ไม่พบผลการค้นหา
“เขารักผมทุกคน ไปถามเขาซิ ไม่เห็นมีปัญหาอะไร” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ‘พี่น้องเตรียมทหาร’ กับ ผบ.เหล่าทัพ

หลังรุ่นห่างกัน 8-10 ปี ด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น นายกฯ มา 7 ปี แต่ตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพ มีการสับเปลี่ยนอยู่ตลอด ซึ่ง ผบ.เหล่าทัพ ปัจจุบัน ตท.20-21-22 รุ่นห่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ ตท.12 ที่ไม่ทันเรียนด้วยกัน 

“ทหารสืบทอดกันมาทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความกล้าหาญ ระเบียบวินัยเขาถ่ายทอดกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งมีเรื่องของความผูกพันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง ยังมีกรณีที่รุ่นพ่อยังอยู่ในระบบและรุ่นลูกก็ยังอยู่ในราชการ เขาก็บังคับบัญชากันมาโดยตลอด ข้อสำคัญผู้บังคับบัญชาต้องไม่เอาเปรียบ ไม่ทุจริต โปร่งใส ให้ความเป็นธรรม นั่นคือการเป็นผู้บังคับบัญชา ไม่ใช่สักแต่มีอำนาจ เข้าใจหรือไม่” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ทว่าระยะห่างของ พล.อ.ประยุทธ์ กับ ผบ.เหล่าทัพนี้ ไม่ใช่เพียงรุ่นเตรียมทหาร แต่รวมถึง ‘ดุลอำนาจ’ ในกองทัพที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ ‘ทหารคอแดง’ หากย้อนดู ผบ.เหล่าทัพ ก็ไม่ได้เป็นสายเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เติบโตจากสายทหารเสือ-บูรพาพยัคฆ์ แม้ว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. แม้จะต่างสายกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่โตมาจากสายวงศ์เทวัญ ลูกหม้อ ร.11 รอ. เดิม แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็น ‘น้องรักต่างสาย’ ของ พล.อ.ประยุทธ์

ต่างจาก พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ที่โตมาจากสายวงศ์เทวัญ ร.31 รอ. หรือหน่วยหมวกแดง ทภ.1 ได้ขึ้นเป็น ผบ.พล.1 รอ. ก่อนขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่ง พล.อ.ณรงค์พันธ์ จบ ตท.22-จปร.33 ไม่ได้มีสายสัมพันธ์ที่แนบชิด พล.อ.ประยุทธ์ เรียกได้ว่ามี ‘ระยะห่างกัน’

แต่มี ‘จุดเชื่อม’ คือ พล.อ.อภิรัชต์ นั่นเอง ท่ามกลางขั้ว ‘บูรพาพยัคฆ์-วงษ์เทวัญ’ ภายใน ทบ. ที่เบาบางลงไป ถูกแทนที่ด้วย ‘ทหารคอแดง’ โดย พล.อ.ณรงค์พันธ์ จะเกษียณฯ ก.ย. 2566

ทบ. ทหาร ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้

ส่วน ผบ.ทบ. คนต่อไปที่ถูกจับตา คือ พล.ท.เจริญชัย หินเธาว์ แม่ทัพภาคที่ 1 จบ ตท.23-จปร.34 เติบโตมาจากสายทหารเสือฯ เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ก็ต้องลุ้นชิงกับ พล.ท.ทรงวิทย์ หนุนภักดี รองเสธ.ทบ. เติบโตสายวงศ์เทวัญ ร.11 รอ. จบ ตท.24 แต่ไม่ได้จบนายร้อย จปร. เพราะจบ ร.ร.นายร้อย VMI-Virginia Military Institute จะสามารถแหวกม่านประเพณีที่ ผบ.ทบ. ต้องจบ นายร้อย จปร. ได้หรือไม่ ทว่าทั้งคู่ต่างก็เป็น ‘นายทหารคอแดง’ ด้วย

ในส่วนเก้าอี้ ผบ.ทหารสูงสุด ก็โยกจาก ทบ. ไปเสียบยอด บก.กองทัพไทย’ นั่นคือ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ จบ ตท.21-จปร.32 ที่เติบโตมาสายทหารม้า พล.ม.2 รอ. จากนั้นขึ้นพลโท เป็นเจ้ากรมยุทธการ ทบ. และ รอง เสธ.ทบ. และขึ้นพลเอก ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. ก่อนโยกมา บก.กอบทัพไทย เป็น เสธ.ทหาร และขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุด โดย พล.อ.เฉลิมพล เป็น ‘นายทหารคอแดง’ ด้วย ทำให้ บก.กองทัพไทย มี ‘นายทหารคอแดง’ ขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุด คนแรก โดยได้รับแรงหนุนจาก พล.อ.อภิรัชต์ ด้วย ซึ่ง พล.อ.เฉลิมพล จะเกษียณฯ ก.ย. 2566

ทั้งนี้นายทหารที่ถูกจับตาว่าจะเป็น ผบ.ทหารสูงสุด คนต่อไปคือ พล.ท.สุวิทย์ เกตุศรี ที่ขยับขึ้นพลโท จาก ผบ.รองวิทยาลัยเสนาธิการทหาร เป็น ผบ.ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล เข้าไลน์ที่จะขึ้น ผบ.ทหารสูงสุด ในอนาคตได้ 

โดย พล.ท.สุวิทย์ จบ ตท.23-จปร.34 เติบโตจากสายทหารม้า พล.ม.2 รอ. เหมือนกับ พล.อ.เฉลิมพล รวมทั้งเป็นนายทหารคอแดง ด้วย โดยเส้นทางมายัง บก.กองทัพไทย ก็คล้ายกัน โดยโยกจาก รองแม่ทัพภาคที่ 1 มายัง บก.กองทัพไทย

มากันที่ ทร. โดยมี พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน เป็น ผบ.ทร. เป็นเพื่อน ตท.20 กับ พล.อ.อภิรัชต์ การขึ้นมาของ พล.ร.อ.ชาติชาย ก็มาจากการเสนอชื่อของ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ อดีตผบ.ทร. ที่เสนอชื่อนี้มาแต่ต้น โดย พล.ร.อ.ชาติชาย จะเกษียณฯ ก.ย. 2564

ผู้นำเหล่าทัพ สภากลาโหม  กองทัพบก กองทัพ ตำรวจ ทหาร ณรงค์พันธ์ เฉลิมพล สุวัฒน์ -1A0D-42B6-B763-3D4626C2CFE2.jpeg

ข้ามมา ทอ. ที่มี พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ เป็น ผบ.ทอ. จบ ตท.20 เป็นเพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.อภิรัชต์ เช่นกัน ก็ขึ้นมาด้วยการเสนอชื่อของ พล.อ.อ.มานัต วงศ์วาทย์ อดีต ผบ.ทบ. ที่เรียกได้ว่าสะเทือนไปทั้ง ‘ทุ่งดอนเมือง’ เพราะ พล.อ.อ.แอร์บูล ไม่ได้อยู่ในตำแหน่ง 5 เสือ ทอ. แต่มาจากตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. โดยจะเกษียณฯ ก.ย. 2565

โดย พล.อ.อ.มานัต ตั้งใจเสนอชื่อ พล.อ.อ.แอร์บูล มาแต่ต้น แม้มีเสียงค้านใน ทอ. เพราะว่ากันว่าเพื่อปูทางให้ พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา เสธ.ทอ. ขึ้นเป็น ผบ.ทอ. คนต่อไป แต่หนทางนี้ดูจะไม่เป็นไปตามแผนของ พล.อ.อ.มานัต เพราะ พล.อ.อ.แอร์บูล ก็เข้ามาปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ทำให้ผิดแผนเดิมของ พล.อ.อ.มานัต ไป

ซึ่งจุดนี้สะท้อนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ ‘ล้วงลูก’ การตั้ง ผบ.เหล่าทัพ แต่ในอีกด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้มี ‘อำนาจเต็มมือ’ ขนาดนั้น ด้วยปัจจัยต่างๆในกองทัพเปลี่ยนไป แต่กองทัพก็ยังถือเป็น ‘กองหนุนสำคัญ’ ของรัฐบาล 

ที่ผ่านมา ผบ.เหล่าทัพ ก็เลี่ยงการพูดเรื่องการเมือง แม้จะมีอีกบทบาทคือการเป็น ‘สมาชิกวุฒิสภา' (ส.ว.) โดยตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็เลือกที่จะไม่ออกเสียงแทน และประกาศไม่รับเงินเดือน ส.ว. ด้วย เช่น การโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่สามนั้น ผบ.เหล่าทัพ ก็พร้อมใจ ‘ไม่ขานชื่อ-แสดงตน’ ด้วย

ประยุทธ์-สภากลาโหม

ทว่า ผบ.เหล่าทัพ ก็ไม่ได้ ‘เย็นชา-นิ่งเฉย’ ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ เสียทีเดียว ยังคงตบเท้าเข้าอวยพรวันเกิด พล.อ.ประยุทธ์ 21 มี.ค. 2564 ขณะอายุครบ 67 ปี ที่ทำเนียบฯ ตามประเพณี เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นทั้ง ‘รุ่นพี่เตรียมทหาร’ และ ‘ผู้บังคับบัญชา’ โดย พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ย้ำถึงความเป็น ‘ครอบครัวทหาร’ ที่อบอุ่นนี้

โดยมีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวกับ ผบ.เหล่าทัพ-ปลัดกลาโหม ว่า “เกียรติและการยกย่อง ต้องเป็นคนอื่นให้เรา ไม่ใช่เรายกตัวเอง ผมมีหลายครอบครัว นี่คือหนึ่งในครอบครัวที่รักของผม และทหารเป็นครอบครัวที่เหนียวแน่น ขอให้สมาชิกครอบครัวนี้ช่วยกันดูแลประเทศ ขอบคุณทั้งทหารและตำรวจ ที่ช่วยกันทำงานเพื่อบ้านเมือง และขอให้ตั้งใจช่วยกันทำงานให้บ้านเมืองต่อไป และขอให้ทำให้ดี”

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า แม้ ผบ.เหล่าทัพ จะมี ‘ระยะห่าง’ ในเรื่องรุ่นเตรียมทหาร

แต่ด้วย ‘ความเป็นทหาร’ และ ‘ความเป็นพี่เป็นน้อง’ จึงเป็นจุดเชื่อมสัมพันธ์นี้ได้ รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมือง ที่ข้อเรียกร้อง ‘ทะลุเพดาน’ ยิ่งทำให้ นายกฯ-ผบ.เหล่าทัพ มีภารกิจร่วมกัน เพราะทั้งหมดนี้เป็น ‘องคาพยพ’ เดียวกัน

ทว่าหากสถานการณ์เปลี่ยน อะไรก็เปลี่ยนได้ !!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog