ไม่พบผลการค้นหา
หมอกุมารเวช รพ.รามาธิบดีฯ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน เขียนอธิบายประเด็นการเหยียดเชื้อชาติ แนะพ่อแม่ สอนลูกให้เคารพความเป็นมนุษย์

วันที่ 23 ธ.ค. พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น รพ.รามาธิบดีฯ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน โพสต์ข้อความกรณีหลังการระบาดโควิดในพื้นที่ที่มีแรงงานชาวพม่าอาศัยอยู่จำนวนมาก และเกิดกระแสรังเกียจชาวพม่า และมีความพยายามสนับสนุนให้ผลักดันออกนอกประเทศ

ประเด็นของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน มองเรื่องนี้ต่างออกไป เป็นความพยายามสอนเด็กให้ทำความเข้าใจปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งข้อความมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

#สอนลูกให้ก้าวข้ามคำว่าพม่า

ข่าวการติดเชื้อโควิดของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เราเห็นปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจ

“คนพม่า คือคนอื่น”

การปฏิบัติกับคนพม่า จึงเหมือนกลายเป็นจำเลยสังคม เป็นตัวสร้างปัญหา เป็นที่น่ารังเกียจ เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ เป็นกลุ่มคนที่สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว ฯลฯ

การพูดถึงคนพม่า จึงเต็มไปด้วยถ้อยคำดูถูกดูแคลน “ไอ้พวกนี้” “พวกพม่า” “พวกมัน” “แรงงานชั้นต่ำ” “ซวยละคนขายเป็นพม่า” ฯลฯ

คนพม่า ดูเป็น “คนอื่น” ที่มีฐานะทางสังคม “ต่ำกว่า” คนไทย

ถูกรังเกียจ

ถูกลอยแพ

ถูกไล่

ถูกขัง

ถูกล้อมรั้วลวดหนาม

การรายงานตัวเลขติดเชื้อในประเทศ ก็ไม่นับการติดเชื้อในคนพม่า (ทั้งที่หลายคนก็อยู่มาหลายปี)

การถูกปฏิบัติที่ไม่ได้เคารพกัน หลายครั้งก็นำมาซึ่งการหนีตาย เอาตัวรอด เพื่อให้ตัวเองปลอดภัย

ซึ่งนั่น ก็อาจนำมาซึ่งการแพร่กระจายที่ไม่สิ้นสุด

ในฐานะพ่อแม่ สิ่งสำคัญมากๆ ที่เราควรสอนลูก คือการที่เราทุกคนมีความเท่าเทียมกัน “ในความเป็นมนุษย์”

เราอาจแตกต่างกันด้วยหน้าตา ผิวพรรณ เชื้อชาติ ศาสนา ฐานะ การศึกษา สูง ต่ำ ดำ ขาว ฯลฯ

แต่ในความแตกต่างเหล่านั้น ไม่เคยทำให้ใครเป็นมนุษย์มากกว่า หรือดีกว่าใคร

แม้เราทุกคนจะมีความแตกต่างกันไม่ว่าเรื่องใด แต่สิ่งหนึ่งที่เราทุกคนมีเหมือนกัน คือ “สิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรี และความต้องการขั้นพื้นฐาน”

ความต้องการพื้นฐาน... มนุษย์ทุกคนต้องการอยู่รอด ต้องการความปลอดภัย ต้องการที่อยู่อาศัย ต้องการปัจจัยขั้นพื้นฐาน ต้องการความเข้าใจ ต้องการความรัก ต้องการความเคารพฯลฯ

การเข้าใจ “ความเท่าเทียมกัน” ในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น จะทำให้ลูก มี “ความเข้าใจ” (empathy) ความหลากหลาย และเข้าใจหัวใจ และความทุกข์ของคนอื่น

ไม่เหยียด ไม่เหยียบย่ำ ไม่กดต่ำ ไม่ดูแคลน ไม่ยะโสโอหัง

เพราะแม้เราจะไม่มีใครเคยเหมือนกัน

แต่เราล้วนเป็นมนุษย์ “ที่เท่ากัน”

เช่นนั้นเอง

ถ้าเราเข้าใจคนพม่าว่าเป็นมนุษย์ เราจะเข้าใจการหนีตายข้ามประเทศ มาพื้นที่ปลอดภัย มีการรักษาที่ชั้นนำ มีค่าแรงที่ดีงาม ว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดขึ้น

เราอาจจะกลับมาตั้งคำถาม ว่าทำไมเราไม่ได้ป้องกันการข้ามแดนที่ผิดกฏหมาย ใครรับประโยชน์อะไรจากเรื่องเหล่านี้?

ถ้าเราเข้าใจความเป็นมนุษย์ เราจะปฏิบัติกับคนพม่า ด้วยความเคารพกัน ช่วยพวกเขาด้วย “ความเข้าใจ” ว่าไม่มีใครอยากติดเชื้อ ไม่มีใครไม่อยากไปตรวจ ไม่มีใครที่อยากตาย ไม่มีใครอยากจะสร้างปัญหา

เราจะปฏิบัติกับเขา ด้วยความขอบคุณที่เขาเป็นคนกลุ่มหนึ่ง ที่ช่วยเศรษฐกิจของประเทศไทยมาอย่างยาวนานจนทุกวันนี้

เราจะทำให้พวกเขารู้สึก “เป็นส่วนหนึ่ง” แทนการ รู้สึก “เป็นคนอื่น”

ความรู้สึก เป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้เราอยู่ด้วยกันแบบได้รับความร่วมมือ

และเมื่อเราสามารถมองอะไรที่ไม่ใช่แค่ปัญหาของตัวบุคคล

เราจะมองเห็นสิ่งที่เป็นปัญหาเชิงระบบและโครงสร้าง

และเราจะรู้ว่าจริงๆ แล้วปัญหา

มันก็ไม่ใช่ “แค่พวกเขา”

ผู้เชื่อว่าเด็กที่เข้าใจความเท่ากันของมนุษย์จะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจโลก