ไม่พบผลการค้นหา
ปชป.ย้ำผลประชุม ส.ส. โหวตคว่ำญัตติชงศาล รธน.ตีความร่างแก้ รธน. ชี้ผ่านวาระ 3 แล้วให้ศาลตรวจสอบเนื้อหาได้ เตรียมประท้วงฝ่ายค้านพาดพิง ปชป.ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

วันที่ 8 ก.พ. 2564 ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลการประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาประเด็นญัตติด่วนขอให้รัฐสภา มีมติให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อที่ 48 ซึ่งเป็นญัตติที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ สมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นผู้เสนอ โดยย้ำว่าพรรคได้มีมติไปแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าวที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ด้วยเหตุผลว่า ในการลงรายมือชื่อในญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น ก็ได้ยืนยันไปแล้วว่า เป็นญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อมีการยื่นญัตติเพื่อให้ส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไปให้ศาลรัฐธรรมนูญนั้น ที่ประชุม ส.ส.ก็มีมติย้ำอีกรอบว่า ไม่เห็นด้วยกับญัตติของ ไพบูลย์ ที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย 

“ยืนยันว่ากรณีนี้ตอนที่มีการลงรายชื่อ เราก็เห็นแล้วว่าเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ส่วนกระบวนการในการตรวจสอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีกระบวนการอยู่แล้วคือ หลังจากที่เสร็จสิ้นจากการพิจารณาในวาระที่ 3 เมื่อผ่านวาระ 3 แล้วในกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้ชัดว่า ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้สมาชิกรัฐสภาที่เห็นว่ามีส่วนไหนที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญก็ให้สิทธิในการส่งศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ซึ่งเป็นขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ค่อนข้างชัดเจน แต่ขณะนี้กลับกลายเป็นว่า ไพบูลย์มายื่นขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาในวาระที่ 2 พรรคฯ จึงมีมติชัดเจน ย้ำมติอีกหนึ่งครั้งให้ ส.ส. ทราบว่า เราจะมีมติไม่เห็นด้วยกับญัตติของ ไพบูลย์ นิติตะวัน” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าว 

ราเมศ ระบุว่า ที่ประชุม ส.ส. ยังได้พูดคุยถึงญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้าน โดยที่ประชุมไม่มีความหนักใจ ซึ่ง องอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส. ของพรรค ได้ย้ำในที่ประชุม ส.ส. ว่า ให้ ส.ส. ของพรรคอยู่ในที่ประชุมสภา เพื่อได้ติดตามการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 16-19 ก.พ. นี้อย่างใกล้ชิด หากมีการอภิปรายพาดพิงพรรค บุคคลใดที่ไม่เกี่ยวข้อง หรืออภิปรายไม่เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็จะสามารถลุกขึ้นเพื่ออภิปรายท้วงติงในประเด็นที่เป็นปัญหาในระหว่างที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งนี้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ และนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยนั้น เชื่อว่า 2 ท่านจะชี้แจงประเด็นต่างๆ ได้ครบถ้วน และถือโอกาสในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้เพื่อบอกกล่าวพี่น้องประชาชนว่า ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่นั้น ได้มีนโยบายอะไรบ้างที่ไปผลักดันแล้วเกิดความสำเร็จต่อพี่น้องประชาชน และประเทศชาติ

สำหรับประเด็นการเลือกตั้งในเขต 3 จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ประชุม ส.ส. ได้มีการพูดคุยและอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยนายราเมศ ในฐานะฝ่ายกฎหมาย ได้เน้นย้ำเรื่องการหาเสียงกับที่ประชุม ส.ส. ว่า ให้ยึดข้อกฎหมายเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด ในส่วนของ ส.ส. ที่จะไปช่วยรณรงค์เลือกตั้งครั้งนี้ ในฐานะที่มีผู้สมัครของพรรคฯ ซึ่งเป็นกระบวนการหาเสียงตามครรลองปกติอยู่แล้ว โดยหลังจากที่มีการเปิดรับสมัคร ทางพรรคฯ จะได้ตั้งผู้อำนวยการเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 3 เพื่อให้เป็นจุดศูนย์กลางในพื้นที่ต่อไป ซึ่งในช่วงเช้าที่ผ่านมา นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ดูแลภาคใต้ได้เรียกบุคลากรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคใต้เพื่อพูดคุยสำหรับวางแผนยุทธศาสตร์ในการหาเสียง 

“หัวหน้าพรรคย้ำให้มีการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงในส่วนของนโยบายพรรค และเมื่อเราเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้ว ความสำเร็จที่เกิดจากการนำนโยบายพรรค ไปผลักดันในส่วนต่างๆ ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสื่อสารกับพี่น้องประชาชนให้มากขึ้น เพื่อจะได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบในการตัดสินใจในการเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้งที่ 3 โดยนโยบายสำคัญของพรรคฯ ที่ตรงกับพื้นที่ นอกจากเรื่องผลงานของแต่ละกระทรวงที่พรรคฯ ดูแลแล้ว ยังมีนโยบายประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง และชาวสวนปาล์ม ซึ่งในการหาเสียงครั้งนี้ พรรคฯ ก็พร้อมที่จะหาเสียงบนพื้นฐานของความสุจริต ตรงไปตรงมา ยึดหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด และที่สำคัญในเขตเลือกตั้งที่ 3 นี้ เราจะสู้อย่างเต็มที่” ราเมศ ระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง