ไม่พบผลการค้นหา
ศบค.เผยไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 25 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศทั้งหมด ขณะยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 4,151 ราย ด้านศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม แจงข่าวปิดเมือง 'เชียงราย-เชียงใหม่-พะเยา' ก่อนปีใหม่ ไม่จริง

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 25 ราย โดยทั้งหมดเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้าสถานกักกัน (Quarantine Facilities) ประกอบด้วย คูเวต 2 ราย, สวิตเซอร์แลนด์ 6 ราย, เมียนมา 7 ราย,  รัสเซีย 1 ราย, สวีเดน 1 ราย,  สิงคโปร์ 1 ราย, ตุรกี 2 ราย, สหรัฐอเมริกา 2 ราย และ เกาหลีใต้ 3 ราย โดยใน 25 รายนี้ เป็นคนไทย 16 ราย ทั้งหมดเข้าพัก Local Quarantine, State Quarantine, Alternative State Quarantine, Alternative Hospital Quarantine

  • รายแรก เดินทางมาจากรัสเซีย เป็นเพศชายสัญชาติรัสเซีย อายุ 31 ปี อาชีพ ครูสอนดำน้ำ ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ
  • รายที่ 2-7 เดินทางกลับมาจากสวิตเซอร์แลนด์ เป็นหญิงไทย 5 ราย อายุ 46-67 ปี และ เพศชาย อายุ 53 ปี สัญชาติสวิส 1 ราย ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ
  • รายที่ 8 เดินทางกลับจากสวีเดน เป็นหญิงไทย อายุ 52 ปี อาชีพค้าขาย ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ
  • รายที่ 9 เดินทางกลับมาจากสิงคโปร์ ชายไทย อายุ 27 ปี อาชีพ นายท้ายเรือ
  • รายที่ 10-11 เดินทางมาจากตุรกี เด็กชาย อายุ 4 ปี และหญิง อายุ 32 ปี สัญชาติลิเบีย ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ
  • รายที่ 12-13 เดินทางมาจากสหรัฐอเมริกา เป็นหญิงไทย 2 ราย อายุ 59 ปี อาชีพ เจ้าหน้าที่ห้องผ่าตัด รพ.และ อายุ 18 ปี นักเรียน ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ
  • รายที่ 14-16 เดินทางมาจากเกาหลีใต้ เพศชาย อายุ 44 ปี และ อายุ 8 ปี สัญชาติเกาหลีใต้ และ เพศหญิง อายุ 43 ปี สัญชาติญี่ปุ่น ทั้ง 3 ราย เป็นนักท่องเที่ยว ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ
  • รายที่ 17-23 เดินทางมาจากเมียนมา ทั้ง 7 คนเป็นหญิงไทย อายุระหว่าง 25-35 ปี ทำงานในสถานบันเทิง ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่มี 2-3 ราย มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ สูญเสียการได้กลิ่น
  • รายที่ 24 เดินทางมาจากคูเวต เป็นเพศหญิง อายุ 31 ปี สัญชาติคูเวต ผลพบเชื้อ มีไข้
  • รายที่ 25 เดินทางมาจากคูเวต เป็นเพศหญิง อายุ 71 ปี สัญชาติคูเวต มีประวัตติดเชื้อเมื่อเดือน ต.ค. ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ

สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 4,151 ราย แบ่งเป็น ผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 2,461 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 1,690 ราย ส่วนผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มอีก 6 ราย รวมเป็น 3,880 ราย ยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 211 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 60 ราย


ยันคุมสถานการณ์โควิดกรณีท่าขี้เหล็กได้

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิด-19 จากกรณี จ.ท่าขี้เหล็ก ขณะนี้มีจำนวน 46 ราย แบ่งเป็น เข้ามาตามเส้นทางธรรมชาติ 17 ราย เข้าทางจุดผ่านแดนและเข้าระบบกักกัน 27 ราย และติดเชื้อในประเทศ 2 ราย แบ่งตามรายจังหวัด ได้แก่ เชียงราย 34 ราย เชียงใหม่ 5 ราย กทม. 3 ราย พิจิตร พะเยา ราชบุรี และสิงห์บุรี จังหวัดละ 1 ราย จากการตรวจกลุ่มเสี่ยงสูงของกรณีผู้ติดเชื้อจากท่าขี้เหล็กรวม 1,469 ราย พบการติดเชื้อเพียง 3 ราย แปลว่าแม้จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง แต่จากการตรวจคัดกรองโรคที่รวดเร็ว ทำให้มีโอกาสพบผู้ติดเชื้อในเปอร์เซ็นต์น้อยมาก ปัจจุบันพบอัตราการติดเชื้อของผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่างจากช่วงแรกของการระบาดที่พบประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ขณะนี้สถานการณ์ของผู้ป่วยจากท่าขี้เหล็กอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ประชาชนสามารถไปท่องเที่ยวได้ เดินทางกลับมาไม่ต้องกักตัว แต่ขอให้คงมาตรการป้องกันโรค ด้วยการสวมหน้ากากอย่างถูกต้องโดยต้องครอบทั้งจมูกและปาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด และสแกนไทยชนะ รวมถึงขอให้ช่วยสอดส่อง หากพบคนเดินทางมาจากต่างประเทศ ทั้งคนไทยและคนต่างด้าว ไม่ผ่านกักตัว 14 วัน ให้แจ้งภาครัฐทันที

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า การสอบสวนโรคกรณีหญิงไทยอายุ 51 ปี จ.สิงห์บุรี มีผู้สัมผัส 55 ราย เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 37 ราย ทั้งหมดผลไม่พบเชื้อ สำหรับโอกาสการติดเชื้อสามารถอธิบายจากข้อมูลปัจจัยเสี่ยงที่ได้ คือ การอยู่ในสถานที่ที่ผู้ป่วยรายก่อนหน้ามีโอกาสแพร่เชื้อ เนื่องจากผู้ป่วยราย จ.พิจิตรและ กทม.สวมหน้ากากไม่ถูกต้อง ขณะอยู่ที่บริเวณพื้นที่รอขึ้นเครื่อง จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดพบว่า บางช่วงหน้ากากตกลงมาอยู่ใต้จมูก บางช่วงตกลงมาใต้คาง แต่หญิงสิงห์บุรีมีการสวมหน้ากากตลอดเวลา ยกเว้นถอดหน้ากากสั้นๆ ไม่กี่วินาทีเพื่อตรวจบัตรประชาชนก่อนเข้าไปข้างใน ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำมาก แต่มีภาพบางมุมที่ไม่สามารถมองเห็นได้ เช่น ห้องน้ำ สถานที่อื่นๆ เป็นต้น 

ทั้งนี้ ท่าอากาศยานได้เพิ่มการทำความสะอาด เพิ่มการแจ้งเตือนประชาชนทุก 15 นาทีในการสวมหน้ากาก จัดที่นั่งโดยเว้นระยะห่างให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น มีเจลแอลอฮอล์อย่างเพียงพอ ตรวจวัดไข้สอบถามอาการผู้โดยสารมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีผู้ป่วยไปปะปนกับผู้โดยสารอื่น นอกจากนี้ ขอให้ทุกสายการบินยังคงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการสวมหน้ากากบนเครื่องบินตลอดเวลา งดการเสิร์ฟอาหาร และให้ผู้โดยสารลุกออกจากเครื่องครั้งละ 5 แถว เพื่อความเป็นระเบียบและลดโอกาสการอยู่ใกล้ชิดกัน ป้องกันการแพร่เชื้อ

xymou2tyzr40oc44w4.jpg

นพ.โสภณกล่าวว่า สำหรับกรณีการติดเชื้อภายในประเทศของกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในสถานกักกันโรคที่รัฐกำหนด (ASQ) จำนวน 5 ราย จากการสอบสวนพบว่า ผู้ป่วยรายที่ 4 น่าจะมีโอกาสได้รับเชื้อก่อนคนอื่น เนื่องจากมีอาการป่วยก่อน คือ วันที่ 29 พ.ย. มีอาการเล็กน้อย คือ น้ำมูก คัดจมูก และเสมหะ คล้ายไข้หวัด โดยวันที่ 24-27 พ.ย. ได้ไปปฏิบัติหน้าที่ใน ASQ เข้าไปวัดไข้ผู้เข้ากักกัน ซึ่งเป็นครอบครัวพ่อแม่ลูก 3 คน แต่ขณะนั้นยังไม่ทราบว่าผู้เข้ากักกันติดเชื้อ ทำให้มีโอกาสใกล้ชิดและมีความเสี่ยงในการรับเชื้อ หลังจากนั้นไปสัมผัสกับเพื่อนร่วมงานช่วงนอกเวลางานอีก 2 ราย คือ รายที่ 1 และ 2 โดยไปรับประทานอาหารและพักอยู่ด้วยกัน ส่วนรายที่ 3 มีประวัติสัมผัสกับรายที่ 1 และรายที่ 5 ไม่มีอาการ แต่มีประวัติสัมผัสกับรายที่ 1 และ 2

สำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ทั้ง 5 ราย อยู่ในการดูแลของแพทย์ และสามารถควบคุมโรคได้ นอกจากนี้ การตรวจหาเชื้อผู้สัมผัสทั้งหมด 280 ราย แบ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 51 ราย (โรงพยาบาลเอกชน 31 ราย เพื่อนร่วมหอพัก 6 ราย ห้องสัมภาษณ์งานโรงพยาบาลรัฐ 7 ราย และครอบครัว 7 ราย) และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 229 ราย (โรงพยาบาลเอกชน 195 ราย ASQ แห่งที่ 1 จำนวน 14 ราย และ ASQ แห่งที่ 2 จำนวน 20 ราย) ทั้งหมดตรวจไม่พบเชื้อ และยังมีการตรวจบุคลากรของโรงพยาบาลแผนกอื่นๆ อีก 465 คน ก็ไม่พบการติดเชื้อเพิ่ม


แจงข่าวปิด 'เชียงราย-เชียงใหม่-พะเยา' ไม่จริง

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti FakeNews Center) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการโพสต์ข้อความทางสื่อออนไลน์ ว่า พื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และพะเยา ก่อนปีใหม่จะมีการปิดเมือง ทางชายแดนมีคนหนีตายเข้ามาจำนวนมากนั้น มีการตรวจสอบกับทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขแล้ว ชี้แจงว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง

ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีการล็อกดาวน์ หรือปิดเมืองที่ไหน จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และไม่หลงเชื่อข้อความดังกล่าว ให้รับฟังข้อมูลข่าวสารจากทางภาครัฐเท่านั้น และที่สำคัญขอให้ประชาชนป้องกันตนเอง ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งคัดและต่อเนื่อง ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง ลดความแออัด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น

ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่งหรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลจากกรมควบคุมโรค หรือหมายเลข 1422 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

Website-Stamp-13.jpg



ข่าวที่เกี่ยวข้อง :