ไม่พบผลการค้นหา
เผยยอดผู้ติดเชื้อโควิด -19 ประจำวันที่ 7 ธ.ค. พบผู้ป่วยเพิ่ม 21 ราย เดินทางมาจาก 8 ประเทศ ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลก ยอดทะลุ 67 ล้านคนแล้ว

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 21 ราย ในสถานที่กักกันของรัฐ ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 4,107 ราย ยอดหายป่วยสะสม 3,868 ราย มีผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 179 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 60 รายสำหรับผู้ป่วยรายใหม่รายที่ 1 ถึงรายที่ 9 มาจากเมียนมา เดินทางเข้าประเทศไทยในวันที่ 4 ธ.ค.โดยผู้ป่วยรายที่ 1 เป็นหญิง อายุ 23 ปีสัญชาติไทย  

ผู้ป่วยรายที่ 2 ถึงรายที่ 6 เป็นหญิง อายุ 22 อายุ 23 อายุ 20 อายุ 23และ อายุ 30 ปี สัญชาติไทย อาชีพพนักงานสถานบันเทิง ผลตรวจพบเชื้อวันที่ 4 ธ.ค.ไม่มีอาการ ส่วนผู้ป่วยรายที่ 7 เป็นหญิงอายุ 44 ปี สัญชาติไทย อาชีพพนักงานสถานบันเทิง ตรวจพบเชื้อวันที่ 4 ธ.ค.สูญเสียการได้กลิ่น ขณะเดียวกันผู้ป่วยรายที่ 8 เป็นหญิง อายุ 25 ปี สัญชาติไทย อาชีพพนักงานสถานบันเทิง และผู้ป่วยรายที่ 9 เป็นชาย อายุ 21 ปี สัญชาติไทย โดยผู้ป่วยทั้ง 2 ราย ตรวจพบเชื้อในวันที่ 4 ธ.ค. ไม่มีอาการ รักษาตัวที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

นอกจากนี้ ผู้ป่วยรายใหม่รายที่ 10-13 มาจากสหราชอาณาจักร เดินทางเข้าประเทศไทยวันที่ 30 พ.ย. เป็นหญิง อายุ 33 ปี สัญชาติไทย อาชีพแม่บ้าน ผู้ป่วยรายที่ 11 เป็นหญิง สัญชาติไทย อายุ 45 ปี อาชีพพนักงานนวด ผู้ป่วยรายที่ 12 เป็นหญิง สัญชาติไทย อายุ 29 ปี อาชีพแม่บ้าน รักษาตัวที่โรงพยาบาลแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และผู้ป่วยรายที่ 13 เป็นหญิง สัญชาติไทย อายุ 25 ปี อาชีพพนักงานบริษัท โดยทั้งหมดตรวจพบเชื้อวันที่ 4 ธ.ค. ไม่มีอาการ รักษาตัวที่โรงพยาบาลวัดญาณสังวราราม จ.ชลบุรี

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่รายที่ 14-15 มาจากสหรัฐอเมริกา เดินทางเข้าประเทศไทยวันที่ 4 ธ.ค. เป็นหญิง อายุ 47 ปี และชาย อายุ 7 ปี สัญชาติอเมริกัน ตรวจพบเชื้อวันที่ 4 ธ.ค. รักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนใน กทม. ส่วนผู้ป่วยรายใหม่รายที่ 16-17 มาจากสิงคโปร์ เดินทางเข้าประเทศไทยวันที่ 30 พ.ย. เป็นชาย อายุ 23 ปี สัญชาติไทย อาชีพช่างเช็ดน้ำมันบนเรือ และเป็นชายอายุ 33 ปี สัญชาติไทย อาชีพนายช่างกล ทั้งหมดตรวจพบเชื้อวันที่ 5 ธ.ค. รักษาตัวที่โรงพยาบาลกลางใน กทม. ขณะที่ผู้ป่วยรายใหม่รายที่ 18 มาจากเอสโตเนีย เดินทางเข้าประเทศไทยวันที่ 28 พ.ย. เป็นชาย อายุ 61 ปี สัญชาติเอสโตเนียอาชีพผู้จัดการบริษัท ตรวจพบเชื้อวันที่ 3 ธ.ค. รักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนใน กทม.

ส่วนผู้ป่วยรายใหม่รายที่ 19 จากอินเดีย เดินทางเข้าประเทศไทยวันที่ 28 พ.ย. เป็นชาย อายุ 40 ปี สัญชาติอินเดีย อาชีพพนักงานขาย ตรวจพบเชื้อวันที่ 3 ธ.ค. รักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนในกทม. และส่วนผู้ป่วยรายใหม่รายที่ 20 มาจากเยอรมนี เดินทางเข้าประเทศไทยวันที่ 21 พ.ย. เป็นชาย อายุ 61 ปี สัญชาติเยอรมัน ตรวจพบเชื้อวันที่ 3 ธ.ค. รักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนใน กทม. อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยรายใหม่รายที่ 21 มาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดินทางเข้าประเทศไทยวันที่ 4 ธ.ค. เป็นหญิง อายุ 20 ปี สัญชาติไนจีเรีย ตรวจพบเชื้อวันที่ 4 ธ.ค. รักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนใน กทม.

ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 67,386,262 ราย โดย รักษาหายแล้ว 46,580,133 ราย รวมเสียชีวิตแล้ว 1,541,641 ราย

ศบค.มท. เข้ม สั่งการผู้ว่าฯ สกัดกั้นและติดตามผู้ลักลอบเข้าเมือง

ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) เปิดเผยว่า ด้วยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีบัญชาให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ให้เพิ่มความเข้มข้นในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยให้จังหวัดแจ้งหน่วยปฏิบัติ กลไกผู้ปกครองท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เน้นความเข้มข้นในการสกัดกั้นและติดตามผู้ลักลอบเข้าเมืองตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข

เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามบัญชาของนายกรัฐมนตรีข้างต้น นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด/ประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ดำเนินการ 3 มาตรการ ได้แก่

1) ประสานแจ้งหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ เช่น ตำรวจภูธร ตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ทหาร และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข บูรณาการสกัดกั้นและติดตามการลักลอบเข้าเมืองที่ไม่ผ่านกระบวนการคัดกรองโรค โดยเฉพาะการลักลอบเข้าประเทศทางช่องทางธรรมชาติ

2) แจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอาสาสมัครในพื้นที่ เฝ้าระวังสังเกต และใช้มาตรการทางการข่าว โดยวางข่ายข่าว จัดตั้งแหล่งข่าว และอาจกำหนดให้มีการตั้งด่านคัดกรองโรคสำหรับบุคคลที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ให้สอดคล้องกับมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยหากตรวจพบให้ดำเนินการตามระเบียบกฎหมาย มาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และรายงานผู้รับผิดชอบตามกฎหมายคนเข้าเมืองให้ถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด และ

3) ชี้แจงทำความเข้าใจกับข้าราชการ บุคลากร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ห้ามมิให้ปล่อยปละละเลยหรือรู้เห็นเป็นใจในพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้องกับนโยบายและมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)


โฆษกเพื่อไทย ชี้ รบ.อย่าโยนผิดเหนือความรับผิดชอบ

อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการกลับมาพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีกครั้ง ในหลายจังหวัดที่มีรอยต่อติดกลับชายแดน อย่างกรณีจ.เชียงราย ซึ่งมาจากสาเหตุการลักลอบข้ามแดนของคนไทยกลุ่มหนึ่ง นอกจากจะเกิดจากพฤติกรรมส่วนบุคคลที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคมแล้ว ยังมีเรื่องความผิดพลาดการ์ดตกของรัฐบาลเองด้วยในการป้องกัน ไม่ให้มีการลักลอบข้ามแดน ทั้งที่มีการเตือนจากหลายฝ่ายตั้งแต่เริ่มมีการระบาดอย่างหนักในประเทศเพื่อนบ้าน

ที่ผ่านมารัฐบาลประกาศต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นว่าเล่น โดยเฉพาะตลอดแนวชายแดนที่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงมีอำนาจพิเศษในการควบคุมพื้นที่ แต่ทำไมจึงไม่ระแคะระคายหรือไม่รู้ข้อมูลเรื่องการลักลอบข้ามแดนผ่านช่องทางธรรมชาติบ้าง ทั้งที่คนในพื้นที่หรือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต่างก็รับรู้กันเป็นอย่างดี ประเด็นเหล่านี้รัฐบาลต้องตรวจสอบและพูดความจริงกับประชาชนด้วย หรือจริงๆแล้ว พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลยกับการควบคุมโควิด นอกจากเอาไว้คุมม็อบเท่านั้นใช่หรือไม่

“รัฐต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงด้วยว่าทำไมคนไทยเหล่านี้จึงลักลอบเข้ามาได้  ปัญหาอยู่ตรงไหนและจะแก้อย่างไร อย่าเพียงชี้นิ้วโทษแต่คนอื่น และที่สำคัญรัฐบาลจะต้องมีเอกภาพในการให้ข้อมูลผู้ติดเชื้อที่เกิดจากการลักลอบข้ามแดน เพราะไม่เช่นนั้นหน่วยงานรัฐจะเป็นผู้สร้างความตื่นตระหนกเสียเอง อย่างเหตุการณ์ล่าสุดที่หน่วยงาน 3 แห่งพูดข้อมูลตัวเลขไม่ตรงกัน คือ ระดับจังหวัด กรมควบคุมโรค และ ศบค.” 

อรุณี กล่าวต่ออีกว่า วันนี้อยากเรียกร้องให้คนไทยไม่ตื่นตระหนกกับการกลับมาแพร่ระบาดรอบใหม่ของเชื้อโควิดเพราะยังเป็นเพียงการติดเชื้อเฉพาะบุคคลที่ข้ามแดนและคนใกล้ชิดจริง ๆ เท่านั้น ยังไม่มีการแพร่เชื้อในแบบที่ควบคุมไม่ได้  

ที่สำคัญเราเคยผ่านสถานการณ์หนักกว่านี้มาแล้วในช่วงแรกๆ และสามารถผ่านมันมาได้ ดังนั้นจึงขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตลอดจนแพทย์ พยาบาลในการทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วย รวมทั้งขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่และดูแลป้องกันตัวเองตามหลักสาธารณสุขที่ถูกต้อง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง