ไม่พบผลการค้นหา
แอมเนสตี้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงทางการไทย แสดงข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนหลังประเทศไทยรื้อฟื้นและหันกลับมาใช้การประหารชีวิตอีกครั้งหลังจากไม่มีการใช้มานานเกือบ 9 ปี

สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.ยุติธรรม เพื่อกระตุ้นให้ทางการไทยจัดทำข้อตกลงชั่วคราวเพื่อพักใช้การประหารชีวิตอย่างเร่งด่วน และมีมาตราการเพิ่มเติมเพื่อขจัดโทษประหารชีวิตออกจากกฎหมายไทยสำหรับความผิดทุกประเภท

แคทเธอรีน เกอร์สัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 เดือนหลังจากมีการประหารชีวิตเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 9 ปีว่า ทางการไทยต้องตระหนักว่าโทษประหารชีวิตไม่ควรเป็นส่วนหนึ่งของระบบยุติธรรมทางอาญา และต้องยุติแผนการที่จะใช้การประหารชีวิตอีก

ในจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.ยุติธรรมของไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโทษประหารชีวิต หลังมีการประหารชายอายุ 26 ปีด้วยการฉีดยาในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยทารุณ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2561 นับเป็นการประหารชีวิตครั้งแรกตั้งแต่เดือน ส.ค. 2552

แคทเธอรีน กล่าวเสริมว่า ไม่ว่าจะเป็นความผิดแบบใด ไม่ว่าจะเป็นนักโทษคนไหน หรือไม่ว่าจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด ไม่มีเหตุผลใดที่สร้างความชอบธรรมในการใช้โทษประหารชีวิต เพราะถือว่าเป็นการลงโทษที่เลวร้าย และไม่ควรเป็นส่วนหนึ่งของระบบยุติธรรมทางอาญา

“รัฐบาลไทยต้องยืนยันพันธกิจของตนที่มีต่อสิทธิมนุษยชน โดยการทำข้อตกลงชั่วคราวเพื่อพักใช้การประหารชีวิตโดยทันที ซึ่งถือเป็นก้าวย่างแรกที่นำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด เพราะในความเป็นจริงแล้ว โทษประหารชีวิตไม่ได้ส่งผลให้มีการยับยั้งการกระทำความผิด และไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาอย่างถาวรสำหรับญาติของผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม โทษประหารชีวิตไม่ได้เป็นทางออกใดๆ เลย” 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2561 ทางการไทยได้ประหารชีวิตชายวัย 26 ปีที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยทารุณ นับเป็นการประหารชีวิตครั้งแรกตั้งแต่เดือน ส.ค. 2552 ภายหลังงดเว้นการประหารชีวิตมาตั้งแต่ปี 2546 จากตัวเลขของกระทรวงยุติธรรมเมื่อเดือนมี.ค. 2561 ระบุว่า ไทยมีนักโทษประหารอยู่จำนวน 510 คน เป็นผู้หญิง 94 คน ในจำนวนนี้ 193 คนเป็นนักโทษเด็ดขาดที่ผ่านกระบวนการอุทธรณ์คดีหมดสิ้นแล้ว เชื่อว่ากว่าครึ่งหนึ่งของนักโทษเหล่านี้ต้องโทษประหารในคดียาเสพติด

แม้ว่าการใช้โทษประหารชีวิตเชิงบังคับถือเป็นข้อห้ามตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่โทษประหารชีวิตยังเป็นโทษเชิงบังคับสำหรับความผิดหลายประการในประเทศไทย รวมทั้งคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณ โดยความผิดหลายประการที่มีการใช้โทษประหารชีวิต มีลักษณะไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของการเป็น “อาชญากรรมร้ายแรงที่สุด” ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศอนุญาตให้ใช้โทษแบบนี้ได้อย่างจำกัด สำหรับประเทศต่างๆ ที่ยังไม่ยกเลิกโทษประหารเสียทีเดียว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตตามที่ประกาศไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และถือเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

รวมทั้งมีงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใด ๆ กับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอาชญากรรมที่เกิดขึ้น จนถึงปัจจุบัน 106 ประเทศได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทุกประเภท และ 142 ประเทศได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง