ไม่พบผลการค้นหา
ถือเป็นภาพสะท้อนการต่อยอดธุรกิจและนวัตกรรมสุขภาพ หลังสื่อต่างชาติหลายสำนักระบุ 'ดีเอ็นเอนัดจ์' สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีที่ 'อดีตนายกฯ ทักษิณ' ร่วมลงทุน ได้รับเลือกจากรัฐบาลอังกฤษให้ผลิตชุดตรวจโควิด-19 หลายล้านชุด มุ่งคัดกรองผู้ติดเชื้อ บรรเทาภาระ จนท. ก่อนไข้หวัดตามฤดูกาลระบาดซ้ำเติม

รัฐบาลสหราชอาณาจักร เผยตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ได้รับการยืนยันผลตรวจทั่วประเทศในวันที่ 3 ส.ค. 2563 มีจำนวน 305,623 ราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 46,210 ราย โดยแบ่งเป็นผู้เสียชีวิตในอังกฤษ 41,598 ราย สกอตแลนด์ 2,491 ราย เวลส์ 1,565 ราย และไอร์แลนด์เหนือ 556 ราย 

ก่อนหน้านี้ 'บอริส จอห์นสัน' นายกรัฐมนตรี เคยยืนยันว่ารัฐบาลอังกฤษจะไม่ตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ให้แก่ผู้ที่ไม่เข้าข่าย 'ต้องสงสัย' ว่าป่วยหรือติดเชื้อ เนื่องจากไม่มีเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เพียงพอ แต่หลังจากจอห์นสันเป็นผู้ติดเชื้อเสียเอง ก็ได้ประกาศยกระดับมาตรการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั่วประเทศ โดยระบุว่าการคัดกรองอย่างรวดเร็วจะช่วยป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

รัฐบาลอังกฤษจึงได้ตั้งงบประมาณจัดซื้อจัดหาชุดตรวจโควิด-19 แบบเร็ว เพื่อนำไปใช้ในสถานพยาบาลทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าจะตรวจคัดกรองให้ได้ 500,000 รายในเดือน ส.ค. เพื่อนำคนป่วยเข้าสู่ระบบกักตัวหรือรักษาพยาบาลโดยเร็วที่สุด

  • ทวิตเตอร์กระทรวงสาธารณสุขและการดูแลสังคม เผยแพร่ข่าวชุดตรวจแบบเร็ว

2 บริษัทเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาลอังกฤษเพื่อผลิตชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบรู้ผลเร็ว (rapid test) ได้แก่ บริษัท ดีเอ็นเอนัดจ์ (DnaNudge) ร่วมก่อตั้งโดย 'คริส ทาวมาโซ' กับ 'มาเรีย คาร์เวลา' และบริษัท แลมพอร์ จำกัด (LamPORE) ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ในสังกัดมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด


รัฐผนึกกำลังเอกชน ดันชุดตรวจแบบด่วนๆ

สำนักข่าว BBC, The Guardian, FT, Daily Mail และ Yahoo News รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ 'แมต แฮนค็อก' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษ ที่ระบุว่าชุดตรวจโควิด-19 แบบรู้ผลเร็วจะเป็นเครื่องมือ 'ช่วยชีวิต' ประชาชนได้

สิ่งสำคัญอีกประการที่ทำให้รัฐบาลอังกฤษผลักดันการใช้ชุดตรวจคัดกรองแบบเร็ว เพราะต้องการแบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญบางส่วนประเมินว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศอาจรุนแรงขึ้นช่วงฤดูหนาว เพราะจะถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์โรคหวัดระบาดตามฤดูกาลปกติ

ชุดตรวจโควิด-19 แบบเร็วของทั้ง 2 บริษัท มีจุดเด่นที่การใช้วิธีตรวจแบบสวอบ (swab) โดยจะเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกและคอ รวมถึงน้ำลาย ก่อนจะประมวลผลออกมาภายในเวลา 90 นาที ขณะที่ชุดตรวจคัดกรองแอนติบอดีที่ใช้วิธีเจาะเลือดและส่งไปยังห้องแล็บ กว่าจะรู้ผลต้องใช้เวลานานกว่ามาก ประมาณ 24 ชม.จนถึง 4 วัน

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Daily Mail อ้างอิงแหล่งข่าวที่เป็นรัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้องกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสหราชอาณาจักร ระบุว่า รัฐบาลได้สั่งซื้อเครื่องผลิตชุดตรวจโควิดแบบเร็ว จำนวน 5,000 ชุดจาก 'ดีเอ็นเอนัดจ์' พร้อมตั้งเป้าว่าจะผลิตชุดตรวจให้ได้ประมาณ 5.8 ล้านชุด โดยเริ่มจากเดือน ก.ย.นี้เป็นต้นไป 

ขณะที่ข้อมูลจากฝั่ง 'ดีเอ็นเอนัดจ์' เปิดเผยมูลค่าการซื้อขายเครื่องผลิตชุดตรวจแบบเร็วเป็นเงินราว 161 ล้านปอนด์ (ประมาณ 6,440 ล้านบาท)


DnaNudge เกี่ยวกับ 'อดีตนายกฯ ทักษิณ' อย่างไร?

เมื่อเดือน ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา อดีตนายกรัฐมนตรี 'ทักษิณ ชินวัตร' ปรากฏตัวพร้อมกับอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่งานแสดงผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ CES 2020 (Consumer Electronics Show 2020) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา โดยระบุว่าเป็นการเดินทางไปร่วมเปิดตัว DnaNudge ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ร่วมลงทุนไว้กับ 'ศาสตราจารย์คริส ทาวมาโซ' และ 'มาเรีย คาร์เวลา' พร้อมด้วยทีมวิจัยในสังกัด 'อิมพีเรียลคอลเลจ' ของอังกฤษ

อดีตนายกฯ อธิบายว่า 'ดีเอ็นเอนัดจ์' ต่อยอดมาจากเทคโนโลยีการตรวจ DNA ผสมผสานกับการใช้ชิปขนาดเล็กเพื่อประมวลผลและวิเคราะห์อาหารการกินที่เหมาะสมกับสุขภาพของแต่ละบุคคล

"ผลวิเคราะห์ที่ได้จะช่วยให้ผู้ใช้งานค้นหาอาหารที่เหมาะกับ DNA ของแต่ละคน เป็นการศึกษาและวิเคราะห์เฉพาะตัว ให้เราไม่เจ็บไข้ได้ป่วย และแข็งแรงจากการกินอาหาร ไม่ต้องรอไปหาหมอตอนป่วย" อดีตนายกฯ ทักษิณกล่าวในโพสต์ IG ส่วนตัว

ขณะที่เว็บไซต์ของดีเอ็นเอนัดจ์ ระบุว่า การตรวจดีเอ็นเอและประมวลผลเกี่ยวกับอาหารที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลจะดำเนินการผ่านอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กำไลอิเล็กทรอนิกส์และแอปพลิเคชันประมวลผลผ่านสมาร์ตโฟน ไม่ต้องส่งไปตรวจถึงห้องแล็บ และสามารถแบ่งปันผลการวิเคราะห์ให้สมาชิกในครอบครัวรับทราบ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารและการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ

ส่วนการผลิตชุดตรวจโควิด-19 แบบเร็วของดีเอ็นเอนัดจ์นั้น 'ศ.คริส ทาวมาโซ' ระบุว่า เริ่มดำเนินการขั้นทดลองมาตั้งแต่เดือน มี.ค. หลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่าสถานการณ์โรคโควิด-19 เป็นการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลก และชุดตรวจโควิดแบบเร็วคือการต่อยอดนวัตกรรมการตรวจดีเอ็นเอไปสู่เครื่องมือตรวจคัดกรองผู้ป่วย


ชุดตรวจแบบเร็ว แม่นยำแค่ไหน?

เว็บไซต์ The Guardian รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ 'จอน ดีกส์' ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาของมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ซึ่งยังสงสัยในความแม่นยำของผลตรวจแบบเร็วว่ามีสัดส่วนเท่าใดเมื่อเทียบกับผลที่คลาดเคลื่อน เพราะไม่ได้มีการเผยแพร่เอกสารวิชาการที่เกี่ยวข้องสู่สาธารณะ

AFP-ห้องทดลอง แล็บ นักวิทยาศาสตร์ สว็อบ ดีเอ็นเอ DNA swab โควิด-19 ติดเชื้อ.jpg
  • ชุดตรวจแอนติบอดีใช้เวลาวิเคราะห์ผลเฉลี่ยประมาณ 24 ชั่วโมงถึง 4 วัน

ส่วน 'ดีนัน พิลเลย์' ศาสตราจารย์ด้านไวรัสวิทยาของมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) ระบุว่า ชุดตรวจแบบเร็วนี้อาจจะเป็นเครื่องมือที่ดีและใช้งานได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ แต่รัฐบาลควรรอให้มีการทดสอบอย่างละเอียดกว่านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกล่าวหาใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานชุดตรวจเหล่านี้ 

อย่างไรก็ตาม 'แมต แฮนค็อก' รมว.สาธารณสุขอังกฤษ ยืนยันว่า ชุดตรวจที่นำมาใช้ทำงานได้จริง และเป็นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี 'ใหม่ที่สุด' เท่าที่มีอยู่ในตอนนี้ ทั้งยังย้ำว่า มีคนอีกหลายล้านคนรอการตรวจในสถานพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ

แฮนค็อกระบุด้วยว่า ชุดตรวจแบบเร็วนี้จะบอกได้ด้วยว่าผู้ติดเชื้อที่มีผลตรวจเป็นบวก เกิดจากไวรัสไข้หวัดธรรมดาหรือเป็นไวรัสชนิดอื่น และการใช้อุปกรณ์คัดกรองแบบสวอบน่าจะช่วยให้การดำเนินการคัดกรองตามพื้นที่ต่างๆ เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: