ไม่พบผลการค้นหา
ผู้นำฝ่ายค้าน อัด พ.ร.บ.งบ 2564 แค่ทำให้เสร็จ ไม่ตอบโจทย์ปัญหาในอนาคต ไม่ทันสถานการณ์ โดยเฉพาะผลกระทบทางเศรษฐกิจ ปัญหาด้านแรงงาน และภาคธุรกิจ

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรกล่าวอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 เป็นคนแรกโดยระบุว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับการบริหารประเทศในแต่ละปี และสำคัญมากขึ้นเป็นทวีคูณ สำหรับการบริหารประเทศในภาวะวิกฤตแบบที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2564 ที่สภากำลังดำเนินการอยู่นี้ จึงต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ละเอียดถี่ถ้วน และต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ และป้องกันมิให้ประโยชน์ ตกอยู่กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง บนความเสียหายของประเทศและประชาชน 

ซึ่งการจัดทำงบประมาณประจำปี จำเป็นอย่างยิ่งต้องจัดทำให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ และสังคมในช่วงเวลานั้นๆ เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ถูกรับมือโดยมาตรการที่รุนแรงเกินกว่าเหตุของรัฐบาล กำลังจะนำประเทศไทยไปสู่อีกวิกฤตหนึ่ง ซึ่งใหญ่โตกว่ามาก นั่นคือวิกฤตเศรษฐกิจ 

การจัดทำงบประมาณในครั้งนี้ จึงมีลักษณะพิเศษที่ต้องพิจารณา นั่นคือต้องสามารถเป็นเครื่องมือรองรับวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังคืบคลานเข้ามาให้ได้ และเห็นว่าในวิกฤตโควิด-19 นี้ กระทบพร้อมกันทุกภาคส่วน ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ จนถึงขนาดเล็ก ตั้งแต่ภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร และกระทบไปทั่วโลกพร้อมกัน และยังกระทบทั้งฝั่งอุปสงค์ที่เกี่ยวข้องกับกำลังซื้อ การส่งออกที่เป็นอัมพาต และอุปทานที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ทั้งหมดทุกอย่างพังพินาศไปพร้อมๆ กัน 

คาดเศรษฐกิจไทย ทรุด 2 ล้านล้านบาท 

แต่ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบน้อยในด้านการระบาดของโรค แต่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจกลับติดอันดับต้นๆ ของโลก นี่เป็นสิ่งที่น่ากังวล อันเกิดจากมาตรการที่ผิดพลาดของรัฐบาล เป็นมาตรการที่มีต้นทุนที่สูงเกินความจำเป็น โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นเบื้องต้น คาดว่าถึงระดับ 2 ล้านล้านบาท โดยล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ GDP ปี 2563 จะหดตัวติดลบ 8.1% ลงลึกกว่าตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอกย้ำความผิดพลาดของรัฐบาลในการรับมือโควิด-19

เรื่องท้าทายสำคัญต่อรัฐบาลในเวลานี้คือ มาตรการรองรับผลกระทบด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ในระยะก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.เกี่ยวกับมาตรการทางการเงินอีก 2 ฉบับ รวมถึง พ.ร.บ. โอนงบ 2563 เพื่อรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ตนคงไม่ลงไปในรายละเอียดของ พ.ร.ก.และพ.ร.บ.ที่ผ่านมา แต่โดยสรุปว่าที่ผ่านมา รัฐบาลใช้มาตรการแบบสักแต่ว่าได้ทำ แต่ไม่มองถึงประสิทธิภาพที่ปลายทาง ที่ผิดพลาดและมีช่องโหว่ และเข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายอยู่มาก

เสถียรภาพหนี้สินพุ่งสูง

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 จะมากหรือน้อย ฟื้นตัวเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่คาถาที่รัฐบาลต้องท่องไว้ 3 อย่าง คือ ป้องกันธุรกิจล้ม รักษาการจ้างงาน ป้องกันผลกระทบที่ลามถึงระบบการเงิน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ธุรกิจล้มกันระนาว แรงงานตกงานมหาศาล และกำลังจะลามถึงสถาบันการเงินในระยะต่อไป หลังหมดมาตรการเยียวยาและพักหนี้ เราจะเห็นเสถียรภาพของระบบธนาคารที่มีปัญหา ถ้าเกิดขึ้นมันคือเรื่องใหญ่ หนี้ภาคเอกชนไม่ได้เพิ่มขึ้นเร็ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ หนี้เสียที่จะพุ่งทะยานขึ้นนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว ผิดพลาดไปแล้ว แก้ไขไม่ทันแล้วแต่ระยะต่อไปคือ เราจะจัดทำงบประมาณอย่างไร เพื่อแก้ไขและบรรเทาผลกระทบต่อความผิดพลาดของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา งบประมาณแผ่นดินเป็นเครื่องมือที่สำคัญ และมีพลังมากในการขับเคลื่อนและปลุกเศรษฐกิจที่กำลังจะหมดลมหายใจ ให้ฟื้นขึ้นมาได้ ถ้าใช้อย่างเข้าใจ

คำถามที่สำคัญ คือ แล้วจะจัดทำงบประมาณอย่างไร ที่รัฐบาลจัดทำมาเป็นคำตอบที่ใช่หรือไม่ โจทย์หลักสำคัญของรัฐบาลที่ต้องท่องคาถาไว้ สำหรับการจัดทำงบประมาณครั้งนี้ คือ ต้องรองรับคนตกงานจำนวนมหาศาลในระยะสั้นได้ ต้องสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะกลางระยะยาวได้ ต้องทำได้เลยทำได้เร็ว งบประมาณสำหรับภาวะวิกฤต หลักคิดต้องแตกต่างจากภาวะปกติ เรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่า ผลกระทบจากโควิด-19 จะลามถึงสถาบันการเงินแค่ไหน และจะกลับมาฟื้นตัวได้หรือไม่ เพราะฉะนั้น โจทย์ 3 ข้อนี้ รัฐบาลต้องท่องให้แม่น และทำให้ได้

แต่งบประมาณ ปี 2564 ฉบับนี้ กลับไม่ได้ตอบโจทย์เหล่านี้เลย ยังคงใช้วิธีการจัดทำงบประมาณแบบเก่าๆ ไม่ได้มีการปรับให้เหมาะกับสภาวการณ์วิกฤต นอกจากนั้นยังยึดโจทย์เดิมๆ ที่ต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณแบบเก่า ไม่ทันต่อสถานการณ์ ไม่ได้ตอบโจทย์ข้างต้น 

งบประมาณ ปี 2564 ยังถูกจัดสรรแบบโบราณ คร่ำครึ มุ่งไปสู่การก่อสร้าง ขุดลอกคูคลอง รวมถึงการจัดอบรมต่างๆ เสมือนทำไปวันๆ ทำตามหน้าที่ไปเรื่อยๆ ตามที่หน่วยราชการเสนอมาตามระบบรัฐราชการ แต่รัฐบาลขาดการมองไปที่ภาพใหญ่กว่านั้น คือ อนาคตของไทยจะก้าวไปในทิศทางไหน จะรองรับธุรกิจที่จะเกิดขึ้นใหม่จากพฤติกรรมผู้บริโภคใหม่อย่างไร สินค้าการเกษตรจะถูกยกระดับอย่างไร เพื่อให้เกษตรสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งการอุดหนุนภาครัฐไปเรื่อยๆ อุตสาหกรรมใดจะเป็นเป้าหมายในระยะ 5 ปีข้างหน้า เราจะเอาประเทศไทยไปอยู่ส่วนไหนของห่วงโซ่อุปทานใหม่ของโลก 

ต้องไม่ถูกใช้แบบตำน้ำพริกละลายน้ำ 

ยิ่งไปกว่านั้น “ทรัพยากรมนุษย์” เป็นสิ่งที่ถูกละเลยมาตลอด และงบประมาณ ปี 2564 ก็ยังขาดแผนเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า หากประชาชนขาดทักษะในการสร้างรายได้ ประเทศไทยไม่มีทางก้าวหลุดพ้นประเทศรายได้ปานกลางได้ อยากฝากไว้ว่างบประมาณควรถูกใช้ไปกับการสร้างทักษะเพื่อสร้างงานที่มีผลผลิตต่อหน่วยสูง เพื่อให้คนไทยมั่งคั่งขึ้นแบบถาวรและยั่งยืน นอกจากนั้น งบประมาณปี 2564 ต้องไม่ถูกใช้ไปแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของพรรคฝ่ายรัฐบาล โดยนโยบายสารพัดแจกเพื่อหวังผลด้านคะแนนเสียงและความนิยม เสมือนเป็นการรีดภาษีประชาชนไปซื้อเสียงล่วงหน้าเพื่อตัวเอง 

งบประมาณ ปี 2564 ไม่ได้ตอบคำถามว่าจะปรับปรุงการรองรับแรงงาน ที่ตกงานจำนวนมหาศาลอย่างไร คนเหล่านี้รัฐบาลมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับอย่างไร จะใช้ภาคส่วนไหนในการรองรับ มีการจัดสรรงบประมาณไปภาคส่วนนั้นอย่างไร งบประมาณ ปี 64 กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายหลังโควิด-19อย่างไร จะใช้อุตสาหกรรมในลักษณะไหน เป็นที่ทราบกันดีว่าพฤติกรรมผู้ผลิตและผู้บริโภคมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากหลังเกิดโควิด-19 อุตสาหกรรมดาวรุ่งเกิดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ด้านความมั่นคงทางอาหาร ด้านการบริการ และด้านอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ รวมถึงการจัดสรรระเบียบโลกใหม่ ห่วงโซ่การผลิตรูปแบบใหม่ รัฐบาลมียุทธศาสตร์แล้วหรือยังว่า ประเทศไทยจะเดินไปทางไหน ก่อนที่จะจัดสรรงบประมาณหว่านไปทั่วแบบเก่าๆ แบบนี้จะไม่ทำให้ประเทศฟื้นตัว และสามารถไขว่คว้าโอกาสที่เกิดจากวิกฤต ได้เลย

สถาบันการเงินส่อล้มระนาว

งบประมาณ ปี 2564 มีแผนรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างไร ณ ปัจจุบัน สิ่งที่งบประมาณต้องเข้าไปดูแลให้มากคือ ด้านอุปสงค์ ด้านกำลังซื้อ ด้านการสร้างงานที่มีผลผลิตต่อหน่วยสูง รัฐบาลมีแผนเหล่านี้อย่างไร หรือแค่คิดตื้นๆ แจกเงินไปเรื่อย เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ งบประมาณ ปี 2564 มีแผนในการรับมือธุรกิจที่ล้มตายจำนวนมากอย่างไร และหากมาตรการเยียวยาหมดอายุลง งบประมาณ ปี 2564 จะรับมือผลกระทบถึงสถาบันการเงินอย่างไร หากมีการผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก จะทำอย่างไรงบประมาณ ปี 2564 มีแผนสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะกลาง เพื่อฟื้นตัวจากโควิด-19 อย่างไร 

รัฐบาลทราบหรือไม่ว่า โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ Mega-Project ที่ทำได้ล่าช้า การจ้างงานในวงแคบ ไม่ใช่คำตอบในช่วงนี้ เพราะให้ผลดีสู้โครงการขนาดเล็กที่กระจายตัวไม่ได้ งบประมาณ ปี 2564 วางแผนการรับมือภาวะราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำอย่างไร มีงบประมาณสำหรับพัฒนาผลผลิตการผลิตต่อหน่วยของเกษตรกรหรือไม่ หรือแค่คิดแบบเดิมๆ ทำแบบเดิมๆ แล้วเกษตรกรก็ยากจนแบบเดิมๆ ต่อไป ซึ่งยังไม่เห็นคำตอบอยู่ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 หากตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ งบประมาณฉบับนี้ก็เรียกได้ว่า “สักแต่ทำให้เสร็จๆ” อีกครั้ง ซึ่งเป็นอันตรายกับประเทศ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตเช่นนี้ หากรัฐบาลไม่สามารถชี้แจงต่อคำถามข้างต้น และหากไม่นำกลับไปแก้ไข ผมไม่อาจจะสนับสนุบงบประมาณฉบับนี้ให้ผ่านไปได้

อ่านเพิ่มเติม