ไม่พบผลการค้นหา
ฮิวแมนไรท์วอทช์ออกแถลงการณ์เรียกร้องไทยยกเลิกโทษประหารชีวิต พร้อมระบุว่า การกลับมาใช้โทษประหารถือเป็นความถดถอยครั้งใหญ่ของไทย

ฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรสากลด้านสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ต่อกรณีที่ไทยประหารชีวิตนายธีรศักดิ์ หลงจิ วัย 26 ปีด้วยการฉีดยาในวันที่ 18 มิ.ย.ว่า รัฐบาลไทยควรยุคิการประหารชีวิตนักโทษ และประกาศต่อสาธารณะว่าจะยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางพฤตินัยภายใต้กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ พร้อมยืนยันว่า ฮิวแมนไรท์วอทช์ต่อต้านโทษประหารชีวิตในทุกประเทศและในทุกกรณี เพราะถือเป็น "ความโหดร้ายโดยเนื้อแท้"

การประหารชีวิตนายธีรศักดิ์ถือเป็นการประหารชีวิตนักโทษคนแรกในรอบ 9 ปี หลังจากรัฐบาลเคยประกาศว่าจะยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางพฤตินัยภายใต้กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ซึ่งสหประชาชาติกำหนดว่า ประเทศที่ไม่ประหารชีวิตนักโทษเกิน 10 ปี จะถือว่าเป็นประเทศที่ไม่มีโทษประหารชีวิต

แถลงการณ์ของฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า นี่เป็นการเปลี่ยนใจไม่ทำตามแผนการยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางพฤตินัยที่ไทยทำอย่างต่อเนื่องมาตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมอยู่ในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย

นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า การกลับมาใช้โทษประหารชีวิตถือเป็นความถดถอยครั้งใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของไทย เห็นได้ชัดเจนว่าคำสัญญาที่รัฐบาลไทยให้ไว้หลายครั้งกับนานาชาติว่าจะยกเลิกโทษประหาร ไม่มีความหมายอะไร

นายอดัมส์ยังระบุว่า ความไร้ประสิทธิภาพของโทษประหารในการลดอาชญากรรมเป็นหลักฐานประจักษ์ทั่วโลก และมาตรการที่โหดร้ายนี้ก็ไม่มีพื้นที่อยู่ในสังคมสมัยใหม่ ไทยควรยุติการประหารชีวิตทั้งหมด และยกเลิกโทษประหารชีวิตทันทีให้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย

ด้านกรมราชทัณฑ์ แถลงว่า การประหารชีวิตนายธีรศักดิ์ นักโทษคดีฆ่าชิงทรัพย์เป็นการสะท้อนจุดยืนในการปกป้องสังคมและพลเมืองส่วนใหญ่ให้พ้นจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม แทนที่จะมุ่งเน้น 'สิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่กระทำผิดกฎหมาย' พร้อมส่งสารเตือนว่า ผู้ก่อเหตุอาชญากรรมร้ายแรงจะถูกลงโทษอย่างหนัก

จากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ ปัจจุบันมีนักโทษประหารในไทย 517 คน เป็นชาย 415 คนและหญิง 102 คน โดยส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งฮิวแมนไรท์วอทช์มองว่า ชะตาชีวิตของคนรอการลดโทษเหล่านี้กำลังเสี่ยงถูกประหารชีวิต

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ได้เรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้ประเทศต่างๆ ที่ต้องการยกเลิกโทษประหารในทางพฤตินัย จำกัดการใช้บทลงโทษนี้อย่างจริงจัง และลดจำนวนข้อหาที่มีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต พร้อมกับการมองไปสู่ขั้นตอนการยกเลิกโทษประหาร นอกจากนี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) และผู้เชี่ยวชาญด้านการสังหารนอกกฎหมายของยูเอ็นยังประณามการใช้โทษประหารชีวิตกับคดียาเสพติดอีกด้วย

ที่มา: Human Rights Watch

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: