ไม่พบผลการค้นหา
กสทช. เผย 7 ช่องทีวีดิจิทัลขอคืนใบอนุญาต ปิดฉาก 2 ช่องเด็ก-ยุติ 3 ช่องข่าว-2 ช่อง SD คาดได้เงินคืนเร็วสุด ก.ค. นี้ หากส่งแผนครบถ้วนสมบูรณ์ ส่วนการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ 3 ค่ายมือถือจะเข้าร่วม แต่ขอให้ทบทวนราคาตั้งต้น

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระสายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า วันสุดท้ายของการแจ้งความประสงค์ขอคืนใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรทัศน์ ในวันนี้ (10 พ.ค. 2562) ในเวลา 16.30 น. มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลขอคืนช่องแล้วทั้งหมด 7 ราย

ประกอบด้วย 3 Family ช่อง 13, MCOT Family ช่อง 17, สปริงนิวส์ ช่อง 19, ไบร์ททีวี ช่อง 20, วอยซ์ทีวี ช่อง 21, สปริงส์ ช่อง 26 และ 3 SD ช่อง 28

โดยขั้นตอนหลังจากนี้ ทีวีทั้ง 7 ช่องจะต้องส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับงบการเงินในปี 2561 และปี 2562 สิ้นสุด ณ วันที่ 10 เมษายน 2562 ภายใน 60 วัน และสามารถขยายเวลาได้อีก 30 วัน ซึ่งทันทีที่ส่งกลับมา กสทช.จะพิจารณาแผนภายใน 30-45 วัน ก่อนสั่งจอดำ โดยเร็วสุดคือในเดือนกรกฎาคม และช้าสุดไม่เกินเดือนสิงหาคมนี้

นายฐากร ระบุว่า สำหรับการปิดช่องหรือยุติการออกอากาศจะต้องรอมติจากคณะกรรมการ กสทช. ออกมาก่อน ช่องที่ยื่นความประสงค์คืนใบอนุญาตฯ ไม่สามารถปิดได้เอง ดังนั้นทั้ง 7 รายจะได้รับอนุมัติทั้งหมด แต่ระยะเวลาอาจไล่เลี่ยกัน ขึ้นอยู่กับการส่งแผนทั้งหมด

โดยเบื้องต้นยังไม่สามารถสรุปได้ว่ายอดเงินที่จะคืนกลับไปยังทีวีทั้ง 7 ช่องจะเป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งประมาณการแล้วแต่ละช่องจะได้เงินคืนประมาณร้อยละ 55 ของเงินประมูลที่จ่าย 4 งวด 

ส่วนการแจ้งความประสงค์เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะมีการประกวดราคาประมูลในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ จะให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมแจ้งความประสงค์เข้าร่วมประมูลภายในวันนี้เช่นกัน

โดยพบว่า ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายที่ให้บริการในปัจจุบัน ส่งหนังสือแสดงความจำนงเข้าร่วมประมูล แต่ขอให้ กสทช.พิจารณาราคาเริ่มต้นของราคาประมูลด้วย ซึ่งเงินจากการประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ จะต้องนำมาจ่ายเยียวยาให้กับทั้ง 7 ช่องดิจิตอล

บีอีซี คืนใบอนุญาตช่อง 13 และ 28 แจง 5 ปีที่ผ่านมา แข่งขันสูง-เม็ดเงินโฆษณาหด

บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ออกแถลงการณ์เรื่อง การคืนช่องทีวีดิจิทัล ช่อง 13 และ ช่อง 28 ระบุว่า จากมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ ตามคำสั่งมาตรา 44 ให้เยียวยาผู้ประกอบการ และให้ผูู้ประกอบการสามารถยื่นคืนใบอนุญาตได้ เพราะรัฐบาลได้เล็งเห็นปัญหาของการแข่งขันที่สูงในธุรกิจทีวีดิจิทัล จากจำนวนช่องที่มากเกินไป ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาไม่ได้โตขึ้น แต่กลับมีการหดตัวของเม็ดเงินโฆษณา อีกทั้งกิจการโทรทัศน์ ยังโดนผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ชมที่หันไปรับชมรายการต่างๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลส่วนมากต้องแบกรับปัญหาการขาดทุน ซึ่งจากมาตรการดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการหลายรายได้ตัดสินใจคืนใบอนุญาตตามที่คำสั่ง คสช. ได้เปิดโอกาสไว้

วันนี้ (10 พ.ค. 2562) บริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นความประสงค์ขอคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ช่อง 13 และช่อง 28 ต่อ กสทช. ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม บมจ.บีอีซีเวิลด์ ยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในธุรกิจ โดยจะยังคงสร้างสรรค์รายการที่มีคุณภาพที่ให้ทั้งความบันเทิงและสาระที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ชมทางช่อง 3 และ ช่อง 33 และจะยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเต็มที่ต่อไป 

โดยตลอด 5 ปีของการประกอบธุรกิจทีวีดิจิทัล ช่อง 13 และช่อง 28 บริษัทได้มุ่งมั่นอย่างเต็มที่ ในการผลิตรายการ สาระความรู้ ความบันเทิงมอบแก่ผู้ชมมาโดยตลอด บมจ.บีอีซีเวิลด์ ขอขอบคุณผู้ชมที่กรุณาให้ความสนับสนุนและติดตามชมรายการของทางสถานีฯ มาอย่างต่อเนื่อง และขอขอบคุณผู้สนับสนุนที่เชื่อมั่นในรายการของสถานีฯ โดยเสมอมา 

ด้านนายฉัตรชัย เทียมทอง เลขานุการคณะกรรมการ บมจ. บีอีซี เวิลด์ ระบุในเอกสารที่แจ้งแก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า การคืนใบอนุญาตฯ ทาง กสทช. จะมีการจ่ายเงินชดเชยการคืนใบอนุญาต ตามระยะเวลาคงเหลือของใบอนุญาตฯ ซึ่งในส่วนของเงินชดเชยนี้ ต้องรอให้สำนักงาน กสทช. พิจารณาภายหลังการยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ ซึ่งตามประกาศฯ ข้อ 7 กำหนดว่า ให้สำนักงาน กสทช. จ่ายค่าชดเชยอันเนื่องมาจากการคืนใบอนุญาตฯ ให้กับผู้รับใบอนุญาตภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ยุติการให้บริการตามที่ กสทช. กำหนด 

อย่างไรก็ตาม การคืนใบอนุญาตฯ ยังไม่ถือว่ามีผลให้ยุติการออกอากาศ เพราะตามประกาศฯ ข้อ 4 กำหนดว่า เมื่อสำนักงาน กสทช. ได้รับหนังสือแจ้งความประสงค์ขอคืนใบอนุญาตฯ แล้ว ต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการ กสทช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและกำหนดวันยุติการให้บริการ พร้อมเงื่อนไขการเยียวยาผู้ใช้บริการที่จะให้บีอีซี-มัลติมีเดีย ในฐานะผู้รับใบอนุญาตฯ ปฏิบัติก่อนเลิกกิจการ การยุติการดำเนินการตามใบอนุญาตฯ จึงขึ้นกับดุลพินิจของคณะกรรมการ กสทช.  

5 ปีผ่านมา จาก 24 เหลือ 15 ช่อง กับเงินประมูลกว่า 50,800 ล้านบาท

ทั้งนี้ การจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล เกิดขึ้นเมื่อเดือน ธ.ค. 2556 และมีราคาประมูลรวม 24 ช่อง จำนวน 50,862 ล้านบาท ใน 4 หมวด  

1.ช่องทั่วไปความคมชัดสูง (HD) มีทั้งหมด 7 ใบอนุญาต ได้แก่ MCOT HD ช่อง 30 ราคาประมูล 3,340 ล้านบาท , ONE HD (GMM) ช่อง 31 ราคาประมูล 3,320 ล้านบาท , ไทยรัฐทีวีช่อง 32 ราคาประมูล 3,360 ล้านบาท , 3 HD ช่อง 33 ราคาประมูล 3,530 ล้านบาท , อมรินทร์ทีวี ช่อง 34 ราคาประมูล 3,320 ล้านบาท, 7 HD ช่อง 35 ราคาประมูล 3,370 ล้านบาท และ PPTV ช่อง 36 ราคา 3,460 ล้านบาท

2.ช่องทั่วไปความคมชัดปกติ (SD) มีทั้งหมด 7 ใบอนุญาต ได้แก่ Workpoint ช่อง 23 ราคาประมูล 2,355 ล้านบาท, True4U ช่อง 24 ราคาประมูล 2,315 ล้านบาท , GMM SD ช่อง 25 ราคาประมูล 2,290 ล้านบาท , NOW 26 (SPRING26) ราคาประมูล 2,200 ล้านบาท ,ช่อง 8 RS ช่อง 27 ราคาประมูล 2,265 ล้านบาท, 3 SD ช่อง 28 ราคาประมูล 2,275 ล้านบาท และ MONO ช่อง 29 ราคาประมูล 2,250 ล้านบาท

3.ช่องข่าวสารและสาระ มีทั้งหมด 7 ใบอนุญาต ได้แก่ TNN24 ช่อง 16 ราคาประมูล 1,316 ล้านบาท , ไทยทีวี (ทีวีพูล) ช่อง 17 ราคาประมูล 1,328 ล้านบาท , NewTV (เดลินิวส์) ช่อง 18 ราคาประมูล 1,310 ล้านบาท , SpringNews ช่อง 19 ราคาประมูล 1,318 ล้านบาท , Bright TV ช่อง 20 ราคาประมูล 1,298 ล้านบาท, วอยซ์ทีวี ช่อง 21 ราคาประมูล 1,330 ล้านบาท และ เนชั่นทีวี ช่อง 22 ราคาประมูล 1,338 ล้านบาท

4.ช่องวาไรตี้และรายการเด็ก มีทั้งหมด 3 ใบอนุญาต ได้แก่ 3family ช่อง 13 ราคาประมูล 666 ล้านบาท , MCOT Family ช่อง 14 ราคาประมูล 660 ล้านบาท และ โลก้า (ทีวีพูล) ช่อง 15 ราคาประมูล 648 ล้านบาท  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :