ไม่พบผลการค้นหา
ปธน.เกาหลีใต้ที่เป็นฝ่ายหนุนประชาธิปไตย ยืนยันต้องหาตัวคนสั่งยิงประชาชน เพื่อสะสางข้อเท็จจริง 'เหตุการณ์ 18 พ.ค.' ซึ่ง นศ.-ประชาชน ลุกฮือต้านรัฐบาลทหาร นำไปสู่การสังหารหมู่ ซ้อมทรมาน ละเมิดทางเพศ เมื่อ 40 ปีที่แล้ว

มุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ร่วมพิธีรำลึก 40 ปีเหตุการณ์สังหารหมู่ 18 พ.ค.2523 หรือ 'เหตุการณ์ 18 พฤษภาฯ' ซึ่งทหารเกาหลีใต้ใช้กำลังอาวุธเข้าปราบปรามนักศึกษาและประชาชนที่ลุกฮือขึ้นต่อต้านการขยายเวลาบังคับใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศของอดีตรัฐบาลภายใต้การนำของ 'นายพลชอนดูฮวาน' ขณะนั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 165 ราย และบาดเจ็บอีกราว 1,000 คน

นอกเหนือจากการสั่งยิงประชาชนแล้ว ยังมีรายงานด้วยว่าทหารเกี่ยวพันกับการซ้อมทรมานผู้ชุมนุมชายและละเมิดทางเพศผู้ชุมนุมหญิงที่ถูกจับกุมในเหตุการณ์ดังกล่าวอีกด้วย

เว็บไซต์ Yonhap หนังสือพิมพ์เกาหลีใต้ รายงานว่าปีนี้เป็นปีแรกที่กระทรวงผู้รักชาติและทหารผ่านศึกของเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพจัดพิธีรำลึกเหตุการณ์ 18 พฤษภาฯ และมูลนิธิกวางจู ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตย รวมถึงการบันทึกข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ 18 พฤษภาฯ ระบุว่า "นี่เป็นความคืบหน้าที่สำคัญ" เพราะรัฐบาลเกาหลีใต้ในอดีต ไม่เคยแสดงท่าทียอมรับว่าเหตุการณ์นองเลือดที่เกิดขึ้นในเมืองกวางจูเมื่อ 40 ปีก่อนเป็นความรับผิดชอบของภาครัฐด้วย

AFP-มุนแจอิน รำลึกเหตุการณ์ 18 พฤษภา ครบรอบ 40 ปี เมื่อ 18 พ.ค.2020.jpg
  • พิธีรำลึกเหตุการณ์ 18 พฤษภาฯ จัดขึ้นในวันที่ 17 พ.ค. ตรงกับวันที่อดีตรัฐบาลทหารประกาศขยายกฎอัยการศึก
AFP-เกาหลีใต้รำลึกเหตุการณ์กวางจู 18 พฤษภา แบบเว้นระยะห่างทางสังคมช่วงโควิด-19.jpg

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่มุนแจอินชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2560 และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีก็ได้สั่งรื้อฟื้นการไต่สวนเหตุการณ์ 18 พฤษภาฯ ขึ้นมาใหม่ เพราะเขาเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนขบวนการภาคประชาสังคม และเป็นอดีตทนายความสิทธิมนุษยชน โดยสื่อหลายสำนักเรียกเขาว่าประธานาธิบดีผู้สนับสนุนประชาธิปไตย

ส่วนพิธีรำลึกเหตุการณ์ 18 พฤษภาฯ รวมถึงการไว้อาลัยผู้เสียชีวิตและสูญหายในปีนี้ ถูกจัดขึ้นที่อนุสรณ์สถานในเมืองกวางจู ห่างจากกรุงโซลของเกาหลีใต้ประมาณ 300 กิโลเมตร โดยมีการบังคับใช้นโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย


อาชญากรรมที่รัฐชี้นำ ต้องตามหาตัว 'ใครสั่งยิงประชาชน'

เว็บไซต์ Korea Herald รายงานอ้างอิงคำแถลงของ ปธน.มุนแจอิน อ้างอิงกรณีทหารเปิดฉากยิงกระสุนจริงจากบนเฮลิคอปเตอร์ เข้าใส่ผู้ชุมนุมที่กำลังเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลทหารของนายพลชอนดูฮวานเมื่อปี 2523 โดยมุนระบุว่า จะต้องไต่สวนให้ชัดเจนว่าใครเป็นผู้ออกคำสั่งให้ทหารลงมือกับพลเรือน และต้องค้นหาความจริงว่ามีการปกปิดหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ดังกล่าวในภายหลังด้วยหรือไม่

ถ้อยแถลงของมุนแจอินเกี่ยวพันถึงอดีตผู้นำรัฐบาลทหารและเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มีแนวคิดสนับสนุนการรัฐประหารยึดอำนาจในอดีต และสมาชิกพรรคการเมืองที่มีแนวคิดชาตินิยม-อำนาจนิยมที่ยังมีบทบาททางการเมืองเกาหลีใต้มาจนถึงปัจจุบัน 

มุนย้ำว่า การไต่สวนข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ 18 พฤษภาฯ คือเรื่องที่ต้องทำ เพราะถือเป็นเหตุการณ์ที่รัฐมีส่วนชี้นำให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การตามหาตัวผู้ออกคำสั่งยิงประชาชน ไม่ได้มีเป้าหมายหลักเพื่อลงโทษผู้ก่อเหตุ แต่เพื่อให้สังคมสามารถเรียนรู้ข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การให้อภัยและความสมานฉันท์

คำกล่าวของมุนสืบเนื่องจาก 'อดีตนายพลชอนดูฮวาน' ผู้มีอำนาจในปีที่เกิดเหตุการณ์ 18 พฤษภาฯ ถูกตัดสินความผิดในคดีสั่งปราบปรามประชาชนในเมืองกวางจูไปแล้วในปี 2539 แต่ถูกคุมขังในคุกเพียง 250 วันก็ได้รับอภัยโทษจาก 'คิมยองซัม' ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในขณะนั้น โดยระบุว่าเพื่อเป็นการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในสังคม

AFP-ญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ May 18 ที่เมืองกวางจู เคารพศพที่อนุสรณ์สถาน 14 พ.ค.2020.jpg
  • ญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 18 พฤษภาฯ เคารพหลุมศพในเมืองกวางจู

เครือข่ายญาติผู้เสียชีวิตและนักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตยเกาหลีใต้มองว่า บทลงโทษชอนดูฮวานนั้นเบาเกินไป และเขาก็ไม่เคยแสดงความเสียใจหรือกล่าวขอโทษต่อผู้ได้รับผลกระทบเลย แต่รัฐบาลเกาหลีใต้ขณะนั้น รวมถึงหลายรัฐบาลต่อจากนั้น มองว่าคดี 18 พฤษภาฯ ถูกปิดไปแล้ว

จนกระทั่งมาถึงยุคของมุนแจอิน จึงมีคำสั่งรื้อฟื้นการไต่สวนคดีขึ้นมาใหม่ เพื่อ 'ชำระประวัติศาสตร์' ให้ถูกต้องและครอบคลุมข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย


บิดเบือนเจตนารมณ์ประชาชน 'เป็นภัย' ต่อประชาธิปไตย

เมื่อปี 2562 อดีตนายพล'ชอนดูฮวาน' ถูกฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาท สืบเนื่องจากการที่เขากล่าวหาบาทหลวงผู้ที่เป็นพยานให้ปากคำเรื่อง 'ทหารยิงประชาชน' ว่าเป็น 'คนโกหก' ทั้งยังระบุว่าตนไม่เคยสั่งยิงประชาชนเลย โดยข้อมูลดังกล่าวอยู่ในหนังสืออัตชีวประวัติซึ่งเพิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อไม่กี่ปีก่อน

ท่าทีของชอนดูฮวานได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมือง LKP ที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม-ชาตินิยม และไม่เห็นด้วยกับพรรครัฐบาล DP ของเกาหลีใต้ซึ่งพยายามรื้อฟื้นการไต่สวนเหตุการณ์ 18 พฤษภาฯ ขึ้นมาใหม่

สมาชิกพรรค LKP รายหนึ่งระบุว่า ผู้ที่เปิดฉากโจมตีประชาชนในเมืองกวางจูเมื่อครั้งอดีต คือ 'ทหารเกาหลีเหนือ' ที่แฝงตัวเข้ามา ทำให้เครือข่ายญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 18 พฤษภาฯ ไม่พอใจอย่างมาก และมองว่านี่คือการ ใส่ร้ายและบิดเบือนประวัติศาสตร์

คดีมีความคืบหน้าเมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลเกาหลีใต้เบิกตัวชอนดูฮวาน แต่ศาลยังไม่มีคำตัดสินในคดีดังกล่าว แต่เป็นคดีที่ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีใต้ชำระประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง เพราะมองว่าความพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงของผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในอดีตอาจส่งผลต่อการรับรู้ของสังคมในอนาคต

เครือข่ายญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 18 พฤษภาฯ ยังได้จัดขบวนรถยนต์แรลลี่ประท้วงที่ซอแทมุน บ้านเกิดของชอนดูฮวาน เมื่อ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีขบวนรถเข้าร่วมกว่า 70 คัน ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ชอนดูฮวานกล่าวขออภัยต่อผู้เสียชีวิต ทั้งยังให้สัมภาษณ์กับโคเรียเฮรัลด์ว่า พวกเขาไม่มีวันลืมสิ่งที่ชอนดูฮวานก่อเอาไว้ และจะจดจำเขาในฐานะ 'ฆาตกร'

AFP-อดีตประธานาธิบดีโนแทอู Roh Tae Woo (กลาง) และชอนดูฮวาน Chun Doo Hwan แห่งเกาหลีใต้ ถูกพิจารณาคดีสังหารหมู่กวางจู.jpg
  • ชอนดูฮวาน (ขวา) ขึ้นศาลพร้อมทายาททางการเมือง 'โนแทอู' เมื่อปี 2539

ขณะที่พัคกวางออน สมาชิกพรรค DP พรรครัฐบาลเกาหลีใต้ ระบุว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องทำควบคู่ไปกับการไต่สวนข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ 18 พฤษภาฯ คือการผลักดันกฎหมายลงโทษผู้ที่ปฏิเสธข้อเท็จจริง รวมถึงผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนประวัติศาสตร์ เพราะการกระทำเช่นนี้เป็นการต่อต้านกระบวนการประชาธิปไตยและละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ


ลำดับเหตุการณ์ 18 พฤษภาฯ 

26 ต.ค. 2522 - นายพลพัคชองฮี ผู้นำเผด็จการเกาหลีใต้ ถูกลอบสังหาร 

12 ธ.ค. 2522 - นายพลชอนดูฮวานก่อรัฐประหารยึดอำนาจปกครองประเทศ 

17 พ.ค. 2523 - รัฐบาลชอนดูฮวานประกาศขยายเวลาบังคับใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ

18 พ.ค. 2523 - นักเรียน นักศึกษา และประชาชนในเมืองกวางจู เดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านการขยายกฎอัยการศึก

22-27 พ.ค. 2523 - ทหารเกาหลีใต้ใช้กำลังอาวุธสลายการชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 165 ราย และบาดเจ็บอีกนับพันราย

ก.พ. 2524 - ชอนดูฮวานได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี โดยเป็นการเลือกตั้งใต้กฎอัยการศึก ที่มีการคุมผู้เห็นต่างไม่ให้เคลื่อนไหว จากนั้นจึงอยู่ในตำแหน่ง ปธน.อีก 7 ปี ก่อนเปิดทางให้ 'โนแทอู' ทายาททางการเมืองของตัวเองเป็นประธานาธิบดี

ปี 2538-2539 - ชอนดูฮวานถูกตั้งข้อหาหลายกระทง ทั้งการปราบปรามผู้ชุมนุมและการทุจริต ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ก็ได้รับอภัยโทษในปี 2540

พ.ค. 2560 - มุนแจอิน ที่เพิ่งได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้ สั่งรื้อฟื้นคดีสังหารหมู่ประชาชนที่เมืองกวางจู

พ.ค.2562 - ศาลเกาหลีใต้รับคำฟ้องคดีหมิ่นประมาทซึ่งทายาทของพยานในเหตุการณ์ 18 พฤษภาฯ ฟ้องชอนดูฮวาน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: