ไม่พบผลการค้นหา
วอยซ์ รวบรวมคำถาม-ตอบ ของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ในวันแถลงนโยบายวันแรกของรัฐบาลเศรษฐา
ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล

นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจำเป็นต้องใช้งบประมาณถึง 560,000 ล้านบาทจำเป็นต้องมีเงินสดมากองไว้เพื่อการหนุนมูลค่าของเงิน เพื่อการันตีว่า 1 บาทในโลกจริงจะเท่ากับ 1 บาทดิจิทัล 

1 บาทในโลกจริงจะเท่ากับ 1 บาทในโลกดิจิทัลได้ ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของเงินนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ หากรัฐบาลไม่สามารถนำเงิน 560,000 ล้านบาทมาสำรองไว้ได้ทันที จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของร้านค้าต่างๆ ที่อาจรู้สึกว่าการแลกเงินไม่สะดวก หรือกังวลว่ารัฐจะไม่มีเงินมาให้แลก หากเป็นเช่นนั้น 1 บาทในโลกดิจิทัล จะไม่เท่ากับ 1 บาทในโลกจริงทันที ประชาชนอาจได้ประโยชน์ไม่ถึง  560,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลลงเงิน และอาจเกิด ‘เงินเฟ้อในโลกดิจิทัล’ 

เรื่องแหล่งที่มาของงบนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ไม่มีระบุไว้ในคำแถลงนโยบาย แต่เมื่อเทียบรายละเอียดตอนหาเสียงเลือกตั้งเคยระบุแหล่งที่มาของเงินไว้ว่า 

  • 260,000 ล้านบาท มาจากภาษีที่เก็บเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ จากการประมาณของสำนักงบประมาณ 
  • 100,000 ล้านบาท มาจากภาษีนิติบุคคลและมูลค่าเพิ่มที่ได้จากโครงการนี้ โดยคาดการณ์จากเงินดิจิทัลที่แจกไป จะมีการซื้อขายหมุนเวียนในเศรษฐกิจมากกว่า 2.7 รอบ 
  • 110,000 ล้านบาท มาจากการบริหารจัดการงบประมาณเดิมที่ไร้ประสิทธิภาพ 
  • 90,000 ล้านบาท มาจากการบริหารงบประมาณสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 

สำหรับข้อ ‘ภาษีที่เก็บได้เพิ่ม’ อาจเก็บเพิ่มขึ้นได้ 260,000 ล้านบาทจริง แต่งบประมาณเพิ่มขึ้นมาแค่ 100,000 กว่าล้านเท่านั้น เนื่องจากประเทศพยายามตั้งเป้าให้มีการขาดดุลลดลง เว้นแต่ว่า รัฐบาลจะขยายการขาดดุล หรือขยายการกู้ชดเชยขาดดุลเพิ่ม 

ส่วนงบ 100,000 กว่าล้านในภาษีนิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเป็นเงินที่ได้มาหลังดำเนินโครงการจบแล้ว ดังนั้น มีโอกาสที่ ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 อาจยังไม่มีเงินสด 560,000 ล้านบาทมาอุดหนุนเงินดิจิทัลได้ 

ดังนั้น แหล่งที่มางบของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตในความเป็นจริง มีแค่ 2 ทางเท่านั้นคือ เงินในงบประมาณ และเงินนอกงบประมาณ

1. งบประมาณแผ่นดิน โดยสิ่งที่ต้องพิจารณาคือ ใช้งบจากปีงบประมาณ 2567 หรือไม่ ดูแล้วงบปี 67 ไม่เพียงพอแน่นอน เนื่องจากงบปี 67 จำนวน 3.35 ล้านล้านบาท จะต้องถูกนำไปใช้จ่ายงบประจำหลายส่วน ดังนี้ 

  • ค่าบุคลากร 1.29 ล้านล้านบาท 
  • ชำระหนี้และดอกเบี้ย 0.337 ล้านล้านบาท 
  • ชดใช้เงินคงคลัง 0.034 ล้านล้านบาท 
  • เงินผูกพัน 0.256 ล้านล้านบาท (ส่วนใหญ่เป็นงบลงทุนที่ผูกพันจากรัฐบาลก่อน)
  • เงินอุดหนุนท้องถิ่น 0.337 ล้านล้านบาท
  • เงินสวัสดิการตามกฎหมาย 0.250 ล้านล้านบาท 

เงินที่จะเหลือจริง คือ 850,000 ล้านบาท อีกทั้งกฎหมายยังกำหนดว่าจะต้องแบ่งไปเป็นรายจ่ายลงทุนไม่ต่ำกว่า 20% ของงบประมาณทั้งหมด (งบผูกพัน 256,000 ล้านบาท+ ต้องลงทุนเพิ่มอีก 450,000 ล้านบาทจึงจะถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด) แปลว่าเงินที่จะเหลือใช้ในปี 2567 มีแค่ 400,000 ล้านบาทเท่านั้น 

2. เงินนอกงบประมาณ ไม่ว่าจะใช้วิธีกู้จากธนาคารรัฐ ยืมเงินกองทุนหมุนเวียน ตั้งข้อสังเกตว่านายกฯ พูดตลอดว่าต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด แต่จะเริ่มต้นด้วยการทลายกรอบวินัยการเงินการคลังเลยหรือไม่ เพราะการใช้เงินนอกงบประมาณจะช่องทางดังนี้

  • กู้แบงก์รัฐ กรอบวินัยการเงินการคลังให้กู้ได้ไม่เกิน 32% ของงบประมาณ ซึ่งตั้งแต่สิ้นปี 2565 วงเงินเหลือ 62,000 ล้านบาท และปัจจุบันเหลือแค่ 18,000 ล้านบาท 
  • ยืมกองทุนหมุนเวียน รัฐบาลมีตัวเลือกคือ 1.กองทุนประกันสังคม 2.กองทุนบำเหน็จข้าราชการ (กบข.)
  • ขายกองทุนวายุภักษ์​ มูลค่า 346,000 ล้าน ถ้าจะขายให้หมดภายใน 4 เดือน จะเสี่ยงขาดทุน ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ผันผวน 

5 ความเสี่ยงที่รัฐบาลต้องระวังมีดังนี้ 

  1. การแจกเงินครั้งใหญ่ย่อมสร้างการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่อาจไม่คุ้มค่าเพราะรักษาไม่ตรงจุด 
  2. เศรษฐกิจโตแค่ส่วนบนไม่ได้ แต่ควรมีการปฏิรูปการจัดงบประมาณและระบบภาษีไปด้วย 
  3. กดทับศักยภาพผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย ประชาชนแบกค่าใช้จ่าย 
  4. โยกเงินกระเป๋าซ้าย มาจ่ายกระเป๋าขวา เช่น ลดค่าน้ำค้าไฟหรือแม้แต่เงิน 10,000 บาท เป็นเพียงแค่การเร่งเวลาการบริโภคในอนาคต 
  5. หนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ ยุคเงินเฟ้อสูงทั่วโลก ส่งออกไม่รุ่ง ตลาดกระจุกตัวสูงขึ้น ทรัพยากรถดถอย 
วรภพ วิริยะโรจน์​ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล 

เสนอแนะถึงนโยบายดิจิทัล วอลเล็ตว่า ต้องการให้มีการทบทวนเงื่อนไขโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยการกำหนดให้สามารถใช้เงินดิจิทัลเฉพาะร้านค้ารายย่อย หรือ SMEs เท่านั้น และไม่มีเงื่อนไข 4 กม. เพื่อให้ตรงกับจุดประสงค์ของนโยบาย

วรภพจึงอยากเสนอให้รัฐบาลทบทวนเงื่อนไขดังกล่าวเพื่อให้ร้านค้ารายย่อยและ SMEs มีแต้มต่อเพื่อแข่งขันกับทุนใหญ่ ไม่เช่นนั้น เงินจากการลงทุนมหาศาลครั้งนี้ อาจไหลเข้ากระเป๋านายทุนใหญ่ทั้งหมด 


ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

ได้อภิปรายในประเด็นนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเช่นกัน โดยแจงข้อสังเกตไว้ดังนี้ 

ประเด็นแรก สภาวะเศรษฐกิจไทย ณ ขณะนี้ จนถึงครึ่งปีหน้า ยังไม่เหมาะสมที่รัฐบาลจะต้องแจกเงินถ้วนหน้าแต่อย่างใด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว การใช้จ่ายในประเทศกำลังเพิ่มขึ้น ดูจากอัตราการขยายตัวการบริโภคภาคเอกชน จุดที่มีปัญหาคือ ภาคส่งออก ที่หดตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวโดยเฉพาะจีน ที่เศรษฐกิจหดตัว 10 เดือนติดต่อกันแล้ว 

ยิ่งกว่านั้น World bank, IMF ได้ปรับตัวเลขเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐและจีน ซึ่งส่งผลต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทย ดังนั้น สภาวะปัจจุบันไม่เหมาะสมจะใช้มาตรการการคลังมากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลควรทำให้ถูกเวลา และควรทำเมื่อการบริโภคภาคเอกชนหดตัว ไม่ใช่ทำตอนกำลังขยายตัวตอนนี้ 

ชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า เมื่อเห็นชัดว่าปัญหาอยู่ที่ ‘การส่งออก’ สาเหตุของปัญหาคือการขยายตัวการส่งออกของประเทศหดตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเศรษฐกิจก็ขยายตัวต่ำมาโดยตลอด เป็นปัญหาโครงสร้างส่งออกที่พึ่งพาอุตสาหกรรมโลกเก่า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนตร์ และปิโตรเลียม ซึ่งถ้าดูข้อมูลระดับบริษัท จะพบว่า  โครงสร้างภาคธุรกิจไทยกระจุกตัวสูง บริษัทใหญ่สุด 5% มีรายได้เป็นสัดส่วน 85% ของรายรับภาคธุรกิจทั้งหมด ดังนั้น รัฐบาลควรทบทวนว่าจะแก้ปัญหาการส่งออกหดตัวต่อเนื่องอย่างไรจึงตรงจุด และจะใช้งบอย่างไรในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้ SMEs มีการแข่งขัน เริ่มต้นทำธุรกิจได้ง่ายและเร็ว แทนที่จะใช้งบมาแก้ปัญหาจำนวนมาก 

ชัยวัฒน์ มองว่า การแจกเงิน 10,000 บาท ที่คาดว่าจะเกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจมหาศาล เป็นการคาดการณ์สูงเกินไป ไม่น่าเกิดขึ้นได้ เนื่องจากนโยบายนี้ทำง่าย เพียงผันเงินสู่กระเป๋าประชาชนเอาไปใช้จ่าย หมุนเวียนต่อเนื่อง ยิ่งหมุนเวียนเท่าไรมูลค่าเศรษฐกิจจะเติบโต โดยใช้ fiscal multiplier เป็นตัวชี้วัด 

ซึ่งความจริงไม่ได้ง่ายเช่นนั้น เพราะหากคนใช้เงินรัฐบาลแล้วเก็บเงินสดในกระเป๋าไว้ การใช้จ่ายก็ไม่ขยายตัว โดยไม่มีใครรู้ชัดว่าตัวคูณการคลังจะเป็นเท่าไร แต่นักเศรษฐศาสตร์ทราบกันดีกว่า ตัวคูณทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นน้อย ถ้าเศรษฐกิจกำลังขยายตัว ทำให้เม็ดเงินภาษีนั้นขาดทุน ได้ไม่คุ้มเสีย โดย IMF เองก็เคยระบุว่า การแจกเงินถ้วนหน้ามีตัวคูณการคลังต่ำ แค่ 0.2 เท่า ประเทศญี่ปุ่นก็เคยทำเช่นกัน โดยตัวคูณอยู่ที่ 0.2-0.5 เท่าเท่านั้น หรือสหรัฐเองก็เคยทำนโยบายลักษณะนี้ โดยตัวคูณอยู่ที่ 0.3-1.2 เท่าเท่านั้น 

ชัยวัฒน์ มองว่า ตัวคูณการคลังของนโยบายแจกเงินส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำ แต่เพื่อไทยคาดหวังที่ 3 เท่า เป็นการประเมินตัวเลขที่ห่างไกลความเป็นจริงไปมาก และจะสร้างภาระการคลังของประเทศถ้าต้องกู้เงิน เป็นการเสียโอกาสในการนำงบมหาศาลนี้ไปแก้ปัญหาอื่นๆ 

ที่สำคัญกว่านั้น หากรัฐบาลยืนยันว่าจะทำนโยบายนี้ ชัยวัฒน์ มองว่าจะมีปัญหาอีกมาก โดยเฉพาะการกำหนดเงื่อนไขที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น 4 กิโลเมตรตามที่อยู่ทะเบียนบ้าน คนจำนวนมากไม่ได้อยู่ตามภูมิลำเนาในทะเบียนบ้าน ดูได้จากคนลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขต 2.3 ล้านคน ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าเพื่อกระจายเงินทุกพื้นที่อาจต้องคิดก่อนว่า ต่างจังหวัดมีร้านที่จะรับเงินดิจิทัลได้สักกี่ร้าน แทนที่จะซื้อของที่ตัวเองต้องการ อาจจะถูกบีบด้วยระบะ 4 กิโลเมตร และอาจต้องซื้อสิ่งที่ไม่อยากได้ และอาจส่งผลให้ปลายทางจบที่ร้านสะดวกซื้อหรือห้างค้าส่งขนาดใหญ่ การกำหนดให้ร้านในระบบภาษีเท่านั้นที่แลกเงินกับธนาคารได้ ทำให้พ่อค้าแม่ค้าที่ไม่อยู่ในระบบก็จะถูกบีบในระยะ 4 กิโลเมตร อีกเช่นกัน เงื่อนไขแบบนี้อาจทำให้ร้านค้าไม่อยากเข้าร่วมโครงการนี้ได้ หรืออาจเกิดการทุจริต เช่น นำเงินดิจิทัล 10,000 บาท แลกเงินสด 8,000 บาท ก็เป็นได้ 

ชัยวัฒน์ แสดงความกังวลในหลายประเด็น ดังนี้ 

หนึ่ง-เรื่องเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นตัวอย่างที่ดีของประชาธิปไตย เพราะหัวใจคือการกระจายอำนาจ ทำฐานข้อมูลกระจายหลายจุด ไม่รวมศูนย์ที่เดียว และแต่ละจุดก็จะตรวจสอบซึ่งกันและกัน แต่การที่รัฐบาลท่านอ้างว่า ‘ต้องใช้’ เพราะมีความปลอดภัยสูง ชัยวัฒน์มองว่าอาจไม่จริง ตัวอย่างเช่นกรณี ‘อีเทอเรียม’ ที่เคยถูกขโมยเหรียญออกไป 60 กว่าล้านเหรียญ  

สอง-ความโปร่งใสจริงบนเงื่อนไขว่าไม่รวมศูนย์ ไม่เก็บฐานข้อมูลไว้ที่เดียว เปิดให้คนตรวจสอบได้ แต่ในโครงการของรัฐเช่นนี้ มีตัวกลางคือ ‘รัฐ’ ซึ่งน่าจะมีการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์โดยรัฐบาลอยู่ดี 

สาม- แม้จะไม่ใช้บล็อกเชน ก็เขียนโปรแกรมให้มีเงื่อนไขได้เช่นกัน  อาทิ แอปเป๋าตัง หรือโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่เคยทำมาแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้บล็อคเชนทำดิจิทัลวอลเล็ท เนื่องจากข้อจำกัดคือ ระบบบล้อกเชนทำธุรกรรมทำได้ช้า ต่างจาก ระบบแอปเป๋าตังใช้ 40 ล้าน สามารถรองรับวินาทีเดียวกันได้ถึง 10,000 ธุรกรรม  แต่สำหรับบล็อกเชน ผู้เชี่ยวชาญต่างพูดว่า ถ้าสามารถทำให้รองรับ 1,000 ธุรกรรมก็เก่งมากแล้ว ดังนั้น แม้เรื่องบล็อกเชนจะสำคัญ แต่ยังไม่ควรผูกกับโครงการเร่งด่วนอย่างแจกเงิน 10,000 บาท เพราะถ้าล้มเหลว อาจทำให้คนไม่เชื่อมั่นอีกเลย 


เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เศรษฐา ได้ลุกขึ้นตอบคำถามในเรื่องนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต ดังนี้

  1. เรื่อง 4 กิโลเมตร ในนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลตระหนักดีกว่า พื้นที่ชนบทอาจมีร้านค้าไม่เพียงพอ รัฐบาลจะขอไปดูรายละเอียดและดำเนินงานให้เหมาะสมตามคำแนะนำของเพื่อนสมาชิกในสภา
  2. เรื่องระยะเวลา 6 เดือนในการใช้เงินดิจิทัล เรื่องนี้จำเป็นมาก เพราะเราต้องการให้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงระยะสั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ดังนั้น ช่วงเวลาในการใช้เงินจึงเป็นเรื่องสำคัญ
  3. บางท่านบอกว่าอยากให้ยกเลิกรัศมี 4 กิโลเมตร ผมเรียนว่า เศรษฐกิจภูมิภาคต้องการการกระตุ้น ถ้าคนที่มีถิ่นฐานจังหวัดใด ก็ควรกลับไปใช้ที่นั่น มีเวลา 6 เดือน กลับไปเยี่ยมพี่น้อง ทำให้สถานบันครอบครัวแข็งแรงขึ้น ดังนั้น เรื่อง 4 กม. ตามบัตรประชาชน รัฐบาลขอคงไว้ เว้นแต่บางพื้นที่ บางเขต อาจต้องมีการชยายรัศมีการใช้เงิน
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

กล่าวถึงกรอบคิดของนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต โดยระบุว่า หลักคิดของนโยบายนี้ไม่ใช่เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงช่วงเลือกตั้ง แต่เป็นเพราะเห็นว่า สภาวะเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องมีนโยบายกระตุ้นในระดับฐานรากอย่างทั่ว ดังนั้น หลักคิดข้อที่หนึ่ง คือการกระตุ้นไปที่ชุมชนทุกภูมิภาค โดยใช้บล็อกเชนในการกำหนดเงื่อนไขใช้จ่ายเงินได้

สอง คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย ให้ประชาชนมีสองกระเป๋า คือ กระเป๋าเงินสด และ กระเป๋าดิจิตัล ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจดิจิทัลของโลกได้

ส่วนในเรื่องแหล่งงบประมาณในการดำเนินนโยบาย รัฐบาลยึดมั่นกรอบวินัยการเงินการคลังเป็นหลัก ไม่มีการแตะต้องกองทุนรวมวายุภักษ์ (กบข.) องทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือกองทุนประกันตนแต่อย่างใด​ เนื่องจากรัฐบาลรู้ถึงวัตถุประสงค์ของตัวเม็ดเงินของแต่ละกองทุนดี จึงไม่มีความคิดในการหยิบยืมมาใช้

ส่วนกระบวนการที่จะดำเนินนโยบาย จุลพันธ์ กล่าวว่า รัฐบาลขอเวลาในการตรวจรายละเอียดและเดินหน้าโครงการ และยืนยันว่า สุดท้ายจะมีความชัดเจนในเรื่องของกรอบการใช้เงิน กรอบระยะเวลาในการดำเนินการ และการเอางบประมาณมาใช้คืนให้หมดในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่กระทบต่อหนี้สาธารณะและไม่มีการกู้เพิ่มแน่นอน เพราะรัฐบาลจะยึดกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด

เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยดิจิทัลวอลเล็ต บนเงื่อนไขเช่น ในระยะยทาง 4 กิโลเมตร หรือกรอบระยะเวลาการใช้เงิน จุลพันธ์ยอมรับว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น โดยมีข้อเสนอมากมายจากภาคประชาชนและสมาชิกรัฐสภา รัฐบาลยยืนยันว่าจะเอาข้อเสนอแนะไปพิจารณาในภาพรวม และหาหนทางให้เกิดประโยชน์สูงสุด

จุลพันธ์ กล่าว่า สุดท้ายแล้วไม่ว่าข้อสรุปจะเป็นเช่นไร เม็ดเงินทั้งหมดจะถึงมือประชาชนและไปถึงเป้าหมายหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในเรื่องของการเอื้อทุนใหญ่และการดำเนินการที่อาจเกิดราคาที่ไม่เป็นธรรม รัฐบาลรับฟังและเห็นถึงความหวังดี แต่โดยหลักคิดแล้ว รัฐบาลยืนยันว่าไม่ได้มองประชาชนเป็นผู้ร้าย โดยเชื่อว่า เมื่อประชาชนได้เงินไปแล้ว จะสามารถจัดสรรการใช้อย่างเป็นประโยชน์ โดยหลักคิดนี้จะประกอบกับนโยบายมากกมายของภาครัฐ เมื่อนำทั้งหมดมาประกอบกับกลไกการใช้เงินจากเม็ดเงินนี้ รัฐบาลเชื่อมั่นว่า ประชาชนจะใช้เงินเพื่อการบริโภคที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะหมุนเวียนในชุมชนของตน

ประเด็นที่กังวลกันว่าเม็ดเงินจะไหลไปอยู่ที่ทุนใหญ่ จุลพันธ์แจงว่า โครงการนี้ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่ได้เลือกว่าทุนใหญ่หรือร้านสะดวกซื้อจะไม่ได้เข้าโครงการ เนืื่องจากมันเป็นสิทธิ์ของประชาชนในการเลือกกิจกรรมที่จะทำ โดยขณะนี้ มีการรวมกลุ่มกันของพี่น้องในต่างจังหวัด เพื่อเตรียมนำเม็ดเงินนี้ไปต่อยอดอาชีพ จัดกิจกรรมที่จะสร้างประโยชน์แก่ชุมชน ซึ่งล้ำหน้ากว่าความคิดของพวกเราในรัฐสภาด้วยซ้ำ

จุลพันธ์มองว่า นโยบายนี้จะทำให้ประชาชนสามารถแตกยอดความคิด รองรับกับเม็ดเงินที่ลงไปเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยตอนนี้ รัฐบาลมองเห็นถึงการรวมกลุ่มกันเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตซึ่งมีต้นทุนสูง และจะเกิดประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ใหม่ๆ รวมถึงจะเกิดการแชร์สินทรัพย์ เช่น เครื่องจักการเกษตรขนาดใหญ่ต่างๆ

จุลพันธ์ทิ้งท้ายว่า รัฐบาลเชื่อมั่นในพี่น้องประชาชนว่าจะสามารถตัดสินใจได้อย่างเป็นประโยชน์สูงสุด ทั้งต่อตนเองและชุมชน และด้วยความเป็นระบบบล็อกเชน จุลพันธ์ยืนยันว่า ไม่มีเทคโนโลยีใดโปร่งใสและตรวจสอบได้เท่ากับบล็อคเชนในปัจจุบัน ดังนั้น นโยบายนี้จะเกิดประโยชน์และตรวจสอบได้อย่างสมบูรณ์