ไม่พบผลการค้นหา
จนท.อุทยานฯ แก่งกระจานสนธิกำลังทหาร ตำรวจเปิด ‘ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร’ เตรียมขับไล่ชาวกะเหรี่ยง 'บางกลอย' ออกจากพื้นที่ดั้งเดิม มาอยู่ที่ที่อุทยานฯ อ้างภาพถ่ายทางอากาศชาวบ้านเผาทำลายป่าแก่งกระจานกว่า 100 ไร่ ด้านตัวแทน P-move ชี้ภาพป่าถูกเผาที่รัฐมนตรี ทส.และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ นำมาอ้างเป็นภาพถ่ายเก่าเมื่อเดือนมกราคม ปัจจุบันชาวบ้านยุติเผาตามข้อตกลงระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านเมื่อ 12 ก.พ. แล้ว ยืนยันเป็นการเตรียมพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนตามวิถีกะเหรี่ยงไม่ใช่เผาทำลายป่า ชาวบ้านยืนยันหากเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงจะไม่ตอบโต้แต่จะฟ้องร้องดำเนินคดีละเมิดสิทธิชาวบ้าน

จากกรณีมีข่าวว่าวันนี้ (22 ก.พ. 2564) เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เตรียมปฏิบัติการนำชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่หมู่บ้านบางกลอย (ใจแผ่นดิน) กว่า 80 ชีวิตกลับลงมาที่บางกลอยล่าง (พื้นที่ที่อุทยานฯ​ จัดให้) เจ้าหน้าที่อุทยานระบุว่า ชาวบ้านบุกรุกป่าอุทยานฯ สร้างที่อยู่อาศัย รวมถึงบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำไร่หมุนเวียน

สืบเนื่องจากเมื่อต้นเดือนมกราคม 2564 ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยล่าง ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจัดไว้ให้ตัดสินใจอพยพกลับไปที่หมู่บ้านดั้งเดิมในเขตอุทยานฯ หลังสถานการณ์โควิดที่ส่งผลให้ชาวบ้านบางส่วนไร้อาชีพ-ขาดรายได้ และอีกส่วนใหญ่ไม่สามารถทำเกษตรในพื้นที่จัดสรรได้ เพราะสภาวะแห้งแล้ง

บางกลอย

เจ้าหน้าที่อุทยานฯ และเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองเตรียมปฏิบัติการ ‘ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร’ ภาพจากเฟซบุ๊ก ยุทธพล อังกินันทน์

วันเดียวกันเฟซบุ๊ก ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เผยแพร่ภาพและข้อความว่า เตรียมเปิด ‘ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร’ สนธิกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองจับกุมผู้บุกรุกทำลายป่าในพื้นที่อุทยานฯ กว่า 120 ไร่ 

“ย้ำให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง จะเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อปกป้องผืนป่าตามขั้นตอน” ยุทธพลกล่าว


อ้างเหตุชาวบ้านเผาป่า เจ้าหน้าที่ต้องขับไล่

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สัมภาษณ์กับ ‘เนชั่นทีวี’ เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2564 ว่า รับทราบมาว่ามีภาพจากการสำรวจของคณะทำงานที่ทำให้เห็นว่า ป่าไม้ในอุทยานฯ ถูกเผานับ 100 ไร่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ PM2.5 แต่ยืนยันว่าให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีชาวกะเหรี่ยง

“ชาวบ้านบอกว่าขอให้เจ้าหน้าที่ถอนกำลังออกมาเพื่อมาเปิดโต๊ะเจรจากัน เจ้าหน้าที่ก็ถอยออกมาหมดแล้ว และยังขอให้ชาวบ้านลงมาจากหมู่บ้านใจแผ่นดิน เพื่อมาพูดคุยกัน ผ่านไปได้ 2-3 วัน เมื่อเจ้าหน้าที่ถอยลงมา แต่ชาวบ้านก็ยังไม่กลับลงมาและยังมีการเผาทำลายป่า” วราวุธกล่าว


ภาพถ่ายเก่า กล่าวหาชาวบ้าน

ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) หนึ่งในคณะทำงานแก้ปัญหาบางกลอย (ภาคประชาชน) กล่าวกับ ‘วอยซ์’ ว่า ภาพป่าถูกเผาที่รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อุทยานฯ นำมาอ้างเพื่อขับไล่ชาวบ้านนั้นเป็นภาพถ่ายเก่า ถูกถ่ายไว้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2564 เป็นช่วงที่ชาวบ้านกำลังเริ่มถางพื้นที่เตรียมทำไร่หมุนเวียน 

เขากล่าวอีกว่า ปัจจุบันชาวบ้านได้ยุติการถางพื้นที่แล้วตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ เนื่องจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และตัวแทนจากกระทรวงทรัพฯ ลงพื้นที่พูดคุยขอความร่วมมือให้ชาวบ้านหยุดถางพื้นที่ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถอาศัยอยู่ในบางกลอยบนได้

“ตอนนี้เหมือนเจ้าหน้าที่อ้างว่าชาวบ้านทำผิดข้อตกลงเรื่องการถางป่า แต่ชาวบ้านยืนยันว่าไม่ได้ทำผิดข้อตกลง เพราะเจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือด้วยปากให้ชาวยุติการถางพื้นที่ ไม่ใช่ข้อตกลงแบบลายลักษณ์อักษร และปัจจุบันชาวบ้านก็ไม่ได้ถางพื้นที่แล้ว” ประยงค์กล่าว

ประยงค์กล่าวอีกว่า ชาวบ้านไม่ได้เผาทำลายป่าอย่างที่เจ้าหน้าที่คิด พวกเขาเพียงถางพื้นที่ไร่หมุนเวียนดั้งเดิมที่ไม่ได้ทำไร่มานานกว่า 10 ปี หลังจากชาวบ้านถูกให้อพยพลงมาข้างล่าง

“การถางพื้นที่เป็นแค่การถางต้นหญ้า ตัดต้นไผ่และเศษไม้ เศษหญ้าไม่ใช่การตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ อีกทั้งการถางยังมีขอบเขตที่ชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการทำไร่หมุนเวียนตามวิถีกะเหรี่ยง” ประยงค์กล่าว


ยืนยันต้องการอยู่ที่ดินบรรพบุรุษ

นิรันดร์ พงษ์เทพ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 บ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี กล่าวยืนยันกับ ‘วอยซ์’ ว่า มีกระแสข่าวดังกล่าวจริง เพราะวันนี้ตั้งแต่เช้ามีเฮลิคอปเตอร์บินเข้าพื้นที่ประมาณ 5 รอบแล้ว คาดว่าเป็นการรับ-ส่ง เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เข้าพื้นที่ เพื่อพูดคุยเจรจากับชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่

“เจ้าหน้าที่มาเจรจาขอให้ชาวบ้านกลับลงมา โดยเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าได้สำรวจหาที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินแล้ว แต่ชาวบ้านไม่มั่นใจคำกล่าวอ้าง ขอรอดูว่าเจ้าหน้าที่จะทำอย่างไรต่อ จะมีการใช้ความรุนแรงขับไล่ หรือจับกุมดำเนินคดีหรือไม่” นิรันดร์กล่าว 

นิรันดร์กล่าวยืนยันว่า ชาวบ้านยังไม่ออกจากพื้นที่ หากยังไม่ได้รับที่ดินทำกินบริเวณบางกลอยบนบ้านใจแผ่นดินที่เป็นที่ดินบรรพบุรุษคืน

บางกลอย2

เจ้าหน้าที่อุทยานฯ พูดคุยกับชาวบ้านที่หมู่บ้านบางกลอยบน (ใจแผ่นดิน) เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2564 ภาพจาก พชร คำชำนาญ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ


ไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้เจ้าหน้าที่

อภิสิทธิ์ เจริญสุข ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่พื้นที่บางกลอยบนในเวลานี้ กล่าวกับ ‘วอยซ์’ ว่า ยังไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่จะนำชาวบ้านลงมาอย่างไร จะใช้วิธีการอะไร จะใช้ความรุนแรงโดยการเผาทำลายที่พักอาศัยชั่วคราว หรือการดำเนินคดีกับชาวบ้านหรือไม่ 

“แต่เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าการมาครั้งนี้เป็นการขึ้นมาเจรจาให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่อุทยานฯ เพราะชาวบ้านบุกรุก เป็นการทำผิดกฎหมาย” อภิสิทธิ์กล่าว 

เขากล่าวยืนยันว่า ชาวบ้านทั้งหมดประมาณ 80 ชีวิต ประกอบด้วยชาย หญิง วัยรุ่น หนุ่มสาว ผู้สูงอายุ รวมถึงเด็ก และมีผู้หญิงตั้งครรภ์ ทั้งหมดยืนยันไม่ออกจากพื้นที่ และจะไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้เจ้าหน้าที่ หากเจ้าหน้าที่ขับไล่หรือใช้ความรุนแรง รวมถึงเผาทำลายที่พักและข้าวของเครื่องใช้ชาวบ้านเหมือนที่เกิดขึ้นปี 2554 จะดำเนินการฟ้องร้อง

“หากเจ้าหน้าที่กระทำความรุนแรง เราจะใช้วิธีการทางกฎหมายโดยการฟ้องร้องเอาผิดเจ้าหน้าที่และผู้สั่งการ เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งศาลปกครองสูงสุดเคยพิพากษากรณีเจ้าหน้าที่เผาทำลายบ้านชาวบ้านเมื่อปี 2554 แล้วว่าเป็นการละเมิดสิทธิชาวบ้าน ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน” อภิสิทธิ์กล่าว

บางกลอย3

ชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยบน ภาพจาก พชร คำชำนาญ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนื


'ไร่หมุนเวียน' ตามวิถีกะเหรี่ยงไม่ได้ทำลายป่า

อภิสิทธิ์กล่าวยืนยันว่า สาเหตุที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ต้องการให้ชาวบ้านกลับลงมายังพื้นที่ที่อุทยานฯ จัดให้ก็เพราะเจ้าหน้าที่ตีความว่าการทำไร่หมุนเวียนตามวิถีชาวกะเหรี่ยงเป็นการบุกรุกทำลายป่า ทั้งที่การทำไร่หมุนเวียนเป็นการทำไร่ตามวิถีที่มีส่วนช่วยทำให้ป่าอุดมสมบูรณ์ 

“แค่ช่วงแรกของการทำไร่หมุนเวียนเท่านั้นที่มีการถางป่า เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งการถางป่าก็มีขอบเขตพื้นที่ที่ชัดเจนตามวิธีการทำไร่หมุนเวียน” อภิสิทธิ์กล่าว

เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เคยกล่าวกับ ‘วอยซ์’ ว่า การทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงไม่ใช่การทำไร่ที่ทำลายป่า แต่กลับสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ป่า เพราะ 7 ปี ทำ 1 ครั้ง หลังจาก 7 ปี ป่าก็กลับมาอุดมสมบูรณ์เช่นเดิม

เตือนใจกล่าวอีกว่า การทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง เริ่มตั้งแต่การเตรียมพื้นที่โดยการถางพื้นที่ (ฟันไร่) ตัดต้นไม้ให้เหลือสูงประมาณ 1 เมตร แล้วก็มีการเผาเศษไม้และหญ้า มีการทำแนวกันไฟ การเผาจะใช้เวลาเผาภายในชั่วโมงเดียวเท่านั้น

“เมื่อเผาเสร็จชาวบ้านก็จะหยอดเมล็ดข้าวลงหลุม ในหลุมข้าวก็จะมีเมล็ดพันธุ์พืชอื่นๆ เช่น ถั่ว ขิง ข่า เผือก มัน ฟัก แฟง แตงกวาดอย ฯลฯ นับได้เกือบ 40 ชนิดในพื้นที่ไร่หมุนเวียนด้วย” 

เตือนใจกล่าวว่า การทำไร่หมุนเวียนทำให้หมู่บ้านมีอาหารเกือบ 120 ชนิด ดังนั้นชัดเจนว่าไร่ข้าวหมุนเวียนชาวกะเหรี่ยงเป็นแหล่งพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร 

นอกจากนี้เมื่อเวลา 17.00 น. ภาคี SAVEบางกลอย ทำกิจกรรม ณ แยกปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เพื่อแสดงพลังกดดันท่าทีของเจ้าหน้าที่รัฐต่อชาวกะเหรี่ยงล่าสุด กังวลเจ้าหน้าที่จะเผาทำลายที่อยู่อาศัย อาหารไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่เหมือนปี 2554

อ่านรายงานที่เกี่ยวข้องได้ที่

-รากปัญหากะเหรี่ยงแก่งกระจาน : รัฐใหญ่กว่าชนพื้นเมือง

https://voicetv.co.th/read/_rRMNYC6X 

- หนีเสือปะจระเข้ : กะเหรี่ยงแก่งกระจานในวิกฤตโควิด

https://www.voicetv.co.th/read/8IQhQABbR 

- 'นักสิทธิฯ' แนะรัฐต้องจริงใจช่วยชาวกะเหรี่ยงบางกลอยด้วยหลักมนุษยธรรม เสนอพิสูจน์สิทธิที่ดินจริงจัง

https://voicetv.co.th/read/U0ZQWJpHK

-'ป.ป.ท.' ดอง 'คดีปู่คออี้' และชาวกะเหรี่ยงถูกอุทยานฯ แก่งกระจานเผาบ้านใกล้ขาดอายุความ

https://voicetv.co.th/read/SSix247bH