ไม่พบผลการค้นหา
'ศิริกัญญา' เปิด 5 ข้อสังเกตงบประมาณปี 66 ชี้ตั้งงบไม่สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจประเทศ รัฐวิสาหกิจได้งบเพิ่มมากสุด แต่เป็นงบจ่ายหนี้เป็นหลัก ส่วนงบด้านสวัสดิการยังพร่อง ไม่เหมือนที่หาเสียง งบท้องถิ่นลุมๆ ดอนๆ แต่งบส่วนภูมิภาคโตวันโตคืน ด้านงบกลาโหมลดจริง เพราะกองทัพเรือยอมถอนโครงการเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 แต่กองทัพอากาศได้ F-35 มาแทน 12 ลำ

ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยผ่านเพจเฟซบุ๊ก Sirikanya Tansakun - ศิริกัญญา ตันสกุล ถึงร่างพรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ซึ่งจะมีการนำเข้าสู่การประชุมอภิปรายในวาระที่ 1 วันที่ 1 มิ.ย. โดยตั้งข้อสังเกตเบื้องต้น 5 ประการได้แก่

งบประมาณปี 2566 อนุมัติวงเงินรวม 3.185 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเพียง 85,000 ล้านบาท หรือ 2.7% ไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ต้องการงบเพิ่มขึ้น

ศิริกัญญา ระบุว่า ปี 2566 จะเป็นอีกหนึ่งปีที่งบประมาณประเทศฝืดเคือง ถึงแม้ว่าจะมีการตั้งงบแบบขาดดุลและต้องกู้ชดเชยเกือบเต็มเพดานแล้วก็ตาม แต่งบประมาณในปีหน้าจะยังคงต่ำกว่างบประมาณปี 63 หรือช่วงก่อนวิกฤต นอกจากจะสะท้อนปัญหาการจัดเก็บรายได้ที่ตกต่ำตามภาวะวิกฤตแล้ว ยังสะท้อนว่าเม็ดเงินภาครัฐที่จะอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจก็มีไม่มากเช่นเดียว

หน่วยงานที่ได้งบเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือรัฐวิสาหกิจได้งบถึง 162,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 27% แต่เป็นตั้งงบเพื่อใช้หนี้เป็นหลัก

ศิริกัญญา ชี้ว่า เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ในปีนี้ รัฐวิสาหกิจเป็นหน่วยงานที่ได้รับงบเพิ่มในอัตราสูงที่สุดในบรรดาหน่วยงานทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการใช้คืนหนี้ที่รัฐบาลยืมมาใช้ในอดีต เป็นการอุดหนุนบริการสาธารณะ หรือลงทุนเพิ่มเป็นส่วนน้อย เช่น

• ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้รับงบประมาณ 84,508.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15,041 ล้านบาท (เพิ่ม 22%) โดยงบประมาณที่ตั้งทุกปีเป็นการชดเชยภาระหนี้ของรัฐที่ใช้เงินของธกส.ออกไปก่อน เช่น โครงการประกันรายได้เกษตร โครงการจำนำผลผลิตทางการเกษตร

• ธนาคารออมสิน ได้รับงบประมาณ 8,256.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,296.72 ล้านบาท (เพิ่ม 109%) โดยงบประมาณที่ตั้งทุกปีเป็นการชดเชยภาระหนี้ที่ใช้เงินธนาคารออมสินออกไปก่อน เช่น ชดเชยต้นทุนเงินและภาระดอกเบี้ยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ SME ชดเชยหนี้ NPL จากโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินในช่วงโควิด เป็นต้น

• นอกจากนี้ ยังมีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับงบประมาณ 21,524.79 ล้านบาท (เพิ่ม 69%) และการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้รับงบประมาณ 22,783 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 25%) โดยงบที่ตั้งทุกปี ส่วนใหญ่เป็นการชำระหนี้เงินกู้โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ชำระหนี้โครงการก่อสร้างทางรถไฟต่างๆ และงบอุดหนุนค่าบริการรถไฟ

สาเหตุที่ต้องมีการตั้งงบจ่ายคืนหนี้มากขึ้น เพราะรัฐบาลกู้เพิ่มจนจะชนเพดาน ตามพ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยภาระหนี้ส่วนนี้อยู่ที่ 34.2% ของงบประมาณ ใกล้ชนเพดานที่ 35% แล้ว ทำให้งบประมาณที่รัฐบาลจะเหลือไปใช้พัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ ในปีนี้ลดน้อยลงไปด้วย

หน่วยงานที่ได้รับงบเพิ่มสูงสุดรองลงมา คือ กระทรวงเกษตรฯ งบเพิ่ม 16,214 ล้านบาท เกือบทั้งหมดเพิ่มให้กรมการข้าวทำเกษตรแปลงใหญ่ ศิริกัญญา ระบุว่า กรมการข้าวได้รับงบประมาณเพิ่ม 15,000 ล้านบาท ตามแผนงานเกษตรเพิ่มมูลค่า คาดว่าจะถูกนำไปใช้กับโครงการที่เกี่ยวข้องกับเกษตรแปลงใหญ่ ต้องติดตามกันต่อว่าจะมีการตัดงบที่ใช้จากเงินนอกงบประมาณอย่างมาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าว สินเชื่อรวบรวมข้าว รวมถึงมาตรการช่วยค่าเก็บเกี่ยวหรือไม่ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของงบประมาณ

แต่กรมที่เป็นที่สนใจของประชาชนจากสถานการณ์โรคระบาดในสัตว์ ทั้งลัมปีสกินและอหิวาห์แอฟริกันในสุกร รวมถึงยังต้องรับมือป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกอย่างกรมปศุสัตว์ งบเพิ่มขึ้นเพียง 51 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเพียง 1 %เท่านั้น ทั้งที่สถานการณ์ปศุสัตว์ของไทยต้องการปฏิรูปกระบวนการผลิตเพื่อรองรับกับสถานการณ์โรคระบาดในสัตว์อย่างเร่งด่วน

หน่วยงานที่ได้งบเพิ่มเป็นอันดับ 3 คือ กระทรวงทรัพย์ฯได้งบเพิ่มเกือบ 9% ต้องลุ้นว่าจะคืนงบเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหรือไม่ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากที่สุดในส่วนของแผนงานยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าเป็นการคืนงบประมาณสำหรับค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เป็นข่าวดังเมื่อปีที่ผ่านมาว่าถูกปรับลดงบประมาณลงในปี 65 จำนวน 885 ล้านบาท ต้องมาลุ้นกันต่อว่าจะเป็นการเพิ่มงบค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหรือไม่ หลังจากที่โดนตัดงบไปจนต้องเลิกจ้างไปเกือบ 2,000 คน

งบสวัสดิการยังกะพร่องกะแพร่ง ไม่ถ้วนหน้า ไม่เพียงพออย่างที่หาเสียง

• งบประมาณปีสุดท้ายของรัฐบาลนี้ ยังไม่เห็นวี่แววที่จะทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ เช่น งบสวัสดิการเงินเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดยังคงไม่ถ้วนหน้ายังจากที่รอมา 4 ปี! แถมถูกลดงบไป 325 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ที่ผ่านมาตั้งงบไว้ไม่เคยพอ และต้องของบกลางเพิ่มทุกปี

• ตั้งงบกองทุนบัตรประชารัฐฯ ไม่เพียงพอใช้ทำสวัสดิการ จากที่รัฐบาลประกาศว่าจะเพิ่มผู้ได้รับสวัสดิการเป็น 20 ล้านคน แต่กลับตั้งงบไว้เพียง 35,000 ล้านบาท จากที่เคยตั้งไว้สูงถึง 49,500 ล้านบาทในปี 64 ซึ่งเท่ากับว่าจะไม่เพียงพอสำหรับการให้สวัสดิการตามฐานผู้มีบัตรเดิม 14 ล้านคนด้วยซ้ำ หากไม่มีการตัดสวัสดิการบางอย่างลง ประชาชนอาจจะต้องรอลุ้นว่าจะได้งบกลางมาเติมในช่วงกลางปี

• งบประมาณของสำนักงานประกันสังคมยังคงเพิ่มขึ้นไม่มาก ส่อแววว่ารัฐบาลจะลดเงินสมทบในส่วนของรัฐลง และไม่ชำระหนี้เดิมที่ค้างอยู่กว่า 60,000 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ตลอดการแพร่ระบาดของโควิด รัฐบาลได้ลดเงินสมทบฝั่งลูกจ้าง และนายจ้าง รวมถึงนำเงินกองทุนฯ ไปใช้เยียวยาไปมากกว่าแสนล้านบาท ดังนั้น หากรัฐบาลไม่มีแผนในการเติมเงินเข้าสู่กองทุนประกันสังคม ก็มีความเสี่ยงอย่างมากที่กองทุนจะไม่สามารถประกันสิทธิของผู้ประกันตนได้ เช่นเดียวกับกองทุนการออมซึ่งตั้งงบไว้ไม่เพียงพอสำหรับการจ่ายเงินสมทบ

• งบกระทรวงศึกษาธิการลดลง 4,500 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะงบบุคลากรลดเพราะจำนวนครูเกษียณเพิ่มขึ้น และงบรายหัวลดลงตามจำนวนนักเรียน อย่างไรก็ดี ควรใช้โอกาสนี้เพิ่มงบรายหัวเด็กที่จะถึงตัวนักเรียนโดยตรงที่ไม่ได้ปรับงบต่อหัวเพิ่มมา 10 ปีแล้ว ที่สำคัญยังไม่เห็นวี่แววการตั้งบประมาณโครงการฟื้นฟูการเรียนรู้เด็กจากช่วงโควิดในปีนี้อีกเช่นเคย

งบท้องถิ่นยังลุ่มๆ ดอนๆ ในขณะที่งบส่วนภูมิภาคโตวันโตคืน

• งบประมาณกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพิ่มขึ้น 5,200 ล้านบาท คาดว่าส่วนหนึ่งจะเป็นเงินชดเชยภาษีที่ดินให้กับ อปท. ที่ค้างจ่ายมา 2 ปีแล้ว แต่ยังคงชดเชยไม่ครบตามจำนวนที่ติดหนี้กว่า 50,000 ล้านบาท จากการลดภาษีที่ดิน 90% แถมยังตั้งงบคืนให้อปท. ไม่ครบทุกแห่งอีกด้วย

• งบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดพุ่งขึ้นถึง 25% ทั้ง ๆ ที่โครงการในลักษณะเดียวกันได้รับงบเงินกู้ผ่านโครงการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากไปแล้วเกือบ 23,000 ล้านบาทในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากแผนงานฟื้นฟูฯ ภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้ทั้งสองฉบับ รวมแล้วกว่า 1,942 ล้านบาท และงบประมาณจากงบกลางอีก 19,904 ล้านบาท

งบกระทรวงกลาโหมงบลดลงจริง แต่งบบุคลากรยังเพิ่มในทุกเหล่าทัพ กองทัพเรือยอมถอยเรือดำน้ำกลัวงบตกน้ำ กองทัพอากาศได้ F-35 มาแทน

• งบกระทรวงกลาโหมลดลงเล็กน้อย แต่งบบุคลากรของกระทรวงกลาโหมกลับเพิ่มขึ้น ปี 66 อยู่ที่ 107,436 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 65 ประมาณ 2,401 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นมากที่สุดในกองทัพบก 1,345 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่ากองทัพยังไม่จริงจังไม่มากพอในการลดกำลังพลของกองทัพ ซึ่งงบบุคลากรของกระทรวงกลาโหมคิดเป็น 14% ของงบบุคลากรทั้งหมดของประเทศ

• ปีงบประมาณ 2566 กองทัพบก ได้รับโอนโครงการก่อสร้างหอประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ภายใต้โครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าของแผ่นดิน จากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 65 หากนำไม่นำโครงการดังกล่าวมารวมในงบประมาณของกระทรวงกลาโหม งบประมาณของกระทรวงกลาโหมจะลดลงเพียง 2,722 ล้านบาท

• กองทัพเรือยอมถอนโครงการเรือดำน้ำลำที่ 2-3 วงเงิน 22,500 ล้านบาทออกไป แต่ไม่ใช่เพราะต้องการประหยัดงบประมาณเพื่อชาติ แต่เพราะทราบดีว่าจะต้องถูกกระแสต่อต้าน และหากถูกตัดงบหรือต้องถอนโครงการงบประมาณในส่วนนี้จะตกน้ำถูกแปรไปให้หน่วยงานอื่นทันที ไม่ได้กลับไปที่กองทัพเรือ

• กองทัพอากาศจะจัดจัดซื้อเครื่องบิน F-35 12 ลำ มูลค่า 13,500 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ตามแผนงานที่วางไว้ล่วงหน้าจะจัดหาเครื่องบินทดแทน F-16 ทั้งหมด 12 ลำอยู่แล้ว และดูจะเป็นโครงการจัดซื้อเครื่องบินที่อยู่ในแผนเพียงโครงการเดียว จึงเกิดความสับสนว่าการจัดซื้อ F-35 จะเป็นการซื้อ “เพิ่มเติม” หรือซื้อ “ทดแทน” กันแน่ เพราะทั้ง 2 โครงการต้องใช้งบประมาณหลายหมื่นล้าน และเป็นภาระผูกพันในระยะยาวแทบทั้งสิ้น

"เห็นเค้าลางว่างบปี 66 แม้ว่าจะเป็นการตั้งงบครั้งสุดท้ายของรัฐบาลประยุทธ์ แต่ก็ยังคงสร้างความผิดหวังอีกเช่นเคย แต่ถ้าอยากมีความหวัง เชิญชวนทุกท่านร่วมติดตามงาน "Hackathon งบ 66 -- งบแบบไหนที่เราอยากเห็น?" ที่จะเปิดโอกาสให้ทุกท่านได้มีส่วนร่วมในการออกแบบงบประมาณที่ประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุดกับพวกเรา พรรคก้าวไกล เร็วๆ นี้" ศิริกัญญา ระบุ