ไม่พบผลการค้นหา
กรมสรรพสามิต ออกประกาศปลดล็อกโรงกลั่นเอทานอลขายเข้าโรงงานผลิตแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ รับมือไวรัสโควิด-19 หวังช่วยเพิ่มซัพพลายเจลแอลกอฮอล์ในตลาดให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่ากรมสรรพสามิตได้ดำเนินการตามแนวนโยบายที่ได้รับจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 กำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID -19)) เป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ซึ่งการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสอย่างหนึ่งคือการทำความสะอาดโดยการฆ่าเชื้อโรคด้วยแอลกอฮอล์ หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ผลิตจากแอลกอฮอล์ จึงทำให้มีความต้องการใช้แอลกอฮอล์มากขึ้น

ทั้งนี้ ด้วยเหตุว่า กรมสรรพสามิตเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลสินค้าสุราซึ่งรวมถึงแอลกอฮอล์หรือสุราสามทับเพราะเป็นสินค้าที่กำหนดในบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ดังนั้น จึงเป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต เพื่อรายได้ของรัฐ แต่ในสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 แพร่กระจายซึ่งเป็นปัญหาในขณะนี้

กรมสรรพสามิตรแถลงข่าว


ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 จึงมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการใช้แอลกอฮอล์หรือสุราสามทับหากนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ทำความสะอาดมือ โดยการให้สิทธิทางภาษีของสุราสามทับ (แอลกอฮอล์) เพื่อเป็นการลดต้นทุนทางภาษีและเพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยจากการติดเชื้อไวรัสจากการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้ออกประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอใช้สิทธิเสียภาษีในอัตราภาษีศูนย์สำหรับสุราสามทับที่นำไปทำการแปลงสภาพ เพื่อใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบที่มิได้ทำขึ้นเพื่อการจำหน่าย ลงวันที่ 6 มีนาคม 2563 เพื่อให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสุราสามทับ (แอลกอฮอล์) ซึ่งมี 3 กลุ่ม คือ องค์การสุรา กรมสรรพสามิต ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสุราสามทับเพื่อส่งออก และกลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรมเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ให้เสียภาษีแอลกอฮอล์หรือสุราสามทับในอัตราศูนย์บาทต่อลิตร โดยลดเงื่อนไขหลักเกณฑ์รวมทั้งข้อจำกัดต่าง ๆ จากที่ปฏิบัติง่ายขึ้นเพื่อให้ทันสถานการณ์เร่งด่วนและไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อขาย แต่เป็นการทำเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน ซึ่งผู้ยื่นทำผลิตภัณฑ์ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐและผู้ที่หน่วยงานรัฐรับรองเท่านั้น และประกาศกรมสรรพสามิตฉบับดังกล่าวเป็นประกาศให้มีผลระยะสั้น คือให้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ยังไม่เข้าสู่สภาวะปกติหรือยังมีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ก็จะพิจารณาขยายระยะเวลาตามความจำเป็นต่อไป สำหรับแนวนโยบายดังกล่าว จะเป็นการเพิ่มให้มีการใช้สุราสามทับหรือแอลกอฮอล์จากผู้ประกอบอุตสาหกรรมเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ที่ตั้งโรงงานตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2549 โดยกำหนดให้มีวัตถุประสงค์ในการผลิตเพื่อเป็นเชื้อเพลิงโดยเฉพาะเท่านั้น ภายใต้การบริหารกำกับดูแลปริมาณการใช้เอทานอลภายในประเทศโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เช่น ในการส่งออกเอทานอลไปต่างประเทศ ผู้ส่งออกขอความเห็นชอบจากกระทรวงพลังงานเพื่อพิจารณาความเหมาะสมเพื่อไม่ให้มีการส่งออกมากเกินไปจนทำให้เอทานอลในประเทศขาดแคลน

กรมสรรพสามิตรแถลงข่าว

แต่เนื่องจากเอทานอลเป็นแอลกอฮอล์หรือสุราสามทับซึ่งถือเป็นสินค้า “สุรา” ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กรมสรรพสามิตเป็นหน่วยงานดำเนินการเรื่องควบคุมการผลิตและจำหน่าย รวมทั้งการให้สิทธิทางภาษี เช่น การพิจารณาอนุญาตตั้งโรงงานเอทานอล การกำหนดคุณสมบัติผู้ขออนุญาต การกำหนดให้มีการจำหน่ายเพื่อเป็นเชื้อเพลิงตามวัตถุประสงค์ด้านพลังงาน การยกเว้นภาษีเอทานอลที่นำไปใช้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง และการยกเว้นภาษีส่งออกเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกเอทานอลในราคาไม่รวมภาษีสรรพสามิต ซึ่งเป็นการส่งเสริมความสามารถด้านการแข่งขันกับต่างประเทศ การควบคุมของกรมสรรพสามิตเพื่อให้เป็นตามวัตถุประสงค์ด้านพลังงานของกระทรวงพลังงาน

โดยในปัจจุบัน มีโรงงานเอทานอล จำนวน 26 โรงงาน กำลังการผลิตประมาณ 7 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งปริมาณการใช้ด้านพลังงานประมาณ 4 ล้านลิตรต่อวัน จึงเห็นว่า ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้แอลกอฮอล์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ มากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด

กระทรวงพลังงานร่วมกับกระทรวงการคลัง จึงเห็นว่าควรมีการอนุญาตให้นำเอทานอลที่เหลือจากการใช้เป็นเชื้อเพลิง อีกวันละประมาณ 3 ล้านลิตร สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยให้กรมสรรพสามิตพิจารณาให้สิทธิทางภาษีสำหรับเอทานอลที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งการกำหนดนโยบายดังกล่าวนอกจากส่งเสริมผู้ผลิตเอทานอลแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมเกษตรการผู้ปลูกอ้อย มันสำปะหลังรวมทั้งสินค้าเกษตรอื่นที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลด้วย โดยกระทรวงพลังงานยังคงบริหารอุปสงค์อุปทานของเอทานอลในประเทศให้มีปริมาณที่เหมาะสมไม่ให้ส่งผลกระทบด้านพลังงานของประเทศต่อไป



ข่าวที่เกี่ยวข้อง :