ไม่พบผลการค้นหา
92 องค์กรด้านเด็กสตรีการศึกษาจี้รมว.ศธ.แก้ปัญหาครูล่วงละเมิดและอนาจารนักเรียนชี้ต้องมีกลไกคุ้มครอง ชง ศธ.เป็นเจ้าทุกข์ฟ้องคดี​อาญาครูที่กระทำผิด

วันที่ 22 พ.ค. 2563 ที่กระทรวงศึกษาธิการ ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษาพร้อมด้วย น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้า​ฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และตัวแทน "เครือข่ายยุติความรุนแรงทางเพศในโรงเรียน 92 องค์กร" จำนวน 15 คน เข้า​ยื่นหนังสือถึงนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กรณีครู 5 คน และรุ่นพี่อีก 2 คน ล่วงละเมิดทางเพศนักเรียนหญิงอายุ 14 และ 16 ปี ในจังหวัดมุกดาหาร รวมถึงกรณีครูแชทลวงนักเรียนมาทำอนาจารในจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงฯ เร่งออกมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศในโรงเรียนอย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ได้นำรายชื่อประชาชนผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องผ่านเว็บไซต์ change.org เกือบ 1 หมื่นคน มามอบให้กระทรวงฯ จากนั้นร่วมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ชุด "หยุดซาตานในคราบครู" เพื่อสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

น.ส.อังคณา กล่าวว่า เครือข่ายฯ 92 องค์กร ประกอบด้วย องค์กรด้านการคุ้มครองเด็กผู้หญิง และการศึกษา ได้ออกมารณรงค์แก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศในโรงเรียน โดยเรียกร้องผ่านเว็บไซต์ change.org ตอนนี้มีผู้ลงชื่อสนับสนุนเกือบ 1 หมื่นคน สืบเนื่องจากข่าว​ที่สะเทือนสังคม เหตุ​การณ์ที่จังหวัดมุกดาหาร และบุรีรัมย์ โดยมีบุคลากรครูเป็นผู้กระทำ ซึ่งเชื่อว่า ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่มีเด็กนักเรียนในความดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ​ต้องตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ ที่เกิดจากการกระทำของบุคลากรทางการศึกษาเอง 

อีกทั้งเหตุการณ์ครั้งนี้ มีการแสดงทัศนะของผู้ที่อ้าง​ตัวเป็นครูในลักษณะ​ที่เข้าข้าง​ผู้ต้องหาและกล่าวโทษเด็กนักเรียน สะท้อนถึงวัฒนธรรมความรุนแรงทางเพศที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบการศึกษา​ไทย ทั้งนี้ จากข้อมูลศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา​ขั้นพื้นฐานในรอบ 4 ปื (พ.ศ.2556-2560) พบว่ามีเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศสูงถึง 727 รายในจำนวนนี้เป็นครูบุคลากรทางการศึกษา 53 ราย 

นอกจากนี้มูลนิธิ​ฯ ยังได้เก็บข้อมูลปี 2560 จากข่าวหนังสือพิมพ์พบว่ามีข่าวล่วงละเมิดทางเพศเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีกว่า 42 ข่าว, อายุ 11-20 ปี 145 ข่าว ในจำนวนนี้มี 17 ข่าวที่ก่อเหตุในโรงเรียน ส่วนอาชีพครูที่เป็นผู้กระทำมี 13 ข่าว

ด้าน ดร.วราภรณ์ กล่าวว่า เครือข่ายฯ อยากเห็นสถานศึกษาเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับ​เด็ก​และเยาวชน​ จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินมาตรการเร่งด่วนดังนี้ 

1.เมื่อเกิดเหตุล่วง​ละเมิดทางเพศต่อเด็กนักเรียน เช่น ที่เกิดในจังหวัด​มุกดาหาร​ กระทรวงศึกษาฯ ต้องไม่ปล่อยให้เด็กผู้เสียหาย และผู้ปกครองดำเนินการเรียกร้องความยุติธรรมอย่าง​โดดเดี่ยว​ แต่กระทรวง​ฯ ต้อง​ทำหน้าที่​เป็นเจ้าทุกข์​ร่วมในการแจ้งความและฟ้องร้อง​ดำเนินคดีทางอาญา ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่เด็กผู้เสียหายและผู้ปกครอง และจัดการให้เด็กเข้าถึงการคุ้มครองสวัสดิภาพและได้รับการเยียวยา​ทางจิตใจเละสังคมโดยเร่งด่วน​

2.ในกรณีที่สอบสวนแล้วพบว่าครูหรือบุคลากรทางการศึกษาอื่นกระทำผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศต่อนักเรียน ให้กระทรวงฯ ลงโทษทางวินัยขั้นสูงสุด ถอนใบประกอบวิชาชีพครู และหากบุคคลดังกล่าว​ยังคงรับราชการหรือปฏิบัติงานในหน่วยงานด้านการศึกษา​ต่อไป จะต้องไม่ให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนโดยตรงอย่างด็ดขาด 

3.รัฐมนตรี​หรือผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษา​ฯ ควรรีบลงพื้นที่จังหวัด​มุกดาหาร​เยี่ยมโรงเรียนที่เกิดเหตุเพื่อให้กำลังใจและแสดงจุดยืน​ปกป้องนักเรียนผู้เสียหายและครอบครัว และสร้าง​ขวัญกำลังใจให้นักเรียนผู้ปกครอง และครูที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิดครั้งนี้

4.เร่งออกนโยบายและมาตรการเชิงรุกที่ชัดเจนในการป้องกัน​และแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศ​สำหรับ​โรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศ

5.จัดตั้งกลไกระดับกระทรวงเพื่อรับเรื่องร้องเรียนกรณีปัญหาความรุนแรงทางเพศในโรงเรียน โดยกลไกดังกล่าวต้องมีความเป็นอิสระ มีองค์กร​ภายนอกที่เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็กและการแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศเข้าร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีการประชาสัมพันธ์ให้ครู ผู้บริหารโรงเรียนนักเรียน และผู้ปกครองรับทราบและเข้าถึงกลไกดังกล่าวได้อย่างกว้างขวาง

6. ให้การศึกษาแก่ครูและผู้บริหารโรงเรียนทั่วประเทศเกี่ยวกับหลักการและแนวปฏิบัติเพื่อการคุ้มครองสิทธิเด็ก การเคารพความเสมอภาคระหว่างเพศ และมีแนวปฏิบัติเพื่อสร้างให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากความรุนแรงทางเพศ

โดยวันนี้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มารับหนังสือด้วยตัวเอง พร้อมกล่าวว่า เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน กระทรวงฯ ให้ความสำคัญ แต่เนื่องจากที่ผ่านมา กระบวนการต่อสู้กับการล่วงละเมิดทางเพศยังน้อยไป ซึ่งทางกระทรวงได้ปรับปรุงมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และรอบคอบ

ทั้งนี้ได้ฝากถึงสื่อมวลชนด้วยว่า กระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะไม่อยากให้คนเหล่านี้เข้ามาทำร้ายระบบการศึกษา และสังคม จึงอยากสร้างความมั่นใจกับประชาชนว่าถ้ามีการร้องทุกข์กล่าวโทษแล้วจะดำเนินการจนถึงที่สุด ไม่ให้ผู้กระทำผิดเข้ามาวนเวียนอยู่ในระบบการศึกษาได้อีก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :