ คือ High Band (ความถี่ระดับหลัก 100 MHz) กับ Low Band (ความถี่หลัก 1000 MHz ขึ้นไป) ซึ่งที่ผ่านมา ดีแทค มีบริการคลื่นความถี่ระดับ High band มากว่า 10 ปี และถึงแม้สัญญาสัมปทานคลื่น 1850 MHz จะหมดลง บริษัทก็ยังมีคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz และ 2300 MHz ให้บริการลูกค้า ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโครงข่ายของดีแทคและดีแทคไตรเน็ตรวมกันกว่า 20 ล้านเลขหมาย

"ส่วนกรณีหนังสือแจ้งผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ดีแทค บนย่านความถี่เดิมตามที่ กสทช. ส่งจดหมายไปถึงนั้น เป็นกระบวนการตามปกติของฝ่ายกำกับดูแล เพื่อดูแลและรักษาผลประโยชน์ของผู้ใช้งาน ซึ่งทำเป็นปกติในการเปลี่ยนผ่านการใช้บริการกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่นๆ มาก่อนหน้านี้เช่นกัน" นายประเทศ กล่าว

ประเทศ ตันกุรานันท์ -ดีแทค

(ประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี ดีแทค)

อย่างไรก็ตาม หลังจาก กสทช. ประกาศจะออกใบอนุญาตนำคลื่นความถี่ 900 MHz มาใช้งาน ดีแทคก็มีความสนใจ แต่ต้องรอดูรายละเอียดในประกาศคุณสมบัติการเข้ายื่นประมูลรับใบอนุญาตที่จะออกมาช่วงต้นเดือน ก.ค. ก่อน ดังนั้นในตอนนี้ จึงไม่สามารถระบุได้ว่า ต้องเตรียมเงินสำหรับการประมูลคลื่นใหม่เท่าไร อย่างไรได้

ดีแทคส่งทีมงานหาสาเหตุปัญหา 'สัญญาณรบกวน' ร่วมบีทีเอส ปิดระบบคลื่น 2300 MHz ชั่วคราว

สำหรับประเด็นเรื่องคลื่นความถี่ 2300 MHz ที่ถูกระบุว่า มีผลต่อระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถไฟฟ้า BTS และทำให้ระบบอาณัติสัญญาณขัดข้องตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายประเทศ เปิดเผยว่า คลื่นความถี่ 2300 MHz ที่ดีแทคใช้งานเป็นคลื่นที่ทีโอทีเป็นเจ้าของใบอนุญาต และขณะนี้ บริษัทได้ส่งทีมงานเข้าไปหาสาเหตุของปัญหาดังกล่าวร่วมกับบีทีเอส พร้อมกับปิดระบบการให้บริการบนคลื่นความถี่ 2300 MHz ตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอสตั้งแต่ 6.00 น. ของวันที่ 26 มิ.ย.แล้ว เพื่อค้นหาสาเหตุของกรณีดังกล่าว

"คลื่นความถี่ที่บีทีเอสใช้สำหรับวิทยุสื่อสารอยู่ที่ 2400 MHz ขณะที่คลื่นของดีแทคคือ 2300 MHz ซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะมีการรบกวนกัน เพราะเป็นย่านความถี่ที่ห่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความชัดเจนเราจึงส่งทีมงานของดีแทคเข้าไปทำงานและตรวจสอบปัญหาร่วมกับบีทีเอสแล้ว และที่ผ่านมา บีทีเอสก็ได้พยายามอย่างเต็มที่ที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว" นายประเทศ กล่าว

ทั้งนี้ คลื่นความถี่ 2400 MHz เป็นคลื่นที่ใช้กับอุปกรณ์สื่อสาร เช่น ไวไฟ และเป็น unlicensed band หมายถึง ใครก็สามารถใช้คลื่นนี้ได้ ดังนั้น ในอนาคตฝ่ายกำกับดูแลคลื่นความถี่อาจจำเป็นต้องพิจารณาถึงการกำกับดูแลคลื่นความถี่ย่านดังกล่าว หรือเปิดเป็นใบอนุญาตได้ 

"การทดลองปิดเพื่อทดสอบปัญหาร่วมกับบีทีเอสในวันนี้ จะไม่กระทบกับลูกค้าของดีแทค เพราะบริษัทยังมีคลื่นความถี่อีก 2 ช่วงให้บริการได้ตามปกติ" นายประเทศ กล่าว

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า กรณีที่รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (บีทีเอสสายสีลมและสายสุขุมวิท) ขัดข้องบ่อยก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ โดย BTS แถลงว่า สาเหตุเกิดจากรถไฟฟ้าถูกคลื่นสัญญาณวิทยุจากตึกสูงที่อยู่ในแนวเส้นทางการเดินรถไฟฟ้ารบกวน ทำให้ระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถขัดข้อง นั้น 

สำนักงาน กสทช. ได้ส่งรถตรวจสอบการใช้งานคลื่นความถี่วิทยุและการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกวิ่งตรวจสอบสัญญาณตั้งแต่เวลา 7.00 น. ของวันนี้ (26 มิ.ย. ) เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ขัดข้อง หลังจากตรวจสอบเสร็จ สำนักงานฯ จะนำผลการตรวจสอบและบทสรุปต่างๆ มาวิเคราะห์ว่าการที่รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว ขัดข้องบ่อยนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร และจะส่งรถตรวจสอบออกไปตรวจสอบสัญญาณตลอดในช่วงนี้ 

หลังจากนั้น สำนักงาน กสทช. จะเชิญตัวแทนจากบีทีเอสและดีแทค รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ประมาชุมเพื่อหารือร่วมกันถึงมาตรการและแนวทางในแก้ไขปัญหาต่อไป 

"สำนักงาน กสทช. พร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจสอบเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วง เพื่อให้ประชาชนไม่ได้รับความเดือดร้อนในการเดินทาง และการใช้ชีวิตประจำวัน" นายฐากร กล่าว

รถไฟฟ้าบีทีเอส-BTS


ข่าวเกี่ยวข้อง :