'แทรมโพลีน' เครื่องเล่นกระโดดที่จะบอกว่าดีต่อสุขภาพก็ได้ จะเป็นอันตรายต่อร่างกายก็ได้อีก แต่อย่างไรเสียถ้าปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีแนะนำอย่างเคร่งครัดจากที่มีทั้งคุณและโทษอาจเหลือแค่เป็นคุณต่อร่างกายอย่างเดียวก็ได้
แทรมโพลีน อุปกรณ์กระโดดที่สามารถเล่นได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในต่างประเทศ แต่สำหรับคนไทยอาจจะเคยได้ยินชื่อเครื่องเล่นชนิดนี้อยู่บ้าง แต่ไม่เป็นที่นิยมมากนัก รู้แค่ว่าขึ้นไปกระโดดๆเพื่อความสนุกสนาน และปลดปล่อย แท้จริงแล้วแทรมโพลีนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการออกกำลังกายได้เช่นกัน
แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศมีรายงานการเกิดอุบัติเหตุจากการเล่นแทรมโพลีน บางร้ายแค่แขน-ขาหัก แต่ในบางรายที่รุนแรงถึงขั้นกระดูกสันหลังหักเป็นอัมพาตเดินไม่ได้ก็มี และที่ร้ายแรงกว่านั้นก็ถึงขั้นเสียชีวิต
ตัวอย่างข่าวอุบัติเหตุที่เกิดจากการกระโดดแทรมโพลีน เช่น ในปี 2550 ในสหรัฐฯ เด็กชายอายุ 4 ขวบเสียชีวิตขณะกระโดดเล่นบนแทรมโพลีนที่สวนหลังบ้านตัวเอง ในขณะที่ผู้เป็นแม่คลาดสายตาเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น ร่างของเด็กชายถูกพบห้อยติดอยู่กับเชือกที่ใช้ยืดกับแทรมโพลีน (อ่านเพิ่ม : 4-year-old dies in trampoline accident) อีกรายเกิดขึ้นในปี 2556 เด็กชายชาวออสเตรเลียวัย 22 เดือน ตกจากแทรมโพลีนที่ความสูง 3.2 เมตร ขณะอยู่ที่เดย์แคร์ และเสียชีวิตด้วยอาการสมองบาดเจ็บในเวลาต่อมาหลังถูกพาตัวส่งโรงพยาบาลแล้ว ผลการตรวจสอบพบว่าตาข่ายที่ใช้ล้อมแทรมโพลีนดังกล่าวไม่ได้ปิดซิปทำให้เด็กชายหลุดออกจากตาข่ายป้องกันตกลงไปกระแทกพื้น (อ่านเพิ่ม : More Kiwi kids are getting hurt on trampolines, coroner recommends regulation) รายล่าสุดเกิดเมื่อเดือนตุลาคมปีนี้ (59) กับเจ้าชายเฟรเดอริก มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์กที่บาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลังเนื่องจากทรงเล่นแทรมโพลีน ทำให้พระองค์ต้องยกเลิกการปฏิบัติภารกิจทั้งหมดและเข้ารักษาพระอาการบาดเจ็บด้วยการสวมปลอกคอเป็นเวลา 12 สัปดาห์ (อ่านเพิ่ม : Crown Prince Frederik suffers spinal injury in trampoline accident)
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอุบัติเหตุจากการเล่นแทรมโพลีนเท่านั้น จากสถิติของมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับอุตสาหกรรมของเล่น หรือ CPSC โดยอ้างอิงตัวเลขการบาดเจ็บที่เกิดจากแทรมโพลีนในสหรัฐฯในเดือนกันยายนปี 2543 พบว่า มี 100,000 คนบาดเจ็บจากแทรมโพลีน ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุระหว่าง 6-14 ปี ซึ่ง 2 ใน 3 ของเด็กช่วงอายุนี้เข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินเพราะบาดเจ็บจากแทรมโพลีน ในขณะที่เด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบ ราว 15% บาดเจ็บสาหัส นอกจากเด็กแล้วผู้ใหญ่ก็บาดเจ็บจากเครื่องกระโดดนี้ได้ด้วยเช่นกัน อายุมากสุดที่ได้รับรายงานคือ 43 ปี และส่วนของร่างกายที่พบบาดเจ็บบ่อยที่สุดคือที่ขากับเท้า (10 คน พบ 4 คน) รองลงมาเป็น แขนกับมือ 29%, ศีรษะ,หน้าและคอ 20%, หัวไหล่และลำตัวเพียง 10%
ถึงแม้ว่าตัวแทรมโพลีนเองจะมีตาข่ายป้องกันโดยรอบแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่านั้นจะปลอดภัยเสมอไป ตามที่ ดร.อลิสัน เวย์ กุมารแพทย์ด้านประสาท จากโรงพยาบาลเด็ก Royal Children กล่าวว่า พ่อแม่ผู้ปกครองบางรายจะรู้สึกปลอดภัยเมื่อเห็นว่าแทรมโพลีนมีตาข่ายกั้นโดยรอบ แต่บางครั้งด้วยความเผลอเรอของผู้ใหญ่เอง เช่น ลืมรูดซิปปิด, หรือลมที่พัดแรงจนยกแท่นแทรมโพลีนที่ไม่ได้ยืดติดกับพื้นให้ลอยขึ้นบนอากาศ ก็ทำให้เด็กๆร่วงลงพื้นจนบาดเจ็บได้ ดังนั้น ตาข่ายป้องกันก็ไม่ได้หมายถึงว่าจะปลอดภัยเสมอไป
ในขณะที่ประเทศไทยมีการเปิดสถานที่คล้ายห้องขนาดใหญ่และกว้างพอติดตั้งเครื่องกระโดดแทรมโพลีนแบบเต็มพื้นที่ไว้บริการคนไทยที่ชื่นชอบความแปลกใหม่ อย่างเช่น AMPED Trampoline Park Thailand ในเว็บไซต์แนะนำมีกฎระเบียบข้อบังคับไว้ให้อ่านอย่างละเอียด เพื่อความปลอดภัยของตัวลูกค้าเอง ขอให้ปฏิบัติตามกฎและคำแนะนำของพนักงาน เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการเล่นแทรมโพลีนได้ สำหรับเด็กเล็ก ต้องมีคนคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ห้ามกระโดดซ้อนในแทรมโพลีนเดียวกัน เพราะจะทำให้คนใดคนหนึ่งเสียหลัก กระเด็นออกนอกแทรมโพลีนจนบาดเจ็บ
AMPED BKK - Safety Video from AMPED Thailand on Vimeo.
โดยทางเว็บไซต์ AMPED เองยังให้ลูกค้าทำสัญญายินยอม มีข้อตกลงต่างๆร่วมกันในเรื่อง ค่าสินไหมทดแทน ข้อสันนิษฐานความเสี่ยงและการปลดเปลื้องการรับผิดชอบ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างสถานที่กับผู้เล่น
การกระโดดบนแทรมโพลีนมีผลดีต่อสุขภาพร่างกายอีก คือ ได้บริหารระบบหัวใจและหลอดเลือดอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและเป็นการบริหารหัวใจที่ดีอย่างหนึ่ง นอกจากนี้การกระโดดบนแทรมโพลีนสามารถช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนล่างแข็งแรงมากขึ้น และเมื่อทั้งสองอย่างนี้มารวมกัน ก็จะทำให้การกระโดดบนแทรมโพลีนมีประโยชน์มากในการช่วยลดน้ำหนัก เพราะการพัฒนากล้ามเนื้อจะช่วยให้ระบบการเผาผลาญดีขึ้นและช่วยเร่งการเผาผลาญไขมันในร่างกาย ส่วนการระบบหัวใจและหลอดเลือดที่ดีขึ้นก็ช่วยให้เผาผลาญแคลอรี่ได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การกระโดดอย่างต่อเนื่องบนโทรมโพลีนยังช่วยให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นมากขึ้นอีกด้วย (อ่านเพิ่มเติม : AMPED)
นอกจากนี้ยังช่วยในการเพิ่มมวลความหนาแน่นของกระดูกและยังช่วยป้องกันการหักของกระดูก รวมถึงช่วยเรื่องอาการของโรคกระดูกพรุนได้ แทรมโพลีนยังช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคข้ออักเสบและช่วยลดอาการปวดข้อได้อีกด้วย เพราะการกระโดดบนแทรมโพลีนจะช่วยพัฒนาการทำงานของเส้นเอ็นและข้อต่อจากการที่ต้องใช้ทักษะการทรงตัวอย่างมากเวลาเล่น
ด้านคุณณรัชพร ไกรมงคล ผู้ประกาศข่าวสาวจากวอยซ์ทีวี ผู้ที่เคยเล่นเล่นแทรมโพลีนในสถานออกกำลังกายแห่งหนึ่ง บอกว่า ก่อนเข้าเล่นต้องสวมถุงเท้ากันลื่น จะสามารถทรงตัวบนแผ่นยางของแทรมโพลีนได้ง่ายกว่าสวมถุงเท้าธรรมดาทั่วไป และโดยส่วนตัวไม่กังวลเรื่องความปลอดภัยเพราะแทรมโพลีนที่เล่นนั้นขนาดเล็กสำหรับคนเดียวเล่น ทำให้เวลากระโดดไม่ต้องห่วงว่าจะชนใคร ทั้งนี้ยังแนะนำเพิ่มเติมอีกว่าเด็กเล็กที่จะเล่นนั้นอาจต้องมีผู้ปกครองคอยดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย
อย่างไรก็ตาม การเล่นเครื่องเล่นต่างๆ ถ้าเล่นอย่างถูกวิธี ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของสถานที่ ไม่ประมาท ของทุกอย่างล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย อยู่ที่ว่าคนเราจะทำให้เกิดออกมาในด้านไหน พื้นฐานของทุกอย่างอยู่ที่ความไม่ประมาท เมื่อเราไม่ประมาทและคนอื่นไม่ประมาทก็จะรักษาชีวิตทั้งเขาและเราไว้ได้