ไม่พบผลการค้นหา
'สุดารัตน์' ลุย 'เชียงราย' ฟังผลกระทบจากภัยแล้ง พบเกษตรกรเพาะปลูกไม่ได้ ผลผลิตน้อย แม้ราคาดี แต่เกษตรกรไม่มีของขาย แนะชลประทานประสาน ส.ส. หาช่องทาง ขอรับการจัดสรรงบ ดูแลพื้นที่และเกษตรกร

วันนี้ (1 ส.ค.) ที่สำนักงานชลประทานที่ 2 จังหวัดเชียงราย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย พร้อมนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายวิสาร เตชะธีรวัฒน์ นายวิศิษฐ์ เตชะธีราวัฒน์ นางละออง ติยะไพรัช นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.จังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย และคณะ ได้เดินทางเข้ารับฟังบรรยายการสรุปสถานการณ์ภาพรวมน้ำของจังหวัดเชียงราย 

โดยพบว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำแม่สรวย อยู่ที่ร้อยละ 20 ของปริมาณการเก็บกัก หรือ 14.5 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำ ที่ไม่สามารถใช้ได้ประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร จะมีปริมาณน้ำเหลือใช้ อีกราว 11 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค หากน้ำฝนมาตามที่คาดการณ์ 

นายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่าปริมาณน้ำฝนที่ไม่ตกต้องตามฤดูกาล กระทบกับการประกอบอาชีพของชาวนาชาวสวนลำไย ซึ่งได้ผลผลิตน้อยกว่าที่คาดการณ์ มีผลผลิตออกเพียง 1 ใน 3 ของพื้นที่การเพาะปลูก ปัญหาที่ตามมาคือราคาผลผลิตดี แต่ไม่มีของขาย

นางละออง เปิดเผยว่าโครงการที่พัฒนาไว้ไม่มีความต่อเนื่อง ประชาชนต้องออกค่าใช้จ่ายเองสำหรับการขุดลอกคูคลอง ขณะเดียวกันพื้นที่อ่างเก็บน้ำไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ น้ำจึงไม่สามารถกักเก็บได้ตามที่ต้องการ

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาว่าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีงบประมาณสำหรับการบำรุงรักษาอ่างเก็บน้ำ หรือระบบชลประทาน เพื่อเพิ่มปริมาณความจุของน้ำ ซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดของการดูแลเกษตรกร

สุดารัตน์ เชียงราย ภัยแล้ง เพื่อไทย 94538.jpg


ด้านผู้นำท้องถิ่นสะท้อนว่าประชาชนต้องการเครื่องสูบน้ำ สำหรับการสูบน้ำไปใช้ในพื้นที่การเกษตร และในปีนี้เกิดปัญหาฝนไม่ตกตามฤดูกาล จึงประสบปัญหาภัยแล้ง ชาวนาไม่สามารถทำนาได้ ส่วนพื้นที่อำเภอแม่สรวย เกษตรกรปลูกข้าว กระเทียม ลำไยเป็นหลัก ต้องการแหล่งน้ำเพื่อล่อเลี้ยงการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ยังพบ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ

คุณหญิงสุดารัตน์แนะนำให้แบ่งหน้าที่การทำงาน โดยสำนักชลประทานที่รับผิดชอบพื้นที่ต้องทำแผน บริหารจัดการน้ำตามความเหมาะสม เมื่อมีแผนบริหารจัดการชัดเจนแล้ว ในการจัดสรรงบประมาณประจําปี ส.ส.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะนำไปพิจารณาเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณตามความเร่งด่วน

นอกจากนี้ ส.ส.ในพื้นที่ จะต้องนำข้อเท็จจริง ไปสื่อสารต่อสภาผู้แทนราษฎรด้วยว่า เมื่อมีการโอนความรับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำบางส่วนไปที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องมีงบประมาณสำหรับการจัดการและการดูแลด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :