ไม่พบผลการค้นหา
'รังสิมา รอดรัศมี' เสนอรัฐบาลปฏิรูปสำนักงบประมาณ จัดสรรให้สอดคล้องสถานการณ์ ขณะที่ 'วรรณวิภา ไม้สน' ซัด พม.งบเพิ่ม 1.4 พันล้าน แต่เงินไม่ถึงมือประชาชน พร้อมจัดทำเงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้า

น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ว่าต้องปฏิรูปสำนักงบประมาณ เพื่อการจัดสรรงบประมาณอย่างมีคุณภาพและสอดรับสถานการณ์ โดยอ้างว่าที่ผ่านมาการจัดสรรงบแต่ละปีไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะปีนี้ไม่สอดคล้องกับสภานการณ์โควิด-19 ทำให้สุดท้ายไม่สามารถปรับแก้อะไรได้ สมาชิกสภาฯต้องผ่านร่างกฎหมาย ถูกมองเป็น “สภาฯตรายาง” พร้อมยกปัญหาเรื่องน้ำประปา ที่การประปาภูมิภาคของบ 9,000 ล้านบาท แต่ได้รับการจัดสรร 500 ล้านบาทสำหรับแก้ปัญหาเรื่องน้ำ 

ขณะที่ น.ส.วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายชี้ว่า ปีนี้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รับการจัดสรรงบเพิ่มเกือบ 1,400 ล้านบาท แต่งบถึงมือประชาชนน้อยมาก และยังอ้างข้อมูลจากลงพื้นที่พบว่าประชาชนตกหล่นการรับบริการด้านสวัสดิการสังคม ซึ่งแตกต่างกับข้าราชการที่ได้รับสวัสดิการ และยังยกตัวเลขงบปีก่อนว่าสวัสดิการข้าราชการ 2 ล้านคน จำนวน 415,100 ล้านบาท มีมูลค่ามากกว่าสวัสดิการประชาชน 66 ล้านคน ที่ได้รับ 296,422 ล้านบาท พร้อมเสนอให้รัฐบาลจัดทำเงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้า เพื่อรองรับความเสี่ยงที่เกิดการความผันผวนเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ และ ยุบ พม.จังหวัด เพื่อตั้งสวัสดิการท้องถิ่น ทั้งนี้ยังเสนอแก้กฎหมายประกันสังคมว่าด้วยแรงงานนอกระบบ เพื่อดึงแรงงานเข้าสู่ระบบมากขึ้น

สาธิต อัดจัดงบ 64 ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ ซ้ำเติม ปชช.

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตอนนี้ความถดถอยของประชาธิปไตยทั่วโลก เพราะประชาชนเสื่อมศรัทธาที่ไม่อาจ แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ เมื่อคุณภาพประชาธิปไตยต่ำลงทำให้กลุ่มอำนาจทางเศรษฐกิจเข้าแทรกแซงได้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมีหลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหารวยกระจุกจนกระจาย ที่ ณ วันนี้ไม่ใช่เรื่องบุญทำกรรมแต่ง แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ไข

เมื่อเกิดการระบาดของโควิด 19 ได้ส่งผลต่อประชาชนอย่างรุนแรง ยิ่งทำให้คนจนและคนไร้โอกาสถูกซ้ำเติมเข้าไปอีก ประเทศไทยกำลังเป็นเช่นนั้น รายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อเดือนธ.ค.2562 ระบุว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทยยังคงอยู่ในระดับสูง และในรายงานของ World Economic Forum เมื่อปี 2560 ระบุว่าคนไทยมีรายได้ต่างกันถึง 10.3 เท่า ขณะเดียวกัน มีรายงานการศึกษาของไอเอ็มเอฟระบุว่าทุกครั้งหลังมีการโรคระบาดยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนห่างกันมากขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามบรรเทาผลกระทบก็ตาม

นายสาทิตย์ กล่าวอีกว่า การทำงบประมาณ 2564 สำนักงบประมาณเสนอให้มีการปรับปรุงเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ช่วงเดียวกับการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน กลับพบว่าไม่มีหน่วยงานใดเสนอปรับลดงบประมาณตัวเองเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด ส่งผลให้สำนักงบประมาณต้องตัดงบประมาณเองและสุดท้ายต้องเอาไปไว้ที่งบกลาง ความเหลื่อมล้ำที่รุนแรง เมื่องบประมาณ 2564 ไม่มีการแก้ไขจึงเป็นเพียงงบประมาณปกติเท่านั้น ไม่ใช่การจัดทำงบประมาณในภาวะฉุกเฉิน ถ้างบประมาณ 2564 ไม่มีการปรับแผนแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำแล้ว ก็ต้องไปใช้เงินจากพระราชกำหนดกู้เงิน กฎหมายโอนงบประมาณ

"งบจากเงินกู้ 4 แสนล้านบาท มีปัญหามาก เพราะไม่มีกรอบการดำเนินการที่ชัดเจน และทุกอย่างต้องไปขึ้นอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ทั้งหมด ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ประกาศว่าห้ามใครมาแทรกแซงเงิน 4 แสนล้านบาท แต่ตอนนี้ที่จังหวัดตรังพบว่ามีคนแอบอ้างเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีและระบุว่ามีงบในมือ 300 ล้านบาท ใครจะขอให้บอกมา ดังนั้นหากจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ จะต้องปรับวิธีการกลั่นกรองงบเงินกู้ใหม่ทั้งหมดเพื่อให้ถึงมือประชาชน ปรับหลักเกณฑ์ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินเพื่อให้การปล่อยสินเชื่อถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแท้จริง และต้องปรับโครงสร้างงบประมาณ 2564 ใหม่เพื่อให้เป็นงบประมาณสำหรับสถานการณ์วิกฤตไม่ใช่ทำเหมือนงบประมาณปกติแบบที่ผ่านมา" นายสาทิตย์ กล่าว

“มงคลกิตติ์” เสนอรัฐบาล เปิดบ่อนถูกกฎหมาย – ขุดคลองไทย ช่วยฟื้นเศรษฐกิจกระทบโควิด-19

นายมงคลกิตติ์ สุขสินธรานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ อภิปรายถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทำให้คนไทยมีโอกาสว่างงานสูง 2 - 8 ล้านคน จึงเสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาแบบ New Normal ใช้วิกฤตเป็นโอกาส รัฐบาลจึงควรหารายได้นอกงบประมาณที่มีในประเทศอยู่แล้ว เช่น ควรออกกฎหมายให้เปิดบ่อนการพนันถูกกฎหมายทั้งเล่นจริงและเล่นออนไลน์ เฉพาะชาวต่างชาติหรือคนไทยไม่เกินร้อยละ 6 ซึ่งจะเพิ่มรายได้ถึง 1 ล้านล้านบาทต่อปี สามารถใช้หนี้สาธารณะ ช่วยเหลือคนตกงาน และสามารถเสริมสร้างสวัสดิการ รวมถึงควรขุดคลองไทยเชื่อมอันดามันกับอ่าวไทย สร้างเส้นทางเดินเรือใหม่ ทำให้เกิดห่วงโซ่การลงทุน มีการจ้างงานเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 2 ล้านอัตรา เชื่อมมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก

อ่านเพิ่มเติม