ไม่พบผลการค้นหา
นักเศรษฐศาสตร์ต้องเร่งหาวิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจใหม่ เนื่องจากนโยบายแบบเดิมๆ แก้ปัญหาการแพร่ระบาดไม่ได้ ทางออกสำคัญคือการหยุดยั้งโรคและต้องการความร่วมมืออย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

สิ่งที่เหล่านักกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเผชิญไม่ใช่แค่ความท้าทายธรรมดาที่มีหนังสือเขียนถึงไว้ แต่เป็นการพังทลายของเศรษฐกิจด้วยอัตราความไวแสงที่ร้ายแรงถึงตายได้จากวิกฤตโรคระบาด ทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงจากตลาดการเงินที่คอยแต่จะสุมไฟให้แรงขึ้นไปอีก

‘บาซูก้า’ หรือนโยบายการเงินการคลังมูลค่ามหาศาลแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนถูกหยิบออกมาใช้จากแทบทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น 'เจอโรม เพาเวลล์’ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และ ‘สตีเฟน มนูชิน’ รัฐมนตรีว่าการกระทรางการคลังของสหรัฐฯ ที่ออกมาทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และบังคับใช้เม็ดเงินมหาศาลเพื่อช่วยเหลือระบบเศรษฐกิจอันดับที่หนึ่งของโลก

แม้แต่ ‘อังเกลา แมร์เคล' นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และ ‘คริสตีน ลาการ์ด’ ประธานธนาคารกลางแหง่สหภาพยุโรป (อีซีบี) ผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์ช่วงวิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรป ในปี 2553 หรือสองปีให้หลังจากที่สหรัฐฯ เผชิญหน้ากับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ก็ยังต้องกลับเข้ามาเล่นเกมแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกนี้อีกครั้ง 

คริสตีน ลาการ์ด - อังเกลา แมร์เคลิ
  • ‘คริสตีน ลาการ์ด’ (ซ้าย), 'อังเกลา แมร์เคล' (ขวา)

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ หรือแม้แต่ประชาชนธรรมดาก็มองออกแล้วว่าไม่มีมาตรการใดเพียงพอในการต่อกรกับวิกฤตไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 นี้ได้ หากวิธีการหลักในการหยุดยั้งโรคคือการปิดประเทศ ปิดเมือง และกักตัว ซึ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจหยุดชะงัก

‘คีแนท รูกอฟฟ์’ ศาสตรจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและอดีตประธานนักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ชี้ว่า “ความลึกของการถดถอยครั้งนี้ถ้ามองในแง่ของการว่างงานและผลผลิตมวลรวมที่ลดลงไม่สามารถเทียบกับเหตุการณ์ใดในรอบ 150 ปีนี้ได้เลย”

รูกอฟฟ์ ยังชี้ว่า “เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่เรากำลังใช้อยู่สำคัญก็จริง แต่นี่มันคือหายนะทางธรรมชาติหรือสงคราม เราอยู่ท่ามกลางสภาวการณ์นี้และการหาทางออกเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้”

สิ่งที่รูกอฟฟ์ พยายามจะสื่อคือ ถึงเวลาแล้วที่นโยบายอัดฉีดเงินเข้าระบบที่ธนาคารกลางและรัฐบาลในแต่ละประเทศใช้จะต้องเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจหมายถึงการหยุดหนี้มหาศาลในประเทศเขตเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่อาทิ อินเดีย ที่จะโดนผลกระทบจากไวรัสเล่นงานอย่างหนักหน่วง หรือการที่เฟดอาจจะต้องย้อนกลับมาดูแนวนโยบายที่ไม่เคยใช้อย่างการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบ 


คู่มือเก่าใช้แก้ปัญหาใหม่ไม่ได้

ท่ามกลางความไม่แน่นอนและสถานการณ์แพร่ระบาดที่ยังควบคุมไม่ได้ ก็ยังมี 3 ปัจจัยสำคัญที่โลกรู้แล้วว่าเป็นความจริงอันน่าเจ็บปวด ได้แก่

อู่ฮั่น โควิด.jpg

1. ตรรกะเกี่ยวกับวงจรธุรกิจแบบทั่วไปใช้ไม่ได้ในโมเดลแก้ปัญหาครั้งนี้ สิ่งที่โลกกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้คือภัยพิบัติโรคระบาด การจะยับยั้งสิ่งนี้ทำให้รัฐบาลไม่มีทางเลือกมากไปกว่าการหยุดการเคลื่อนที่ของประชาชน ซึ่งอีกนัยก็คือการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แม้จะเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยควบคุมการแพร่ระบาด แต่มาตรการดังกล่าวก็ทำร้ายเศรษฐกิจมหาศาลเช่นเดียวกัน

2. สิ่งที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังทำตอนนี้คือเน้นไปที่การป้องกันการเลิกจ้างงานและการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าภาคเอกชนแทน ซึ่งปัญหาที่อาจตามมาได้หลังจากนี้คือช่องโหว่ของเครดิตเสียที่จะก่อให้กับสัดส่วนการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นธนาคารพาณิชย์ก็จะปล่อยกู้ยากขึ้น เมื่อธนาคารปล่อยกู้ยากขึ้นบริษัทที่ต้องการเงินกู้ก็จะล้มละลาายมากขึ้น และวนกลับไปสู่การผิดนัดชำระหนี้มาขึ้นเป็นวงจรเครดิตเสียที่ไม่สิ้นสุด และสุดท้ายก็จะส่งผลต่อศักยภาพในการผลิตของประเทศหรือของโลกในระยะยาว

แม้ตัวเลขเม็ดเงินสนับสนุนจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่จะมากอย่างที่ไม่เคยแจกมาก่อนในประวัติการณ์อย่างแน่นอน การคำนวณเบื้องต้นประเมินว่าเม็ดเงินที่ใช้จะมากกว่าเม็ดเงินช่วยเหลือในวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2551 และในประเทศที่มีการระบาดอย่างหนักเม็ดเงินเหล่านี้อาจสูงถึงร้อยละ 20 ของจีดีพีรวมประเทศได้ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน

3. นโยบายการเงินที่สนับสนุนเข้ามาจะไม่สามารถช่วยเศรษฐกิจได้เหมือนครั้งวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ได้อีกแล้ว ปัจจัยส่วนหนึ่งเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันก็ต่ำแทบจะเป็นศูนย์กันอยู่แล้ว ซึ่งหมายความว่าพื้นที่ในการปรับใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายก็ใช้กันไปเยอะแล้ว และแม้จะตัดปัจจัยนั้นออกไป ก็ต้องยอมรับความจริงว่านโยบายการเงินไม่สามารถแก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่ไม่ใช่การเงินได้ 

ขณะเดียวกันนโยบายการคลังก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเองเช่นเดียวกัน หากปล่อยให้ฝั่งกระทรวงการคลังของแต่ละประเทศเข้ามารับภาระเพียงฝ่ายเดียวก็ยิ่งจะเป็นการสนับสนุนให้หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้น ยิ่งกลายเป็นผลร้ายระยะยาวหลังวิกฤตโรคระบาดนี้จบลงไปอีก 


ร่วมมือคือทางออกเดียว

ความร่วมมือของเฟดและกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ดูเหมือนจะส่อแววประสบความสำเร็จบ้างไม่มากก็น้อย เพราะหลังจากที่ทั้ง ‘เพาเวลล์’ และ ‘มนูชิน’ ทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือชาวอเมริกันที่ตกงานไปแล้วกว่า 17 ล้านคน ภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์ ซึ่งมากกว่าช่วงวิกฤตการเงินปี 2551 ที่กินเวลา 18 เดือนด้วยกัน ผ่านการปรึกษาทางโทรศัพท์อย่างใกล้ชิด “5 ครั้งต่อวัน หรือบางวันก็ 30 ครั้ง” ตามที่มนูชินกล่าว 

สตีเฟน มนูชิน - เจอโรม เพาเวลล์
  • ‘สตีเฟน มนูชิน’ (ซ้าย), 'เจอโรม เพาเวลล์’ (ขวา)

ในที่สุด การปรึกษาก็ได้ข้อสรุปด้วยเม็ดเงินอัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจจำนวน 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 75.29 ล้านล้านบาทจากเฟด ผ่านโครงการที่จะเข้าไปสนับสนุนทั้งผู้ประกอบการขนาดกลางไปจนถึงรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่ไม่เคยมีมาก่อน 

เพาเวลล์ ชี้ว่า “ธนาคารกลางกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อสนับสนุนคุณ และนโยบายของเราจะสำคัญมากเมื่อเวลาแห่งการฟื้นตัวมาถึง เพื่อทำให้การฟื้นตัวเข้มแข็งที่สุดเท่าที่จะทำได้”

แววความสำเร็จฉายขึ้นเล็กน้อยในฝั่งตลาดเงินตลาดทุนที่นักลงทุนพักการมองปัญหาการว่างงานไว้ก่อนและไปศึกษารายละเอียดเรื่องการช่วยเหลือจากเฟดแทน ซึ่งส่งให้ตลาดหุ้นของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นกว่าร้อยจุด แม้สถานการณ์การว่างงานยังต้องรอดูรูปธรรมในระยะต่อไป 

แม้นโยบายส่วนใหญ่ที่เฟดใช้จะยังเป็นการนำของเก่ามาปรับใช้ใหม่ แต่ก็เริ่มเห็นการปรับตัวจากในบทบาทของผู้กำกับดูแลให้มีเงินไหลเวียนอย่างเป็นระบบระเบียบ เฟดเริ่มพาตัวเองเข้าไปเจาะยังกลุ่มเจาะจงต่างๆ บ้างแล้ว ซึ่งเป็นสัญญาณว่าท้ายที่สุดแล้วต้องเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงวิธีบังคับใช้นโยบายเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

อ้างอิง; Politico, FT

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;