ไม่พบผลการค้นหา
"เสรีพิศุทธ์" สงสัย "ประยุทธ์" ไม่ตรวจสอบคุณสมบัติ "ธรรมนัส" เพราะเป็นบุคคล ที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จและคอยรักษาอำนาจหรือไม่ ยืนยันต้องตรวจสอบเองเพราะนายกฯ ไม่สนใจ เผยอภิปรายปมถวายสัตย์ฯ เตรียมแนะนายกฯ ลาออกกลางสภา

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ยืนยันว่าจะเดินหน้าตรวจสอบ คุณสมบัติของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งเรื่องคุณสมบัติ การเป็นรัฐมนตรี ซึ่งถูกกล่าวหา ว่าผัวพันกับคดียาเสพติด และถูกจำคุกเป็นเวลา 4 ปีที่ประเทศออสเตรเลีย รวมถึงกรณี ที่โซเชียลมีเดียพยายามตรวจสอบ เรื่องการปลอม วุฒิการศึกษาในระดับปริญญาเอก โดยจะชี้ให้เห็นว่า บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ จะเอาบุคคลใด ที่มาไม่ถูกต้อง ให้เป็นรัฐมนตรีไม่ได้ โดยเฉพาะกรณีที่ ร.อ.ธรรมนัส ถูกจำคุกที่ประเทศออสเตรเลีย เป็นเวลาถึง 4 ปี ซึ่งในข้อเท็จจริง ร.อ.ธรรมนัส ต้องติดคุก ในประเทศออสเตรเลียถึง 9 ปีแต่จากการเจรจาต่อรองจึงลดเหลือ 4 ปีเต็ม เมื่อโทษครบกำหนดจึงถูกเนรเทศออกนอกประเทศ

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เห็นว่า ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีไม่ยอมตรวจสอบ ซึ่งมีข้อสังเกตว่า เป็นเพราะ ร.อ.ธรรมนัส เป็นบุคคลที่ทำหน้าที่ประสานงานกับพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลเกิดขึ้น ทั้งยังเป็นบุคคลที่คอยรักษาอำนาจ รัฐบาลให้คงอยู่หรือไม่ 

ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ ของตนเองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะได้ทำหน้าที่ตรวจสอบ โดยเฉพาะในบทบาทของประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะต้องทำความจริงให้ปรากฏ 

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ระบุด้วยว่า ในวันที่ 18 ก.ย. สภาจะเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 กรณีนายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ จะเป็นผู้อภิปรายด้วยตนเองโดยจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งได้เตรียมข้อมูล เพื่อชี้ให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรี กระทำการขัดรัฐธรรมนูญอย่างไร เมื่อชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว จะแนะนำนายกรัฐมนตรีกลางสภาให้ลาออก 

ส่วนกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา และนักการเมืองบางคนออกมาระบุว่า ขอให้พรรคฝ่ายค้านถอนญัตติดังกล่าวออกจากระเบียบวาระ เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยว่า ขอให้คนเหล่านั้นไปดูรัฐธรรมนูญ ทั้งในมาตรา 161 และมาตรา 162 พร้อมย้ำว่า หลักการของอำนาจการปกครอง บทบาทของสภาผู้แทนราษฎร บทบาทของอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระ แยกออกจากกันอย่างชัดเจน ดังนั้นการอภิปรายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 จึงเป็นคนละประเด็นกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 

บุคคลที่ต้องการให้ยุติเรื่องนี้ พยายามสร้างภาพให้สังคมเห็นว่า "ฝ่ายค้านไม่ได้เรื่อง" มุ่งแต่จะเล่นงานรัฐบาล ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะการอภิปรายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านเป็นการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล 

นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาล เร่งกลับไป แก้ไขปัญหาให้ประชาชน โดยเฉพาะเศรษฐกิจปากท้อง ที่กำลังมีปัญหาอยู่ในเวลานี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :