ไม่พบผลการค้นหา
สภาที่ 3 ชี้ รัฐบาลถึงทางตัน 'ประยุทธ์' ต้องลาออก ส่วน "พิชัย" ยังดื้อ เสนอ 9 ข้อยุคโควิด-19 ด้านประธานญาติพฤษภา 35 จวกแรง สภาฯกลายเป็นตลาดซื้อขายวัวควาย

วันที่ 7 มี.ค. 2563 ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมกับกลุ่มสภาที่ 3 จัดเสวนา "ทางออกของพลเอกประยุทธ์ ในยุคประชาลำเค็ญ" โดยนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ระบุว่า รัฐบาลเดินมาถึงทางตันแล้ว จึงสมควรลาออก เพราะประเทศเสียหายจากปัญหาที่หมักหมมในหลายด้านตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช. ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรปัจจุบัน กลายสภาพเป็นเหมือน "ตลาดซื้อขายวัวควาย" ไปแล้ว และสิ่งที่สังคมยอมรับร่วมกันคือ ประเทศชาติฉิบหายจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งจะต้องแก้ไขปัญหานี้ด้วย

ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลมีทั้งวิกฤตศรัทธาและวิกฤตความชอบธรรม โดยเฉพาะจากการทุจริตและการสืบทอดอำนาจรัฐประหาร ซึ่งสัมพันธ์กันในมิติที่ยิ่งมีอำนาจเผด็จการก็ยิ่งมีการทุจริตมาก โดยเฉพาะการทุจริตเชิงนโยบายที่เอื้อต่อนายทุนใหญ่หรือเจ้าสัว ตลอด 6 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมครองอำนาจต่อเนื่องมา มีเพียงกลุ่มอภิสิทธิชนเท่านั้นที่ได้ประโยชน์เท่านั้น ขณะที่รัฐสภาไม่สามารถตรวจสอบเรื่องที่ส่อถึงการทุจริตของรัฐบาลได้อย่างที่ควรจะเป็นตามที่สังคมมุ่งหวัง ทั้งมีการกว้านซื้อ ส.ส.เพื่อต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีด้วย

โดยมองว่า สภาพความขัดแย้งทางสังคมที่แบ่งฝักฝ่ายระหว่างประชาชนกับกลุ่มอภิสิทธิชนในปัจจุบัน มีความเสี่ยงและคล้ายกับที่เกิดขึ้นในอดีต โดยเฉพาะเหตุการณ์อาชญากรรมรัฐ "6 ตุลา 2519" ที่มีการปลุกระดมเพื่อให้มีการทำลายล้างและสังหารณ์หมู่ศึกษา ซึ่งปัจจุบันก็คือ "ไอโอ" ที่น่าสงสัยว่า มุ่งไปให้เกิดผลในลักษณะเดียวกันหรือไม่

ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน ระบุว่า ยุคนี้ประชาชนแสนลำเค็ญจากเศรษฐกิจตกต่ำ โดยไม่มีวันฟื้นได้ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ ขณะที่ข้อมูลของธนาคารโลกชี้ว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาคนจนในไทยลดลงมาโดยตลอด แต่นับจากปี 2557 เป็นต้นมาคนจนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 หรือกว่า 2 ล้านคน จาก 4.3 ล้านคนเป็น 6.7 ล้านคน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากความโง่เขลาของผู้นำและรัฐบาล ตามที่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร และ มรว.ปรีดิยาธร เทวกุล 2 อดีตรองนานกรัฐมนตรีได้นำเสนอไว้ และตรงกับที่นักศึกษาที่ติดแฮชแท็ก #ผนงรจตกม ส่วนตัวมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ นอกจากจะปิดกั้นความรู้ ชอบโวยวายโดยไม่รับฟังข้อมูลแล้ว ยังโกหกในหลายๆ เรื่อง ทั้งยังชอบให้ลิ่วล้อออกมาด่าคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล อย่างกรณี ดร.วีรพงษ์ ล่าสุด แทนที่จะรับฟังและนำไปแก้ไข

นายพิชัย ยังเสนอรัฐบาล 9 ข้อคือ 1. พัฒนาการธุรกิจเดลิเวอรี่ ใช้โอกาสในช่วงวิกฤตโควิด-19 2. ลดดอกเบี้ย อย่างที่ธนาคารกลางสหรัฐ ลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.5 3. เร่งการลงทุนภาครัฐ ที่ไม่ใช่แจกเงิน ซึ่งย้อนแย้งกับด้านหนึ่งที่รัฐบาลมาเปิดรับบริจาคสู้โควิด-19 4.​ ลดราคาพลังงาน 5. ปรับปรุงโรงงานที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ อย่างโรงงานสิ่งต่างๆให้มาผลิตหน้ากากอนามัยรับมือโควิด-19 6. มาตรการที่ชัดเจนในการดูแลควบคุมกลุ่มเสี่ยงรวมถึงแรงงานจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากเกาหลีใต้

7.) การสร้างงานที่มีผลิตภัณฑ์สูงและจ้างแรงงานในราคาสูงเพื่อการพ้นประเทศรายได้ปานกลางตามที่ธนาคารโลกแนะนำ 8.​ รับฟังและทำความเข้าใจการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา ซึ่งส่วนตัวมองว่า กรณีแฟลชม็อบสะท้อนว่า คนรุ่นใหม่พยายามออกจาก "หม้อต้มกบ" ที่ทนอยู่อย่างเดิมต่อไปไม่ได้แล้ว 9. การเปลี่ยนผู้นำรัฐบาล เพราะการเปลี่ยนคนโง่ให้กลายมาเป็นคนฉลาดนั้นทำไม่ได้ เช่นเดียวกับผู้นำที่โง่แล้วจะพัฒนาให้ฉลาดนั้นเป็นไปได้ยาก ดังนั้น ต้องหาผู้นำที่ฉลาดเข้ามาบริหารแทนประเทศไทยถึงจะไปรอด

ขณะที่ นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และรองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย มองว่า ผู้ที่น่าสงสารที่สุดคือ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งถูกคนวิจารณ์อย่างหนักแต่ไม่รู้ตัว ปัญหาหลักเกิดจากการที่รัฐบาลไม่สนใจปัญหาปากท้องของประชาชน ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นโดยรัฐไม่เข้าใจและไม่ได้แก้ปัญหา รวมทั้งการเข้าไม่ถึงสวัสดิการรัฐด้านต่างๆของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส

นายบุญแทน มองว่า ที่ผ่านมามีกลุ่มบุคคลใช้อำนาจครอบงำองค์กรอิสระและครอบงำฝ่ายตุลาการ ซึ่งภาพสะท้อนต่างๆ ทำให้ประชาชนเข้าใจเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ จนนำสู่วิกฤตกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบัน ที่ประชาชนหวังพึ่งความเป็นธรรมได้น้อยมาก แม้คนในกระบวนการยุติธรรมบอกว่าเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำก็ตาม ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงก็ไม่เป็นจริง

ส่วนทางออกของ พล.อ.ประยุทธ์ ท่ามกลางวิกฤติทุกด้าน คือ 1. พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งโดยถือว่าภาระกิจแก้ไขความขัดแย้งด้วยการก่อรัฐประหารนั้นสิ้นสุดแล้วและยอมรับความผิดพลาดที่สืบทอดอำนาจและมาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ในรัฐบาลปัจจุบัน 2.​ ปรับคณะรัฐมนตรี ยกเลิกระบบโควต้า โดยการตั้งรัฐบาลปรองดอง ที่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายค้านและภาคประชาสังคมตลอดจนนักวิชาการ 3. เปิดทางและผลักดันการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการมีส่วนร่วมทุกฝ่าย 4. ยุติไอโอ นิยามความมั่นคงแห่งชาติใหม่ให้สอดคล้องกับหลักการสากล และ 5. ตั้งสภาพลเมืองทุกจังหวัด เป็นช่องทางสื่อสารกับประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง