ไม่พบผลการค้นหา
ความเปลี่ยนแปลงในกองทัพ โดยเฉพาะ ทบ. เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ ‘ความเป๊ะ’ ที่ทหารต้องมีมากขึ้น ทั้งการยึดถือวินัยทหารและภาพลักษณ์ทหาร เช่น การประพฤติตัว กิริยาต่างๆ การแต่งกาย ที่เข้มข้นตั้งแต่ยุค พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท เป็น ผบ.ทบ. ต่อเนื่องมาถึงยุค พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ที่เป็น ‘ต้นแบบความเป๊ะ’ ให้กำลังพลได้ปฏิบัติตามด้วย รวมทั้งมี ‘บทลงโทษ’ สำหรับผู้ฝ่าฝืน

ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. มีคำสั่งแจ้งไปยังระดับผู้บังคับกองพัน ผู้บังคับกองร้อย หัวหน้าฝ่ายอำนวยการขอให้กำชับผู้ใต้บังคับบัญชา ขณะสวมเครื่องแบบทุกชนิด กับท่าต้องห้าม 6 ท่า ได้แก่ 1.กุมมือ 2.กอดอก 3.ล้วงกระเป๋า 4.เท้าสะเอว 5.ไขว้หลัง 6.ไขว่ห้าง

รวมถึงการติดเครื่องหมายแสดงความสามารถ ห้ามซื้อมาติดเอง ต้องสำเร็จตามหลักสูตรจริงเท่านั้น 

อีกทั้งงดใส่แหวน สายสิญจน์หรือสร้อยข้อมือ ส่วนการสวมนาฬิกาสามารถใส่ได้ แต่ต้องไม่สีฉูดฉาดหรือใส่เพื่อแสดงถึงฐานะ รวมถึงสร้อยคอก็สามารถสวมได้ แต่ต้องไม่สั้นขึ้นมาให้เห็นอยู่บนเสื้อ และต้องไม่ใส่เพื่อแสดงถึงฐานะเช่นกัน

ทั้งนี้ผู้บังคับบัญชาในกรมจะไม่ลงไปตรวจที่หน่วยแบบจ้องจับผิด แต่หากตรวจพบโดยบังเอิญ จะถือว่าผู้บังคับบัญชาโดยตรงของกำลังพลนั้น ปล่อยปละละเลย สำหรับกำลังพลที่กระทำผิดระเบียบจะส่งไปเข้าฝึกทบทวน และให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงเป็นผู้ฝึก

ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมนอกรั้ว ทบ. ตามมาถึงระเบียบที่เข้มงวดเช่นนี้ จากนั้นทาง ทบ. ได้ออกมาระบุว่าข่าวดังกล่าวเป็น ‘เฟกนิวส์’ 

โดย พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก ทบ. ชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ผบ.ทบ.ไม่ได้มีสั่งการใดๆ โดย ทบ. มีระเบียบการแต่งกาย - การประพฤติตน ขณะสวมเครื่องแบบทหารเป็นภาพรวม ‘ไม่ได้มีคำสั่งเฉพาะเจาะจง’ ในเรื่องใด โดยการแต่งเครื่องแบบต้องเป็นไปตามระเบียบ แบบธรรมเนียม เหมาะสมกับสถานที่ราชการ ซึ่ง ผบ.ทบ. มีนโยบายและได้กำชับหน่วยงานของ ทบ. อยู่เสมอ ให้กำลังพลแต่งกายตามระเบียบอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้มีรายงานอีกว่า คำสั่งเรื่อง 6 ท่าต้องห้ามนั้น ไม่ได้เป็นคำสั่งใหม่ แต่เป็นแบบธรรมเนียมเดิมของ ทบ. ที่มีอยู่แล้ว แต่ที่ปรากฏเป็นข่าวเพราะมีการนำมาย้ำเตือนกำลังพลอีกครั้ง โดยสรุปความจากที่ ผบ.ทบ. กำชับผู้บังคับบัญชาด้วยวาจาให้กำชับกำลังพล เรื่องการประพฤติตนขณะสวมเครื่องแบบทหาร หลัง ผบ.ทบ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของทหารในพื้นที่ต่างๆ

ทหาร สวนสนาม กองทัพ กระทรวงกลาโหม C00395.jpg

อย่างไรก็ตามระเบียบของ ทบ. ที่เข้มงวดก็มีผล 2 ด้าน ได้แก่ ระเบียบที่เข้มงวดนี้ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจสมัครรับราชการทหารของบุคคลพลเรือน เป็นต้น

แต่อีกด้านระเบียบที่เข้มงวดเช่นนี้ ก็ทำให้ได้ ‘คัดกรองบุคคล’ ที่จะมาเป็นทหารเช่นกัน เพื่อป้องกัน ‘การสร้างอิทธิพล’ผ่านเครื่องแบบ รวมทั้งป้องกันผู้ใช้เครื่องแบบทหารไปแสวงหาประโยชน์ต่างๆ ไปในตัวด้วย 

ซึ่งความเป็นทหารนั้น ‘ระเบียบวินัย’ และ ‘ร่างกายที่แข็งแรง’ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่แพ้ ‘ความรู้-ความสามารถ’ ในการทำงานหน้าที่ต่างๆ ที่กองทัพให้ความสำคัญ เพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังพลให้รอบด้าน

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ พล.อ.อภิรัชต์ ได้มีนโยบายตั้ง ‘ศูนย์ธำรงวินัย’ ของ ทบ. ขึ้นมา โดยตั้งผ่านมณฑลทหารบกที่ครอบคลุมทุกจังหวัด ซึ่งบางมณฑลทหารบกจะดูแลพื้นที่หลายจังหวัด 

อีกทั้งแต่ละกองทัพภาคจะมี ‘ศูนย์ธำรงวินัยกลาง’ ขึ้นมาคุมอีกชั้น เช่น กองทัพภาคที่ 1 คือ พล.ม.2 รอ. , กองทัพภาคที่ 2 คือ มณฑลทหารบกที่ 21 เป็นต้น เพื่อ ‘ปรับปรุงวินัยทหาร’ ไม่ให้มีการกระทำผิดซ้ำ รวมทั้งป้องกันการปกปิดความผิดกันเองด้วย

โดยศูนย์ธำรงวินัย ทบ. จะใช้ปรับปรุงวินัยทหารทุกชั้นยศตั้งแต่ ‘นายพล’ ถึง ‘จ่า-นายสิบ’ ไม่มีแบ่งแยก โดยผู้ที่ถูกปรับปรุงวินัยจะสวมชุดสนามและหมวกสีแดง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าถูกลงโทษ โดยล้อมาจากแบบแผนของทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ทม.รอ.) ในโรงเรียนวังทวีวัฒนา หรือที่เรียกว่า ‘ทหารคอแดง’

แต่ศูนย์ธำรงวินัย ทบ. จะแยกออกจาก ‘ทม.รอ.’ อย่างชัดเจน โดยเฉพาะหลักสูตรที่ใช้ปรับปรุงวินัย โดยของ ศูนย์ธำรงวินัย ทบ. ได้มีการกำหนดหลัดสูตรขึ้นมาใหม่ 

อภิรัชต์

ภายหลังการถูกลงโทษตามกฎการลงทัณฑ์ 5 สถาน ตามฐานความผิด พ.ร.บ. วินัยทหาร ได้แก่ 

1. ภาคทัณฑ์หรือให้ทำทัณฑ์บนไว้ 

2. ทัณฑกรรม คือ ให้กระทำการสุขา การโยธา อยู่เวรยามนอกจากหน้าที่ประจำ 

3. กัก คือ กักตัวไว้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งตาม แต่จะกำหนดให้ 

4. ขัง คือ ขังในที่ควบคุมแต่เฉพาะคนเดียวหรือรวมกันหลายคนแล้วแต่คำสั่ง 

5.จำขัง คือ ขังโดยส่งไปฝากให้อยู่ในความควบคุมของเรือนจำทหาร

เมื่อพ้นจากการลงโทษ ‘ทัณฑ์ 5 สถาน’ ก็จะเข้าสู่ศูนย์ธำรงวินัย ทบ. ในการเข้ารับการปรับปรุงวินัย เช่น การฝึกท่ามือเปล่า , การฝึกท่าอาวุธ , การฝึกเรียกแถว , การฝึกออกกำลัง , การแบกเป๊ทหารพร้อมเครื่องสนาม เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาก็มี ‘นายทหาร’ ถูกปรับปรุงวินัยแล้ว

ก่อนหน้านี้ ทบ. ได้มีการติดป้ายดูกันเองภายในหน่วย ในลักษณะเช่นเดียวกับ 6 ท่าต้องห้าม แต่เป็นเรื่อง ‘วินัยทหาร 9 ข้อ’ เพื่อให้กำลังพลตระหนักอยู่เสมอ ได้แก่

1. ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน 

2. ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย 

3. ไม่รักษามรรยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของทหาร

4. ก่อให้แตกความสามัคคีในคณะทหาร 

5. เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ 

6. กล่าวคำเท็จ 

7. ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร 

8. ไม่ตักเตือนสั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ 

9. เสพเครื่องดองของเมาจนถึงเสียกิริยา

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นใน ทบ.ล่าสุด จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ที่จะมีการ ‘กำชับย้ำเตือน’ กำลังพลให้ตระหนักในเรื่อง ‘ระเบียบวินัย’ ออกมา จึงทำให้กำลังพลในยุคนี้ต่างๆระมัดระวังตัวเองอยู่เสมอ ทั้งขณะอยู่ในและนอกเครื่องแบบ ในสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะ

รวมทั้งพื้นที่ในโซเชียลฯ อีกทั้งทำให้ทหาร ‘โลว์โปร์ไฟล์’ ตัวเองมากขึ้นในยุคนี้ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog