ไม่พบผลการค้นหา
ความเปลี่ยนแปลงของกองทัพช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เห็นได้จากบุคลิกภาพที่ทหารเปลี่ยนไป โดยเฉพาะทรงผมที่ ‘ข้างขาว 3 ด้าน’ ผมข้างบนยาวไม่เกิน 3 เซนติเมตร ส่วนทหารหญิงต้องไม่ยาวประบ่าหรือต้องรวบเก็บขมวดให้เรียบร้อย

อีกทั้งการแต่งกายและความประพฤติที่มีระเบียบชัดเจน ในขณะสวมใส่เครื่องแบบทั้งในและนอกสถานที่ทางทหาร ตาม พ.ร.บ.เครื่องแบบทหาร พ.ศ.2477 และกฎกระทรวงว่าด้วยเครื่องแบบทหารบก ฉบับที่ 80 พ.ศ. 2552 รวมทั้งการใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ ที่จะต้องไม่ทำให้ภาพลักษณ์ทหารเสียหาย ทั้งหมดนี้เพื่อให้ทหารเป็นแบบอย่างให้กับผู้คนในสังคม และเป็นพื้นฐานในการจัดแถวทหารให้เป๊ะ จุดเริ่มต้นของการคุม ‘ทหารแตกแถว’

ที่ผ่านมาสิ่งที่ทหารใช้ป้องกันการกระทำผิดระเบียบ ขณะอยู่ในเครื่องแบบ คือ การหลีกเลี่ยงการสวมเครื่องแบบทหารไปพื้นที่นอกพื้นที่ทหาร เช่น ช่วงพักกลางวัน จะอยู่ในที่ตั้งหน่วยทหารเป็นหลัก โดยเฉพาะการนั่งรวมกลุ่มพักดื่มกาแฟ จะหลีกเลี่ยงการไปพื้นที่ภายนอกหน่วยทหาร เห็นได้จากทุกหน่วยทหารจะมีร้านกาแฟจำหน่าย หลังเลิกงานกำลังพลส่วนใหญ่จะเปลี่ยนเครื่องแบบเป็นชุดปกติแบบพลเรือนเพื่อไปตามสถานที่ต่างๆแทน เป็นต้น

ล่าสุด พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ได้มีนโยบายตั้ง ‘ศูนย์ธำรงวินัย’ ของ ทบ. ขึ้นมา โดยตั้งผ่าน ‘มณฑลทหารบก’ ทั่วประเทศ ซึ่งจะครอบคลุมทุกจังหวัด โดยบางมณฑลทหารบกก็จะดูแลพื้นที่หลายจังหวัดด้วย อีกทั้งในแต่ละกองทัพภาคจะมี ‘ศูนย์ธำรงวินัยกลาง’ ขึ้นมาคุมอีกชั้น เช่น พื้นที่กองทัพภาคที่ 1 คือ พล.ม.2 รอ. เป็นต้น เพื่อ ‘ปรับปรุงวินัยทหาร’ ไม่ให้มีการกระทำผิดอีก รวมทั้งป้องกันการปกปิดความผิดที่เกิดขึ้นของทหาร ไม่ให้เข้าสำนวนที่ว่า ‘ลูบหน้าปะจมูก’

โดยในรั้ว ทบ. ได้มีการติดประกาศตามหน่วยต่างๆ เพื่อเตือนใจกำลังพลในเรื่อง ‘วินัยทหาร 9 ข้อ’ ได้แก่ 1. ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน 2. ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย 3. ไม่รักษามรรยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของทหาร 

4. ก่อให้แตกความสามัคคีในคณะทหาร 5. เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ 6. กล่าวคำเท็จ 7. ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร 8. ไม่ตักเตือนสั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ และ 9. เสพเครื่องดองของเมาจนถึงเสียกิริยา

ทหาร กองทัพ กระทรวงกลาโหม สวนสนาม SC00146.jpg

ทั้งนี้ ‘วินัยทหาร 9 ข้อ’ จะมีบทลงโทษตาม พ.ร.บ.วินัยทหาร พ.ศ.2476 ได้แบ่งการลงโทษออกเป็น 5 ทัณฑ์ ได้แก่ 1.ภาคทัณฑ์ คือ ผู้กระทำผิดมีความผิดอันควรต้องรับทัณฑ์สถานหนึ่งสถานใดใน 5 สถาน แต่มีเหตุอันควรปราณี จึงเป็นแต่แสดงความผิดของผู้นั้นให้ปรากฏ หรือให้ทำทัณฑ์บนไว้

2. ทัณฑกรรม คือ ให้กระทำการสุขา การโยธา ฯลฯ เพิ่มจากหน้าที่ประจำซึ่งตนจะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว หรือปรับให้อยู่เวรยามนอกจากหน้าที่ประจำ

3. กัก คือ กักตัวไว้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งตามแต่จะกำหนดให้

4. ขัง คือ ขังในที่ควบคุมแต่เฉพาะคนเดียวหรือรวมกันหลายคนแล้วแต่คำสั่ง

และ 5.จำขัง คือ ขังโดยส่งไปฝากให้อยู่ในความควบคุมของเรือนจำทหาร

ดังนั้นการตั้ง ‘ศูนย์ธำรงวินัย’ จึงมีการกำหนด ‘หลักสูตร’ ขึ้นมาเฉพาะ โดยภายหลังการถูกลงโทษตาม 5 ทัณฑ์เบื้องต้นแล้ว จึงจะมาเข้าศูนย์ธำรงวินัยต่อไป โดยมีการกำหนดการฝึกที่ชัดเจนตั้งแต่ตื่นนอนถึงเข้านอน หรือที่เรียกว่า ‘การปรับปรุงวินัย’ เช่น การฝึกท่ามือเปล่า การฝึกท่าอาวุธ การฝึกเรียกแถว การฝึกออกกำลัง การแบกเป๊ทหาร พร้อมเครื่องสนาม เป็นต้น

โดยจุดประสงค์สำคัญคือป้องกันการ ‘กระทำผิดซ้ำ’ อีก ให้ตระหนักถึงสิ่งที่ได้กระทำผิดลงไป ให้เกรงกลัวต่อการถูกลงโทษ โดยศูนย์ธำรงวินัยนี้จะใช้กับกำลังพลทุกนาย ตั้งแต่ ‘นายพล’ ถึง ‘จ่า - นายสิบ’ ไม่มีแบ่งแยก

ทดสอบสมรรถภาพ ทหาร ออกกำลังกาย

ทั้งนี้ก่อนเข้ารับการ ‘ปรับปรุงวินัย’ จะมีการตรวจสุขภาพ ‘ผู้เข้ารับการฝึก’ จากนั้นจะดูหลักเกณฑ์ว่าจะต้องฝึกสิ่งใดบ้างและเป็นระยะเวลากี่วัน โดย ‘ศูนย์ธำรงวินัย’ แต่ละมณฑลทหารบก จะมีผู้ควบคุมหรือครูฝึกรวม 8 นาย แบ่งเป็นนายทหารและนายสิบ โดยจะมีระเบียบการปรับปรุงวินัยที่ชัดเจน เพื่อป้องกันอันตรายหรือการใช้ความรุนแรงต่างๆ เพราะการฝึกวินัยทหารถูกจับตามองจากสังคมภายนอก โดยเฉพาะการป้องกันการละเมิดสิทธิ์ต่างๆ และถูกใช้ ‘ผลิตซ้ำ’ ถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรั้วทหาร และเป็นสิ่งที่ฝ่ายการเมืองที่ตรงข้ามกับกองทัพใช้ในการดิสเครดิตด้วย

พร้อมกันนี้ในเบื้องต้นการปรับปรุงวินัยที่ศูนย์ธำรงวินัยถือเป็นเรื่องของ‘ตัวบุคคล’ที่กระทำผิดเท่านั้น จะไม่เกี่ยวข้องกับ ‘ผู้บังคับบัญชาโดยตรง’ ที่อยู่เหนือขึ้นไป

ทั้งหมดนี้เพื่อไม่ให้มีความหย่อนยานในการลงโทษทั้ง 5 ทัณฑ์

เพราะที่ผ่านมาเกิดการกระทำผิดซ้ำ เหตุเพราะการลงโทษทั้ง 5 ทัณฑ์ ไม่ได้ทำให้เกิดความเกรงกลัว เช่น การถูกกักบริเวณ ก็อยู่เพียงในพื้นที่นั้นๆ เมื่อครบกำหนดเวลาก็ออกมาใช้ชีวิตตามปกติ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อแยกการปรับปรุงวินัย ทบ. ระหว่าง ‘กำลังพลปกติ’ กับ ‘ทหาร ทม.รอ.’ ออกจากกันอย่างชัดเจน

ท่ามกลางช่วงเวลาที่ ‘กองทัพ’ ตกเป็นเป้าหลายมิติ ทั้งมิติทั้ง ‘เป้าทางทหาร’ เช่น การใช้งบประมาณ นโยบายต่างๆ การแสดงออกทางวินัยทหาร เป็นต้น มาพร้อมกับการเป็น ‘เป้าทางการเมือง’ ของ ทบ. ในยุคที่ ผบ.ทบ. ยังคงชื่อ พล.อ.อภิรัชต์ ที่ขยับเมื่อใด ก็เป็นกระแสได้เสมอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog