ไม่พบผลการค้นหา
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล แนะ กกต.พิสูจน์เจตนาและลักษณะบริษัทกรณีนักการเมืองถือหุ้นสื่อให้ชัดเจน ก่อนส่งศาลตัดสิน พร้อมระบุว่า หากเป็นคดีอาญา ต้องยึดเจตนาเป็นหลัก

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.มีมติแจ้งข้อกล่าวหา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มีลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. กรณีถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดียจำกัดว่า การโอนหุ้นตามกฎหมายแพ่งและพานิชย์ ให้แจ้ง 2 วิธี คือทำหนังสือสัญญาลงทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นวาระไปกับแจ้งต่อกระทรวงพานิชย์เป็นระยะหรือรวมส่งเป็นรายปี โดยเฉพาะการโอนระหว่างคนในครอบครัวจะทำอย่างหลังเป็นเรื่องปกติ

แต่หากผู้โอนหุ้นต้องการใช้ยืนยันสถานะผู้ถือหุ้นกับบริษัทภายนอกหรือทำธุรกรรมอื่นๆ ก็จะยึดการแจ้งกระทรวงพานิชย์เป็นหลักอ้างอิงความสมบูรณ์ ซึ่ง กกต.ยึดกรณีหลังนี้ และเคยมีคำพิพากษาจากศาลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม หากเป็นคดีอาญาจะต้องดูเจตนาเป็นหลัก โดยเฉพาะได้ใช้บริษัทดังกล่าวช่วยหาเสียงหรือโจมตีฝ่ายตรงข้ามหรือไม่ แต่ไม่ขอก้าวล่วงการตัดสินของศาลในอนาคต

ส่วนกรณีผู้สมัคร ส.ส.และนักการเมืองถือหุ้นในบริษัทรายอื่นๆ รวมถึง อดีตผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร พรรคอนาคตใหม่ ที่ขาดคุณสมบัติตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งใช้แบบฟร์อมมาตรฐานจดทะเบียนวัตถุประสงค์บริษัทที่ครอบจักรวาล โดยข้อ 43 ระบุการโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วย แม้เป็นบริษัทเกี่ยวกับการก่อสร้างที่ยังไม่ได้ประกอบกิจการก็ตาม โดยนายธีระชัย ยืนยันว่า ลักษณะการจดทะเบียนบริษัทเช่นนี้เป็นเรื่องปกติ และมีเป็นหลายแสนบริษัทที่ไม่ได้ทำธุรกิจสื่อ แต่ถูกระบุในวัตถุประสงค์การจัดตั้ง

นายธีระชัย เห็นว่า กกต.ควรสืบความและตรวจสอบข้อเท็จจริงการถือหุ้นและลักษณะการประกอบกิจการว่า ได้ใช้สื่อเพื่อประโยชน์ทางการเมืองจริงหรือไม่ ก่อนส่งให้ศาลตัดสิน ซึ่งหากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว หลายกรณีอาจยุติเรื่องโดยไม่ถึงชั้นศาล หากพบว่า ผู้สมัคร ส.ส.มีเจตนาที่จะโอนหุ้นแล้วอย่างกรณีนายธนาธร หรือ ไม่มีเจตนาประกอบธุรกิจสื่ออย่างการจดทะเบียนบริษัททั่วไป กรณีอดีตผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร ของพรรคอนาคตใหม่และอื่นๆไม่เช่นนั้นจะนำสู่การร้องเรียนกันไปมาระหว่าง ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

นายธีรชัย กล่าวด้วยว่า กกต.จะไม่โดนคดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เพราะเป็นอำนาจของ กกต.ที่จะดำเนินการกับผู้สมัคร ส.ส.ได้ โดยมีกฎหมายหลายฉบับและหลายมาตรารับรองไว้ แต่ควรรอบคอบในการส่งเรื่องให้ศาล และหากเป็นเรื่องคุณสมบัตรผู้สมัคร ส.ส.ก็อาจตัดสินง่าย แต่หากเอาผิดเกี่ยวกับการทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิยุติธรรมหรือเป็นคดีอาญา ก็จะดูเจตนาผู้ถูกกล่าวหาเป็นหลักและเรื่องจะจบยากกว่า

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังระบุถึง การห้ามนักการเมืองครอบงำสื่อหรือใช้เป็นเครื่องมือเป็นเรื่องที่ดี ขณะที่การเมืองไทยยังไม่มีความแน่นอน ซึ่งสื่อมวลชนส่งผลต่อกระแสการเมืองแต่ละฝ่าย และแต่ละสำนักมีจุดยืนทางการเมืองของตัวเองเช่นเดียวกับผู้บริโภคสื่อ รวมถึงสื่อออนไลน์ที่แพร่หลายและวิจารณ์ฝ่���ยตรงข้ามอย่างเต็มที่ด้วยนั้น ซึ่งเป็นลักษณะนี้ทั่วโลก ดังนั้นการมีข้อห้ามหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เข้มข้นเป็นพิเศษเกินไปก็จะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมยุคปัจจุบัน