ไม่พบผลการค้นหา
กรีนพีซ ประสานเสียงเครือข่ายภาคประชาชน จี้รัฐบาลจริงจังแก้ PM 2.5 ยัน ไม่ใช่ธรรมชาติลงโทษ แต่เป็น'รัฐไร้ประสิทธิภาพ- พัฒนาผิดทิศผิดทาง'

มูลนิธิกรีนพีซ ประเทศไทย รวมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, Friend Zone และ Climate Strike Thailand จัดกิจกรรม "พอกันที ขออากาศดีคืนมา" บริเวณด้านข้างวัดเบญจมบพิตร ฝั่งคลองเปรมประชากร เพื่อแสดงพลังกู้วิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 ผลักดันให้รัฐบาลแก้ปัญหาปกป้องสุขภาพของประชาชน

มีการตั้งขบวนก่อนเคลื่อนไปอ่านเเถลงการณ์ร่วมโดยนายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีน พีซประเทศไทยและยื่นหนังสือถึงรัฐบาลในภายสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ตรงข้ามประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล ยืนยันหลักการ "อากาศดีคือสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน" โดยมีนายนพดล พลเสน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม มารับหนังสือ


กรีนพีซ.jpg


สำหรับแถลงการณ์ ระบุถึงระดับฝุ่นพิษ PM 2.5 ขณะนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพและส่งผลกระทบในวงกว้าง เกิดอาการแพ้อย่างหนัก ตั้งแต่ แสบตา เจ็บคอ หายใจไม่สะดวก ไปจนถึงเลือดกำเดาไหล ไอเป็นเลือด ซึ่งอาการเหล่านี้สอดคล้องกับงานศึกษาผลกระทบสุขภาพจากฝุ่นพิษ PM2.5 ทั้งขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO สหภาพยุโรป และองค์การพิทักษ์สิ่งวดล้อมแห่งสหรัฐอมริกา โดยรายงานของ state of Global Air ในปี 2558 ระบุว่า ที่ฝุ่นพิษเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรในประเทศไทย ประมาณ 37,500 คนต่อปี และในปี 2556 WTO กำหนดอย่างเป็นทางการให้ฝุ่นพิษ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง

แม้รัฐบาลกำหนดให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติแต่ไม่มีแผนปฏิบัติการ ขาดการเตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนป้องกันได้ทันท่วงที ขณะที่มติคณะรัฐมนตรี ในการยกระดับมาตรฐานการป้องกันวิกฤต 12 ข้อ ก็ขาดเป้าหมายที่ชัดเจนและไม่มีฐานข้อมูลที่มาจากผลการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง และเป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐมีหน้าที่ต้องควบคุมตรวจสอบและดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว ซ้ำร้ายคือสิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอต่อสาธารณะ คือความเพิกเฉยต่อปัญหาสะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในภาพรวม และโยนภาระมาให้ประชาชนที่เป็นผู้เสียภาษี


กรีนพีซ.jpg


ในท้ายที่สุดเครือข่ายภาคประชาชน เสนอว่าให้รัฐบาลปรับมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศของประเทศไทยให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายชั่วคราวที่ 3 ของ WHO โดยค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงคือ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, มีมาตรการลดการปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษ ทั้งโรงไฟฟ้า, โรงงานอุตสาหกรรมและรถยนต์, ตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน

ส่วนการแก้ปัญหาในภาคเกษตรกรรม ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของอภิสิทธิ์ชนและการส่งเสริมบทบาทกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่วนมาตรการลดการเผาต้องเข้มข้น ต้องยุติการรับซื้อผลผลิตที่มาจากการเผา ทั้งในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยน โดยในระยะยาวต้องลดพื้นที่การผลิตพืชเชิงเดี่ยว 

เครือข่ายฯ ยืนยันว่า วิกฤต PM2.5 ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติลงโทษหรือความโชคร้าย แต่รากเหง้าของปัญหามาจากการพัฒนาที่ผิดทิศทางและไม่มีมาตรการป้องกันอย่างเพียงพอ โดยตอนท้ายแถลงการณ์ระบุว่า หากประเทศไทยเริ่มต้นถอดรื้ออุปสรรคเชิงโครงสร้างการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในทิศทางที่ถูกต้อง จะสามารถผ่านวิกฤตมลพิษทางอากาศนี้ได้ เพื่อสุขภาวะที่ดีและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรมในสังคม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :