ไม่พบผลการค้นหา
ส.ส.ก้าวไกล จวกรัฐบาลปรับลดงบฯสวัสดิการประชาชน แนะถอน พ.ร.ก.กู้เงินออกเปลี่ยนมาใช้ พ.ร.บ.แทน ฉะรัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจไม่จำเป็นต้องมีนายกฯ

วันที่ 31 พ.ค. 2564 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วาระที่หนึ่ง ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 ว่า สมควรแล้วหรือที่รัฐบาลปรับลดงบประมาณลง 1.85 แสนล้านบาท ซึ่งเท่ากับปล่อยงบประมาณให้เป็นไปตามยถากรรม และประชาชนต้องรับกรรมต่อไป รัฐบาลอาจอ้างว่า เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย แต่ถ้ารัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณ ก็ให้ข้าราชการประจำมาบริหารก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี 

ศิริกัญญา กล่าวว่า งบประมาณปี 2565 ได้ปรับลดสวัสดิการประชาชนลงกว่า 30,000 ล้านบาท นั่นหมายถึง จะมีเงินลงไปสู่ประชาชนน้อยลง เพราะงบประมาณส่วนหนึ่งต้องใช้หนี้เก่าที่สะสมไว้ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยจึงเปรียบเหมือนคนป่วยด้วยโรคปัจจุบัน และถูกรุมเร้าด้วยโรคประจำตัวเรื้อรังมานาน 

“เมื่อจำเป็นต้องตัดลดงบประมาณลง รัฐบาลเลือกที่จะปรับลดงบประมาณสวัสดิการประชาชนลง เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ถูกตัดไป 2,000 ล้านบาท ประกันสังคม 19,000 ล้านบาท กองทุนสวัสดิการประชารัฐ 20,000 ล้านบาท การเคหะแห่งชาติ กองทุนการออมแห่งชาติ ถูกตัดงบลงครึ่งหนึ่ง 

อีกส่วนคือเงินฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤตโควิด เช่น งบประมาณการศึกษา ปรับลด 24,000 ล้านบาท งบกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม 5,000 ล้านบาท งบกองทุนส่งเสริมเอสเอ็ม 40% งบแผนบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 50% แผนพัฒนาอุตสาหกรรมและการบริการแห่งอนาคต ลดลง 20% 

ขณะที่วัคซีนเข็มที่ 3-4 ยังไม่ได้ตั้ง การชดเชยความเสียหายให้ผู้ประกอบการที่ถูกปิดก็ยังไม่มี ถูกปิดมา 3 รอบแล้ว ยังไม่ได้รับเงินชดเชยสักบาทเดียว อย่ามาอ้างว่าจะให้ใช้งบฟื้นฟู 500,000 ล้านบาท  เพราะไม่มีอะไรการันตีว่าท่านจะทำได้จริง”

ศิริกัญญา กล่าวว่า งบประมาณปี 2565 พบว่า รายจ่ายลงทุนถือว่าถูกตัดน้อยมากเพียง 4% ซึ่งเป็นปัญหาจาก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่รัฐบาลเขียนขึ้นมามัดมือตัวเอง ว่ารายจ่ายลงทุนต้องไม่น้อยกว่า 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฉบับนี้มีปัญหา ควรต้องมีการแก้ไขให้มีความยืดหยุ่น ยามประเทศเผชิญวิกฤต รัฐบาลอย่าหลับหูหลับตา กอดกฎหมายไว้กับตัวแล้วบอกว่าฉันทำถูกกฎหมาย มิเช่นนั้นวิกฤตครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย 

“ถ้ารัฐบาลยังเอาหลังพิงกฏหมาย แล้วมัดมือมัดเท้าประชาชน โยนความผิดของตัวเองออกจากตัว เลือกโยนภาระมาให้ประชาชน ก็ยืนยันอีกครั้งว่าไม่ต้องมีรัฐบาลก็ได้ เอาข้าราชการมาบริหารประเทศแทนได้เลย ตราบใดที่ท่านไม่มีภาวะผู้นำในยามวิกฤต ในการตัดสินใจเรื่องยากสุ่มเสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ เราจะไม่มีทางพ้นวังวนแห่งวิกฤตได้ ไม่มีทางที่จะฟื้นตัวต่อให้วิกฤตโควิดหมดไปแล้วก็ตาม” 

ศิริกัญญา ทิ้งท้ายว่า ขอให้ถอด พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ออกจากสภาฯ ขอให้นายกรัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออก และให้รัฐบาลใหม่ออก พ.ร.บ.กู้เงิน และจัดทำงบประมาณกลางปี เพื่อให้มีงบประมาณด้านการศึกษาและการฟื้นฟูประเทศกลับคืนมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง