ไม่พบผลการค้นหา
นายกรัฐมนตรี ชี้แจงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2564 ยืนยันใช้จ่ายงบฯ ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างรายได้ในประเทศ ย้ำสถานะการเงินการคลังไทยแข็งแกร่ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลุกขึ้นชี้แจง ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 โดยได้ ไล่เรียง สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ขณะนี้พบว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะติดลบร้อยละ5-6 โดยมีสาเหตุหลักมาจากสงครามทางการค้าและผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการดำเนินมาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางของประเทศต่าง ๆ ทำให้เศรษฐกิจโลก ปริมาณการค้าโลก และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวลดลงรุนแรง ซึ่งส่งผลให้แรงขับเคลื่อนทั้งจากอุปสงค์ต่างประเทศและในประเทศปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการลดลงของระดับความรุนแรงของการระบาดภายในประเทศคาดว่าจะทำให้ภาครัฐสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ ได้ถึงระดับใกล้เคียงภาวะปกติภายในไตรมาสที่ 2 และการลดลงของความรุนแรงของการระบาดในต่างประเทศจะทำให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ สามารถผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ จนถึงระดับใกล้เคียงกับภาวะปกติได้ภายในไตรมาสที่3 ในขณะที่มาตรการควบคุมด้านการท่องเที่ยวคาดว่าจะมีการผ่อนคลายภายในไตรมาสที่ 4 ภายใต้แนวโน้มดังกล่าวคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีปรับตัวลดลงในอัตราที่ช้าลง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกและการเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของภาคการท่องเที่ยว แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ และปัจจัยสนับสนุนจากการผลิตและการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้าและการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ทั้งนี้ เศรษฐกิจภายในปี 2564 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 4.0-5.0 ของจีดีพีในประเทศ เมื่อเทียบกับปี 2563 อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้  หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคไวรัสโควิด-19 มีความยืดเยื้อและมาตรการควบคุมของประเทศต่างๆ ขยายเวลาออกไป หรือปัญหาในภาคการผลิตลุกลามไปสู่วิกฤตทางการเงินการคลังในต่างประเทศ รวมทั้งในกรณีที่มีมาตรการกีดกั้นทางการค้า มีความรุนแรงขึ้น ในขณะเดียวกันมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ กรณีที่การระบาดโควิด-19 สามารถยุติได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2564

ดังนั้น จากการประมาณสถานการณ์ รัฐบาลจะบริหารการเงินการคลังให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และยืนยันว่า สถานการณ์การเงินของไทย อยู่ในสภาวะที่แข็งแกร่ง โดยการจัดทำงบประมาณมีเป้าหมาย เพื่อให้ประชาชนมีเศรษฐกิจดี ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูโควิด-19 ควบคู่กับการสร้างรายได้ของประชาชน โดยแต่ละกระทรวงกำหนดแผนการพัฒนาประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายไทยแลนด์ 4.0 น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนา และเกิดประโยชน์สูงสุด มีความเป็นธรรมทางสังคม มีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่าการใช้งบประมาณ และมีประสิทธิภาพ ขับเคลื่อนการดำเนินงานไม่ซ้ำซ้อน และดำเนินภารกิจที่สอดคล้อง บรรเทา เยียวยาประชาชน ในช่วงโควิด-19  

สำหรับงบประมาณ ปี 2564 วงเงิน 3,300,000ล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ 267,700 ล้านบาทและเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล งบประมาณจำนวน 623,000 ล้านบาท รวมเป็นรายรับทั้งสิ้น 3 ล้าน 3 แสนล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย ทั้งนี้สถานะหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 31 มี.ค.2563 มีจำนวนประมาณ กว่า 7 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.7 ของจีดีพี ซึ่งอยู่ในกรอบบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมาย ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 60 ส่วนสถานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 30 เม.ย.2563 มีจำนวน กว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 3.8 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

นายกฯ ยังได้แจกแจงวงเงินงบฯ รายจ่ายประจำปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ว่า เป็นการดำเนินนโยบายแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2,677,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีก จำนวน 623,000 ล้านบาท วงเงินงบประมาณดังกล่าวจำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,526,131.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 76.5 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน จำนวน 674,868.2 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20.5 ของวงเงินงบประมาณ และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 99,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.0 ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งอยู่ภายในกรอบวินัยการเงินการคลัง ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ซึ่งประกอบด้วย ด้านความมั่นคง ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรของสิ่งแวดล้อม ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ