ไม่พบผลการค้นหา
'ชวน' ย้ำในวันครบรอบ 24 ปี กกต. ย้ำ รธน.ปี 40 เป็นฉบับที่ดี แต่ได้คนมาปกครองไม่ยึดหลักประชาธิปไตย อัดใช้อำนาจอำเภอใจ ชี้การเมืองบริสุทธิ์ต้องรักษาเสถียรภาพของประเทศ กรีดมีแต่คนเรียกร้องสิทธิ แต่ไม่รู้จักหน้าที่

วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘การเสริมสร้างเสถียรภาพและธรรมาภิบาลทางการเมือง’ ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting ในวาระครบรอบ 24 ปี วันสถาปนา สำนักงาน กกต. โดยระบุว่า ตนนั้นมีประสบการณ์ในการเลือกตั้งมานาน แม้จะไม่ใช่ในฐานะผู้บริหาร แต่ในฐานะผู้ลงสมัครทางการเมืองตั้งแต่ปี 2512 ก็ได้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2511-2562 มาแล้ว และบัดนี้เหลือเวลาอีกไม่นานแล้วของสภาฯ ชุดนี้ เพราะรัฐบาลจะครบวาระ 4 ปี ก็ได้รับทราบจากรัฐบาลว่า มีการตั้งงบประมาณในส่วนการเลือกตั้งอยู่แล้ว แม้จะไม่ได้ระบุชัดเจนในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2566 

ชวน กล่าวว่า กฎเกณฑ์ของ กกต. นั้น เราไม่สามารถจะวางใจได้ แม้จะมีกลไกเงื่อนไขที่ดีก็ตาม เพราะถ้าบุคคลมีปัญหา อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการก็จะไม่ดีไปด้วย ความรู้ที่เราเรียนมาตั้งแต่โบราณว่า การปกครองที่ดีต้องปกครองด้วยคนดี แต่ปราชญ์รุ่นหลังบอกว่า แค่คนดีไม่พอ ต้องมีหลักการที่ดีด้วย ในสังคมไทยก็ไม่ต่างกัน เราคิดว่าประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดคือฉบับปี 2540 แต่สุดท้ายก็เกิดวิกฤต คนที่ปกครองด้วยระบบประชาธิปไตยไม่ยึดหลักประชาธิปไตย ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ปัญหาจึงตามติดมา 

ชวนยกตัวอย่างว่า ปัญหาที่ชัดที่สุดคือปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผู้มีอำนาจใช้แนวนอกกฎหมาย ในวันที่ 8 เม.ย. 2544 มีกระบวนการเก็บ หรือฆ่าประชาชนทิ้ง อันเป็นที่มาของคนร้ายก่อเหตุปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็งในวันที่ 4 ม.ค. 2547 ดังนั้นจะเห็นได้ว่า กฎหมายที่มีความสำคัญ แต่ฝ่ายบริหารไม่ยึดกฎหมาย มันก็จะนำมาซึ่งความหายนะของประเทศชาติ

“ยุคสมัยที่ผมลงเลือกตั้งนั้น ไม่มีคำว่า ‘ซื้อสิทธิ์-ขายเสียง’ เพราะมีแต่นักเลง มีการเลี้ยงเหล้า ตนจำได้ว่า ตอนเดินหาเสียงชาวบ้านเข้ามาขอเหล้า แต่ผมไม่ไห้ และหนักที่สุดคือ ‘ปลาทูเค็ม’ ซึ่งเกิดจากนักธุรกิจคนหนึ่งได้ส่งปลาทูเค็มไปแจกที่จังหวัดศรีสะเกษ เราจึงเรียกมันว่า ส.ส.ปลาทูเค็ม” ชวน กล่าว 

ชวน กล่าวว่า การเมืองที่บริสุทธิ์และยุติธรรม จะนำมาซึ่งการรักษาเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ ซึ่งต้องนำมาเรื่องธรรมาภิบาลของฝ่ายการเมืองด้วย แต่สังคมตอนนี้ยังแยกไม่ออกว่า เสถียรภาพที่กล่าวถึงคือ เสถียรภาพของการเมือง หรือนักการเมือง 

ชวน เสริมว่า แนวโน้มประชาธิปไตยของสังคมไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ก้าวหน้าอยู่มาก และตนที่มีอายุมามากกว่าครึ่งหนึ่งของระบบนี้ ก็เป็นประจักษ์พยานมาโดยตลอดว่า รัฐบาลควรจะมีเสถียรภาพเพื่อที่จะบริหารบ้านเมืองไปได้ โดยไม่ต้องเผชิญปัญหามากเกินไป สามารถแก้ปัญหาได้ทันใจด้วยเหตุผล หากรัฐบาลมาจากสภาฯ ที่เป็นเสียงข้างมาก หมายความว่ามาจากการเลือกตั้งที่มั่นคง เราจะได้รัฐบาลที่มาจากความชอบธรรม 

ชวน กล่าวว่า ธรรมาภิบาลในทางการเมืองนั้น คือ ความถูกต้องในทางการเมือง ตั้งแต่การเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในสมัยนั้น จึงได้หามาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และได้ออกแนวปฏิบัติมาว่า หลักธรรมาภิบาล ซึ่งประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2542 โดยมีหลักที่ยึดถือคือ หลักนิติธรรม ยึดกฎหมายเป็นหลัก ต้องเคารพกฎหมาย หลักการตรวจสอบได้ หลักความมีส่วนร่วมของประชาชน แต่หลักที่อยากย้ำคือ หลักความรับผิดชอบ โดยขอให้ทุกคนได้ตระหนัก และทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาด้วยความรับผิดชอบ อย่าปล่อยปะละเลย 

“บ้านเมืองของเราตอนนี้มีแต่การเรียกร้องสิทธิ แต่ไม่รู้จักหน้าที่ของตน ตรงนี้เป็นจุดอ่อนของบ้านเมืองเรา” ชวน กล่าว