ไม่พบผลการค้นหา
ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจครั้งที่ 1/2561 ยังไม่เคาะขึ้นค่ารถเมล์ พร้อมสั่งคมนาคมเร่งการบินไทย-ขสมก.-รฟท. ทำแผนธุรกิจให้เสร็จ กำหนดกรอบเวลาทีโอที-กสท โอนถ่ายทรัพย์สินเข้าบริษัทใหม่ภายใน มี.ค. ปลด 'เอสเอ็มอี แบงก์' ออกจากแผนฟื้นฟูเป็นรายแรก

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เปิดเผยผลการประชุม คนร. ครั้งที่ 1/2561 ว่า วันนี้ยังไม่มีการลงมติขึ้นค่ารถเมล์ จำนวน 2 บาท

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ให้กระทรวงคมนาคมนำกลับไปพิจารณาใหม่อีกครั้ง เพราะถือว่าอยู่ในแผนธุรกิจของหน่วยงาน เพื่อให้สอดรับกันทั้งหมด และให้นำมาเสนอใหม่อีกครั้งในการประชุมครั้งถัดไป

สำหรับการประชุม คนร. ครั้งแรกของปีนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจ 7 แห่งในปีที่ผ่านมา พร้อมกับรับทราบแผนขับเคลื่อนองค์กรระยะยาว แผนปฏิบัติการปี 2561 ตามที่รัฐวิสาหกิจ 7 แห่งเสนอ

ข่าวดี 'เอสเอ็มอี แบงก์' ออกจากแผนฟื้นฟู

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอี แบงก์ ที่ประชุมมีมติให้ ธพว. ออกจากแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรและมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ในฐานะกระทรวงเจ้าสังกัดกำกับติดตามการดำเนินงานต่อไป รวมทั้งสั่งการให้ ธพว. ให้ความสำคัญกับการยกระดับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้สามารถดำเนินการตามภารกิจของ ธพว. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธพว. ได้แก้ไขปัญหาองค์กร โดยมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการจัดทำระบบการทำงาน การกำกับดูแลที่มีมาตรฐาน ช่วยแก้ปัญหาในอดีตและสร้างความยั่งยืนในการประกอบกิจการในอนาคต เช่น การจัดทำระบบการถ่วงดุลอำนาจ ของกระบวนการอำนวยสินเชื่อ ระบบบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน ระบบธรรมาภิบาลในกระบวนการตรวจสอบ และส่งเสริมธนาคารให้เป็นองค์กรคุณธรรม

"ก่อนเข้าแผนฟื้นฟู เอสเอ็มอีแบงก์มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล มากถึง 32,000 ล้านบาท หรือมีสัดส่วน 40% ของสินเชื่อรวม แต่ล่าสุดปีที่ผ่านมา มีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 16,000 ล้านบาท หรือ 16% ขณะที่มีสินเชื่อปล่อยใหม่ 98,000 ล้านบาท ซึ่งมีมากถึง 95% เป็นสินเชื่อวงเงินต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท ตามเป้าหมาย คนร. ที่ต้องการให้ปล่อยกู้เอสเอ็มอีรายเล็ก ซึ่งธนาคารปล่อยสินเชื่อมีวงเงินสินเชื่อเฉลี่ยต่อรายที่ 3.2 ล้านบาท มีเอ็นพีแอล 0.21%" นายเอกนิติกล่าว

ส่ง สนช.แก้ไขกฎหมายเปิดทางเพิ่มทุน 'ไอแบงก์'

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือ ไอแบงก์ ขณะนี้ได้แยกหนี้ดีกับหนี้เสียออกมาได้แล้ว พร้อมกับโอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPF) ในส่วนของลูกค้าที่ไม่ใช่มุสลิมไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์เรียบร้อยแล้ว

อีกด้านหนึ่ง ได้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถปรับโครงสร้างทางการเงินให้แก่ธนาคารฯ และรองรับการสรรหาพันธมิตร ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา

"กรณีไอแบงก์ ต้องบอกว่า ความเสียหายได้เกิดขึ้นไปแล้ว ดังนั้นถ้าดูที่งบดุลแบงก์ ซึ่งมีเงินฝาก หรือ หนี้สิน 1 แสนล้านบาท ส่วนปัญหาในอดีตที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ขณะที่มีสินเชื่อที่ยังดีอยู่่อีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นถ้าปล่อยให้แบงก์นี้ดำเนินการต่อไป ด้วยภาวะหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ รัฐบาลก็ต้องเข้าไปจ่ายเงินอุ้มตลอด ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือ แยกหนี้ดีกับหนี้เสียออกมาก่อน ซึ่งก็ยังไม่พอ จึงต้องมีการเพิ่มทุน และมีการเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ. ไอแบงก์ ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. เพราะการมีทุนเพิ่ม จะทำให้แบงก์มีเงินมาขยายสินเชื่อ ช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มมุสลิมได้เพิ่มขึ้น" นายเอกนิติกล่าว

นอกจากนี้ คนร. ยังได้กำหนดกรอบเป้าหมายการดำเนินงานให้ไอแบงก์มีผลประกอบการเป็นกำไรสุทธิในปี 2561 รวมทั้งให้หาพันธมิตรให้ได้ภายในเดือนมีนาคม 2561 ส่วนการติดตามผู้ทำให้เกิดหนี้เสียแก่แบงก์ก็ต้องมีการติดตามและดำเนินคดีต่อไป

สั่งคมนาคมเร่ง 'การบินไ���ย-ขสมก.-รฟท.' ทำแผนธุรกิจให้เสร็จ

คนร.ได้สั่งการให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. และการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. นำเสนอรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ที่จะทำให้ผลประกอบการไม่ขาดทุน และสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้อย่างยั่งยืน โดยให้เสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาและกำกับการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายต่อไป

ทั้งนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะมีอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Cabin Factor) และการใช้ประโยชน์จากเครื่องบิน (Aircraft Utilization) ดีกว่าค่าเฉลี่ยของคู่แข่ง แต่เนื่องจากธุรกิจด้านการบินมีสภาพการแข่งขันที่รุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบกับการบินไทย ดังนั้น คนร. จึงได้สั่งการให้การบินไทยเร่งนำระบบบริหารรายได้ หรือ Revenue Management System (RMS) และระบบบริหารเครือข่าย หรือ Network Management System (NMS) มาใช้ให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และควบคุมค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายฝ่ายช่าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้และสร้างความสามารถในการแข่งขันของการบินไทย โดยคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยในการให้บริการ

ส่วนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ที่ประชุม คนร. ได้ขอให้ ขสมก. พิจารณากำหนดทิศทางการให้บริการของ ขสมก.ที่ชัดเจนสอดคล้องกับแผนปฏิรูปเส้นทางที่กรมการขนส่งทางบกได้เริ่มดำเนินการแล้ว และเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่นด้วย เช่น รถไฟฟ้า รถไฟ และทางเรือ เป็นต้น และขอให้ ขสมก. พิจารณาเปิดเผยข้อมูลที่ได้รับจากระบบตรวจสอบและติดตามการเดินรถ (GPS) และ/หรือระบบขนส่งมวลชนอื่น เพื่อให้เป็นข้อมูลที่บุคคลทั่วไปสามารถใช้ในการพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อประโยชน์ในการรับบริการของประชาชนได้ (Open Data)

นอกจากนี้ คนร. ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบกกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประมูลผู้ประกอบการเดินรถเส้นทางใหม่และกำหนดประเภทรถที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารและมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการต่อรถในประเทศให้มีส่วนร่วม

สำหรับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ลงนามสัญญาการก่อสร้างทางคู่จำนวน 5 เส้นทางแล้ว โดยคาดว่าจะก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จในปี 2563 พร้อมกันนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อเดินรถและซ่อมบำรุง (Operation & Maintenance) ในโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และบริษัทลูกเพื่อบริหารสินทรัพย์ของ รฟท. ส่วนการจัดทำแผนการขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาว คนร.ได้สั่งการให้ รฟท.พิจารณากำหนดทิศทางการดำเนินการให้สอดคล้องกับภารกิจขององค์กรและภารกิจของกรมการขนส่งทางราง รวมทั้งโครงสร้างของธุรกิจการขนส่งระบบรางในอนาคต นำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน จัดทำฐานข้อมูลทรัพย์สิน และปรับปรุงระบบบัญชีและงบการเงินให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของ รฟท. ได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและ รฟท.เร่งศึกษาต้นทุนมาตรฐานที่มีประสิทธิภาพเพื่อประกอบการพิจารณาราคาค่าโดยสารยุติธรรม โดยให้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้บริการ

"แผนปรับฐานค่ารถ ขสมก. และบริษัท การบินไทย มีการปรับแผนธุรกิจให้ใกล้เคียงกับสายการบินต้นทุนต่ำ หรือ โลว์คอสต์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันนั้น ที่ประชุม คนร.มอบให้กระทรวงคมนาคมที่กำกับดูแลไปพิจารณา เมื่อได้ข้อสรุปอย่างไร ให้มารายงาน คนร. ต่อไป" นายเอกนิติกล่าว

ขีดเส้นทีโอที-กสท ถ่ายโอนทรัพย์สินไปบริษัทใหม่ภายในเดิือน มี.ค.นี้

ส่วน บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หลังจากได้จัดทำแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรระยะ 10 ปีแล้ว คนร. ได้สั่งการให้ ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม สร้างความชัดเจนในการนำดิจิทัลมาใช้เพื่อกำหนดทิศทางการให้บริการ รวมทั้งพิจารณาภารกิจการให้บริการโทรคมนาคมและบริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) ไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน และมีรายละเอียดของแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการให้เทียบเท่าเอกชนด้วย

นอกจากนี้ คนร. ได้สั่งการให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กำกับทีโอทีและ กสท ดำเนินการถ่ายโอนทรัพย์สินที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบกิจการไปยังบริษัท NBN และบริษัท NGDC ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดภายในเดือนมีนาคม 2561 รวมทั้งให้กระทรวงดีอีพิจารณาการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วทั้งของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำซ้อนในการลงทุน  

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. เดิมชื่อ คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีคำสั่ง หัวหน้า คสช. แต่งตั้งเมื่อ 26 มิถุนายน 2557