ไม่พบผลการค้นหา
สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในอุซเบกิสถานยังไม่บรรเทาลง ทำให้รัฐบาลต่อเวลาล็อกดาวน์ แรงงานไทยที่ตกค้างจึงอยากจะกลับบ้านโดยเร็ว ด้านสื่อยุโรปชี้การปิดกั้นข้อมูลในอุซเบฯ กระทบความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะคุมโควิด-19 ได้จริงหรือไม่

เมื่อเดือน พ.ค.2563 สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย ออกประกาศ 'วิธีการอยู่รอดภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19' เอ่ยถึงแรงงานไทยในรัสเซีย อาร์เมเนีย มอลโดวา และอุซเบกิซสถาน โดยย้ำว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศแถบนี้ 'ยังรุนแรง' และเป็นเหตุการณ์ที่ 'ไม่ปกติ'

ด้วยเหตุนี้ ทุกประเทศที่กล่าวมาจึงสั่งปิดน่านฟ้า ห้ามสายการบินใดๆ บินเข้า-ออก ทำให้คนทุกชาติ รวมทั้งไทย ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้

สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงมอสโก ซึ่งรับหน้าที่ดูแลกิจการด้านต่างๆ เกี่ยวกับคนไทยในกลุ่มประเทศเหล่านี้ จึงเตือนให้คนไทยระมัดระวังสุขภาพ และพิจารณาสถานการณ์เกี่ยวกับโรคโควิด-19 โดยอาศัยข้อมูลจากสถานทูตไทยเป็นหลัก

เนื้อหาในประกาศดังกล่าวยังแนะนำให้คนไทยทำความเข้าใจเรื่องข้อจำกัดที่กำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะผู้ที่เข้าไปทำงานอย่างไม่ถูกกฎหมาย อาจต้องคำนึงถึงเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตช่วงที่มีการปิดกั้นการเดินทางเพื่อป้องกันโควิด-19 ขณะเดียวกันก็ย้ำว่า ทางการไทยจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่

"แม้จะมีนายจ้างบางส่วนทอดทิ้งแรงงานโดยไม่ใยดี แต่ยังมีนายจ้างหลายรายที่แม้จะขาดรายได้ แต่ก็ยังยินดีดูแลแรงงานไทยด้านที่พักและอาหารตามคำแนะนำและการช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตฯ ซึ่งนายจ้างอาจทำได้มากน้อยแตกต่างกันไปตามขีดความสามารถของนายจ้างและความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ แม้ว่าเขาจะไม่สามารถจ่ายเงินเดือนหรืออาจต้องลดเงินเดือนลง แต่ย่อมดีกว่าการปล่อยให้ลูกจ้างแรงงานต้องไปเผชิญชะตากรรมที่ไม่มีทางออกเอาเอง" ประกาศของสถานทูตระบุเพิ่มเติม


'มีบางคนวางแผนเผาแคมป์คนงานเพื่อหวังกดดัน...'

จนกระทั่งวันที่ 21 ก.ค.2563 กรมประชาสัมพันธ์ของไทยได้เผยแพร่ข่าวภาษาอังกฤษ ระบุว่า คนไทยที่ไปทำงานในอุซเบกิสถาน จำนวน 102 คน ได้ยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือให้เจ้าหน้าที่การทูต และผู้ที่เกี่ยวข้องรายอื่นๆ ดำเนินการส่งตัวผู้ที่ยังตกค้างในอุซเบกิสถานกลับประเทศไทย โดยยืนยันว่า "ไม่มีผู้ใดติดเชื้อโควิด-19"

AFP-หน้ากากอนามัย-ไวรัสโคโรนา โควิด-19 COVID-19 อิรัก-สนามบิน-ผู้หญิงมุสลิม.jpg

รายงานข่าวระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ประสานกับสถานเอกอัครราชทูตประจำกรุงมอสโก และสถานกงสุลกิติมศักดิ์ในกรุงทาชเคนต์ เมืองหลวงของอุซเบกิสถาน รวมถึงนายจ้างและเครือข่ายด้านแรงงานต่างๆ ในอุซเบกิสถาน เพื่อที่จะทยอยอพยพคนไทยที่ยังตกค้างกลับประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (28 ก.ค.2563) สถานทูตไทยในกรุงมอสโกได้ประกาศเตือนคนไทยผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ โดยระบุถึง 'คนไทยบางคน' กำลังวางแผนประท้วง 'เผาแคมป์คนงาน' หวังจะออกสื่อ ไลฟ์สด เพื่อกดดันให้ได้กลับประเทศไทยเร็วขึ้น สถานทูตจึงเตือนว่า "สิ่งที่ท่านคิดนั้นผิด" พร้อมย้ำว่า ผู้ก่อเหตุเผาแคมป์คนงานจะเป็น 'คนสุดท้าย' ที่จะได้เดินทางกลับไทย เพราะจะถูกจับดำเนินคดีและจำคุกในอุซเบกิสถานประมาณ 10 - 15 ปี

นอกจากนี้ เพจสถานทูตฯ ยังระบุด้วยว่า สนามบินนานาชาติของอุซเบกิสถานยังคงปิดทำการอยู่ในขณะนี้ แต่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สถานทูตไทยกรุงมอสโก กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ กำลังดำเนินการอย่างสุดความสามารถ ที่จะนำทุกคนกลับประเทศไทย


สถานการณ์โควิด-19 ในอุซเบกิสถาน 'แย่กว่าที่คิด'

จากการรายงานล่าสุดของสำนักข่าว Xinhua ในวันที่ 28 ก.ค.2593 ระบุว่า รัฐบาลอุซเบกิสถานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมทั่วประเทศ 21,506 ราย และมีผู้ป่วยที่รักษาตัวจนหายดีและกลับบ้านได้แล้ว 11,674 ราย ส่วนสถิติผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 122 ราย

ขณะที่ VOA รายงานว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในอุซเบกิสถานดูจะย่ำแย่กว่าเดิม หลังจาก 'ชาฟคาต เมอร์ซิโยเยฟ' ประธานาธิบดีอุซเบกิสถาน สั่งให้คลายมาตรการล็อกดาวน์ที่เคยใช้ควบคุมการเดินทางของประชากรราว 33 ล้านคน รวมถึงการระงับกิจการหลายประเภทที่เข้าข่ายเสี่ยงแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

หลังจากนั้นไม่นาน สถิติผู้ติดเชื้อในอุซเบกิสถานกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มเฉลี่ย 1,500 รายช่วงต้นเดือน ก.ค. ทำให้รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์อีกครั้งช่วงกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยขยายเวลาล็อกดาวน์ออกไป จากกำหนดเดิมที่จะต้องสิ้นสุดในวันที่ 1 ส.ค.2563 ก็เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 15 ส.ค.2563 

AFP-แรงงานไทยในอิสราเอล-มาตรฐานความปลอดภัย-ชุดป้องกัน.jpg

อย่างไรก็ตาม การตรวจคัดกรองและรับมือกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในหลายพื้นที่ รวมถึงในกรุงทาชเคนต์ ไม่ทันต่อเหตุการณ์ โดยรัฐบาลกลางโทษว่าเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นล้มเหลวด้านการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อและป้องกันการแพร่ระบาด

VOA รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและนักการเมือง ระบุว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นมาจากกลุ่มผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับประเทศ โดยเฉพาะแรงงานอุซเบกิสถานที่เคยไปทำงานในต่างแดน เช่น รัสเซียและประเทศอดีตสหภาพโซเวียตอื่นๆ

ส่วนผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ก็ใช้ช่องทางไซเบอร์ วิพากษ์วิจารณ์การดำเนินการรับมือโรคโควิด-19 ของเจ้าหน้าที่รัฐบาลว่า 'ด้อยประสิทธิภาพ' ทั้งในระดับท้องถิ่นหรือส่วนกลางที่เป็นศูนย์รวมอำนาจ ทั้งยังตีแผ่ความไม่พร้อมของระบบสาธารณสุขในประเทศ เพราะกระทรวงสาธารณสุขระบุว่าถ้ามีผู้ติดเชื้อถูกส่งเข้าโรงพยาบาลเกินวันละ 1,000 คนก็จะมีเตียงคนไข้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงขาดแคลนบุคลากรการแพทย์ ยาที่ใช้ในการรักษา และชุดป้องกันส่วนบุคคล (ชุด PPE)

ทางด้านสำนักข่าว Eurasia Net รายงานว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีผลให้รัฐบาลอุซเบกิสถานสั่งปิดกั้นและควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของทั้งสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์อย่างเข้มงวด มีประชาชนและนักข่าวหลายรายถูกเรียกตัวไปสอบปากคำในข้อหาเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนให้เกิดความตื่นตระหนก

แม้ภายหลังจะตรวจพบว่าข้อมูลต้นทางถูกโพสต์อย่างเป็นทางการโดยสำนักข่าวใหญ่ที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาล แต่สำนักข่าวดังกล่าวอ้างว่าข้อมูลที่มีผู้นำไปเผยแพร่ต่อนั้นเกิดจากผู้ไม่ประสงค์ดีแฮกระบบเข้าไปโพสต์ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แต่เจ้าหน้าที่ยังคงบังคับให้ผู้นำข้อมูลไปเผยแพร่ต่อบอกรหัสผ่านเพื่อเข้าถึงคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ซึ่งนักสิทธิมนุษยชนระบุว่า เข้าข่ายคุกคามและละเมิดสิทธิ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: