ไม่พบผลการค้นหา
'ปุ๊ย' บอกว่าการเลือกทำงานสายวิจัยและพัฒนา (R&D) ต่างจากวิศวกรสายโรงงาน ตรงที่เขาสามารถรับงานมาทำที่บ้าน พร้อมทำเกษตรไปด้วยได้

ที่นาจำนวนห้าไร่ถูกเปลี่ยนเป็นสวนกล้วยน้ำว้าที่เพิ่งให้ผลผลิตได้ไม่ถึงหนึ่งปีด้วยมือของ 'ปุ๊ย' หรือ สายธาร ม่วงโพธิ์เงิน โปรแกรมเมอร์สายการวิจัยและพัฒนา (R&D)

เขารับงานเขียนโปรแกรมเป็นฟรีแลนซ์อยู่ที่บ้านมาหลายปีแล้ว เหตุผลหลักของการตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านที่อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม หลังจากเรียนจบปริญญาโทสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คือ อาการเจ็บป่วยของแม่ ที่ตรงกับจังหวะมีงานเขียนโปรแกรมติดต่อเข้ามา โดยผู้จ้างงานบอกว่า งานนี้ทำที่ไหนก็ได้ 


Farmer3.JPG

นอกจากกล้วยน้ำว้าลูกโตแล้ว สิ่งที่น่าสนใจในสวนกล้วยของเขาคือสิ่งประดิษฐ์ชื่อว่า 'เรือรดน้ำ' ที่เขาคิดขึ้นเอง โดยอาศัยเครื่องยนต์เบนซินสองจังหวะ มอเตอร์ โฟม เหล็ก ท่อพีวีซี และกล่องควบคุมที่เขียนโปรแกรมให้กับไมโครคอนโทรลเลอร์เพื่อควบคุมความเร็วของมอเตอร์ให้คงที่ ทั้งหมดนี้รวมกันเป็นเรือรดน้ำ ที่เมื่อติดเครื่องแล้ว สามารถปล่อยให้รดไปรอบ ๆ สวนกล้วยได้เองโดยไม่ต้องสนใจอะไรมากมาย 

“โจทย์ตอนนั้นคือ ทำให้เป็นโรบอท ทำยังไงให้เรากดสวิตช์ปุ๊บแล้วไม่ต้องสนใจ ปล่อยมันไป ให้มันทำงาน”


Farmer4.JPG

หลังจากประเมินความคุ้มทุน การวางระบบสปริงเกลอร์รดน้ำแบบที่สวนอื่นทำ "ยังไม่ใช่คำตอบ" สำหรับปุ๊ย เพราะต้นทุนสูงกว่าหลายเท่า เมื่อถามว่าเทคโนโลยีจะช่วยเกษตรกรรมได้มากแค่ไหน เขาบอกว่า "ช่วยได้มาก" จะทำให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ทั้งหมดเลยก็ได้ แต่สุดท้ายก็ติดเรื่องต้นทุนที่เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถจ่ายได้ ยังไม่นับว่าคนคิดสร้างระบบมีจำนวนไม่มากในประเทศไทย

“ถ้าเป็นสายที่ทำอยู่ คือ สายการวิจัยและพัฒนา (R&D) มีคนทำงานน้อย เพราะประเทศไทยไม่ค่อยมีงาน R&D เป็นประเทศที่คนทำวิจัยน้อย ทำเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ น้อย อีกอย่างค่าตอบแทนของคนทำสายนี้ก็น้อย คนจบวิศวะส่วนใหญ่เลือกทำสายโรงงานมากกว่า”


Farmer2.JPG

ปุ๊ยบอกว่าแม้ความท้าทายของการเลือกเป็นโปรแกรมเมอร์ฟรีแลนซ์ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับเครือข่ายของคนที่รู้จัก แต่ข้อดีคือเมื่อได้เข้ามาทำงานแล้ว การถูกแทนที่ด้วยคนใหม่นั้นเกิดขึ้นได้ยาก เพราะเป็นงานที่มีความเฉพาะ ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้เหมือนกัน

เมื่อถามถึงโครงการต่อไป ปุ๊ยบอกว่าเขาอยากประดิษฐ์เครื่องเจาะลำไผ่ที่ปลูกไว้ท้ายสวน เพื่อเก็บน้ำไผ่ไว้ดื่มกันเองในครอบครัว เนื่องจากเชื่อว่าช่วยขับสารพิษและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ 

หากไม่มีเครื่องมือช่วย เขาจะต้องไปปาดลำไผ่ด้วยตัวเองหลังเที่ยงคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้นไผ่คายน้ำ ถ้าบทบาทหนึ่งของเทคโนโลยีคือการช่วยทำให้ชีวิตของมนุษย์สะดวกสบายขึ้น ฟังเหตุผลที่เขาอยากทำโปรเจ็กต์นี้ก็มีเหตุมีผลอยู่ไม่น้อย

“กว่าน้ำไผ่มันจะหยดลงมา ให้ไปปาดตอนตีหนึ่งตีสอง ใครจะตื่นไป กำลังนอนหลับสบาย จริงไหม”


Farmer5.JPG

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: