ไม่พบผลการค้นหา
"วันมูหะมัดนอร์ มะทา" ชี้หลักปฏิบัติของนายกรัฐมนตรีที่ดีในสมัยประชุมต้องมา เว้นแต่มีภารกิจสำคัญ ระบุการไปสภาฯ เหมือนการไปพบประชาชนทั้งประเทศ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่าโดยหลักปฏิบัติ และประเพณีทางการเมืองที่ดีนั้น ในสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฏร นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ต้องมาสภาฯ ยกเว้นมีภารกิจที่สำคัญจริงๆ เช่น การเข้าเฝ้า เหตุฉุกเฉิน ภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ 

ถ้าภารกิจอื่นใดเช่น ไปเยี่ยมราษฏรภาคใต้ที่ผ่านมา ตนขอตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดไม่ไปวันจันทร์ วันอังคาร หรือวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เหตุใดไปวันพุธ ซึ่งรู้กันดีอยู่แล้วว่าเป็นวันประชุมสภาฯ และอยู่ในสมัยประชุม ซึ่งวันพุธ, พฤหัสบดีก่อนหน้านี้ไม่ไปสภา อ้างว่าติดภารกิจ ที่นั้น ที่นี้ภารกิจอื่นๆ ในสมัยประชุมนั้น รัฐบาลจะเลือกทำไว้วันอื่น แม้แต่แขกต่างประเทศที่มาเยือน ทั้งรัฐมนตรีประเทศอื่น นายกรัฐมนตรีประเทศอื่น ประธานาธิบดี มาเยือนฝั่งเรา เขาจะจัดให้พบกันที่รัฐสภา

ในสมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรี คราวไปเยือนมาเลเซีย ไปเมืองจีน เขาก็จัดให้พบปะกับผู้หลักผู้ใหญ่ ประมุขของประเทศที่รัฐสภาของประเทศนั้น ซึ่งรัฐสภาก็จะจัดห้องให้นายกรัฐมนตรี จัดห้องให้รัฐมนตรีทำงาน จัดห้องให้รับรองแขกต่างบ้านต่างเมือง 

คณะทำงานของรัฐบาลก็จะมีเจ้าหน้าที่ไปทำงานที่สภาในช่วงที่มีการประชุม ซึ่งตกอาทิตย์ละ 2 วัน วันดังกล่าว เขามักจะไม่ทำงานที่ทำเนียบ หรือที่กระทรวง นอกจากเลยเวลาประชุมสภาแล้ว เพราะเขาถือว่า "ไปสภาฯ ก็เหมือนกับไปพบประชาชนทั้งประเทศ" เพราะผู้แทนก็คือผู้แทนของประชาชนที่มาจากทั่้งประเทศ 

เพราะฉะนั้น คุณไปสภา คุณก็ไปพบกับประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ว่าเลือกไปจังหวัดใด จังหวัดหนึ่ง เพื่อพบกับประชาชนส่วนน้อยหากเทียบกับทั้งประเทศ เพราะ 2 วันที่ประชุมนั้น "ประชาชนทั้งประเทศเขาอยู่ในสภา" ในสมัยประชุมดังกล่าว และไปรับทราบปัญหา ซึ่งปัญหาของทั้งประเทศ ส.ส.เขาจะเอามาบอก มาหารือกันที่สภานี้ บางครั้งมีการหารือกันวันละ 40 คน ด้วยซ้ำไป นี่คือระบอบประชาธิปไตย คือต้องให้ความสำคัญกับตัวแทนของปวงชนที่อยู่ในสภา จำแก้ปัญหาต้องไปสภา เพราะที่สภามันมีจุดที่บอกว่าปัญหาอยู่ที่ไหนได้อย่างดี 

ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมถึงอยากไปที่อื่น เลือกไปที่อื่นด้วยเหตุผลอะไร คุณไม่เข้าใจ หรือไม่ให้ความสำคัญ หรือการปฏิญานตนไม่ครบ เพราะไม่ใส่ใจหรือไม่เข้าใจสภาในระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น หากมีการเลือกตั้งคราวหน้า แล้วมีการเปลี่ยนแปลง อย่าได้สงสัยหรือโทษสิ่งใดอื่นเลย เริ่มต้นด้วยการทบทวนตนเองให้ดีก่อน ว่ามีอะไรผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องตามหลักปฏิบัติ ตามประเพณีการเมืองที่ดี 

หวังว่าหลังจากนี้ เราจะได้เห็นผู้นำรัฐบาล คณะรัฐมนตรี มาสภากันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ไหนว่าจะเข้ามาแก้ไข ทำงานเพื่อประเทศชาติ ก็เข้ามา มาให้ประชาชนได้เห็นว่ามีทีท่าแก้ปัญหาอย่างไร แบบไหน หรือจะให้ต้องพูดกันที่สภาฯ ใส่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีเปล่าๆ แบบนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าเช่นนั้นจะหมายความว่าอย่างนี้ได้ไหมว่าสภาผู้แทนราษฏรไม่จำเป็นต้องมีนายกรัฐมนตรีเช่นนี้อีกต่อไป จะพอเป็นเหตุผลให้คิดแบบนี้ได้ไหม ประชาชนลองพิจารณาดูละกันนะ