ไม่พบผลการค้นหา
‘ศิริกัญญา’ ตอกรัฐบาล งบผ่านมากี่ปีไม่เคยพัฒนา โครงสร้างเน่าเฟะ นโยบายขายฝันพุ่งคนละเป้า ทำสำเร็จไม่เคยเกินครึ่ง

วันที่ 2 มิ.ย. 2565  ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ เป็นวันสุดท้าย โดย ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวก่อนการอภิปรายถึงความสำคัญของร่างงบฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออนาคตของรัฐบาลและประเทศ โดยย้ำว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ มูลค่า 3.185 ล้านล้านบาทนี้มีปัญหาโครงสร้าง มีงบที่ตัดไม่ได้ เช่น รายจ่ายบุคลากร ชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ย และอีกหลายงบผูกพัน เยอะเกินไป โดยไม่อาจจะลดลงได้ในระยะสั้น แบ่งใช้กันกว่า 400 หน่วยงาน จนเกิดเป็นเบี้ยหัวแตก จึงต้องตรวจสอบคำแถลงนโยบายในแต่ละปีของนายกรัฐมนตรี เพื่อหาต้นตอของปัญหา

เมื่อประเมินผลสำเร็จของการดำเนินงานว่าสามารถทำนโยบายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้หรือไม่ พบว่าหลายปีสำเร็จไปไม่ถึงครึ่งจากที่ตั้งเป้าไว้ในการแถลงนโยบายอย่างทะเยอทะยาน แม้ดัชนีชี้วัดการทุจริตก็ยังไม่เคยทำอันดับได้เท่าที่คาดหวัง แต่หลายครั้งที่รัฐมนตรีชี้แจงในสภา กลับกล่าวถึงแต่ผลสำเร็จ โดยไม่ได้พูดถึงตัวชี้วัดต่างๆ ที่กำหนดไว้ ว่าผลสำเร็จที่มีเป็นส่วนน้อย

ศิริกัญญา อภิปรายว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวถึงการกระจายอำนาจให้ส่วนท้องถิ่นเสมอมา ดังนั้น ควรเริ่มจากการชดเชยภาษีที่ดินซึ่งปรับลดโดยรัฐบาลเสียที โดยได้มีมติของ สำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) แล้วว่า ต้องชดเชยหนี้ติดค้าง ปี 2565-2566 เป็นจำนวนปีละ 10,378 ล้านบาท ถ้านายกฯ ส่งเสริมการกระจายอำนาจจริง ก็ไม่ควรยอมให้สำนักงบประมาณตัดรายการนี้ออกแต่ต้นระหว่างการจัดทำงบประมาณ ควรต้องทำตามสัญญา

ศิริกัญญา ก้าวไกล ประชุมสภา E_ALBUM_งบประมาณ วันที่สาม_220602_2.jpg

สำหรับนโยบายใหม่ในปี 2566 คือ ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า ซึ่งขีดเส้นไว้ว่าจะขจัดปัญหาความยากจนให้หมดไปภายใน ก.ย. 2565 แต่ก็ยังไม่เห็นวี่แวว ขณะที่ตัวชี้วัดก็ไม่สมเหตุสมผล หลายโครงการก็มีเป้าที่ไม่ตรงกัน และงบประมาณที่ได้รับก็น้อยนิด จากข้อมูลตามเอกสารงบประมาณ ปี 2566

“ปกติร่างงบฯ แต่ละฉบับ คือการแถลงนโยบายประจำปีของรัฐบาล คือการให้คำมั่นสัญญากับประชาชนว่าปีนี้จะมีการดำเนินนโยบายอย่างไรผ่านการใช้จ่ายงบประมาณ แต่ว่า 4 ปีผ่านมา เราไม่เห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ไม่มีการแตะเรื่องโครงสร้างงบประมาณ ร่างงบฯ ของปี 2566 ก็เป็นการสรุปรวบยอด 4 ปีแห่งความสิ้นหวังของงบแผ่นดินในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เต็มไปด้วยเบี้ยหัวแตก งบแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ไม่ตอบโจทย์ทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาวของประเทศ ไม่ได้เอาโจทย์ของประชาชนหรือ ส.ส. มาตั้ง เอาโจทย์ของนายกฯ มาตั้ง แต่ก็ยังล้มเหลว” ศิริกัญญา กล่าว