ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ใช้เน็ตราว 8 แสนรายทั่วโลก ลงชื่อจี้ถอดถอน ผอ.WHO อ้างเหตุ 'เข้าข้างจีน' จนรับมือ 'โควิด-19' บกพร่อง เจ้าตัวชี้ ถูกคุกคาม-ขู่ฆ่า-เหยียดผิว เชื่อ 'ไต้หวัน' มีเอี่ยว แต่ไต้หวันปฏิเสธ ชี้ 'ถูกใส่ร้าย' พร้อมเรียกร้องคำขอโทษ

ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงข่าวที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เร่ืองความคืบหน้าการรับมือสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และโรคโควิด-19 แพร่ระบาดทั่วโลก เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา และได้ตอบคำถามอย่างมีอารมณ์เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การถูกผู้นำหลายประเทศวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้การทำงานของ WHO ได้รับผลกระทบหรือไม่

ดร.เทดรอสกล่าวว่า อยากให้ผู้นำประเทศต่างๆ 'กักกัน' ประเด็นการเมืองทั้งหลายที่เกี่ยวกับโควิด-19 และช่วยกันรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคนี้ร่วมกัน พร้อมระบุว่าตนเองนั้นถูกโจมตีมาแล้วหลายครั้งช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีทั้งการกล่าววาจาล่วงละเมิด เหยียดเชื้อชาติ และถูกขู่ฆ่า แต่ก็ไม่เคยใส่ใจ

"เมื่อสามเดือนที่แล้ว ขอพูดตรงๆ ว่าเสียงโจมตีมาจากไต้หวัน และไต้หวันเอง รัฐมนตรีต่างประเทศของไต้หวันก็ด้วย รับรู้ว่ามีการโจมตีส่วนบุคคล แต่ก็ยังเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์ผมท่ามกลางคำด่าว่าเหยียดหยามต่างๆ แต่ผมไม่แคร์" ดร.เทดรอสกล่าว

ท่าทีดังกล่าวถูกรายงานผ่านสื่อตะวันตกหลายสำนัก โดย Reuters รายงานว่า ดร.เทดรอส ได้กล่าวปกป้องการทำงานของ WHO ด้วยท่าทีแข็งกร้าว หลังจากที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา กล่าวหาว่า WHO ขึ้นกับจีนมากเกินไป และตั้งข้อสงสัยว่า WHO อาจไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเรื่องไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่กับประเทศอื่นๆ ในช่วงแรก

ดร.เทดรอส ยืนยันว่า การทำงานของตนเองและ WHO ไม่เข้าข้างใคร โดยเปรียบกับคนที่ 'ตาบอดสี' ทำงานร่วมกับทุกประเทศได้อย่างใกล้ชิด แต่หลังจากกล่าวประโยคนี้ได้ไม่นาน ดร.เทดรอสก็กล่าวว่ารัฐบาลไต้หวันและรัฐมนตรีต่างประเทศของไต้หวันมีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีและคุกคามตนเอง


ต่างฝ่ายต่างอ้าง 'ถูกกีดกันและเลือกปฏิบัติ'

เพียงไม่นานหลังการแถลงข่าวของ ดร.เทดรอส The Washington Post และ CNBC ได้รายงานท่าทีของรัฐบาลไต้หวัน อ้างอิงจากข้อความในบัญชีทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการของ 'ไช่อิงเหวิน' ประธานาธิบดีไต้หวัน ซึ่งระบุว่า ไต้หวันต่อต้านการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ และอยากใช้โอกาสนี้ เชิญ ดร.เทดรอส มาเยี่ยมเยือนไต้หวัน เพื่อจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ด้วยตัวเองว่าคนไต้หวันมุ่งมั่นและมีส่วนร่วมกับทั่วโลกในการต่อสู้โควิด-19 อย่างไร

ส่วนบัญชีทวิตเตอร์ของ 'กระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน' ทวีตข้อความว่า ไต้หวันเห็นด้วยกับคำกล่าวของ ดร.เทดรอส ที่ระบุว่า ไม่ควรใช้ประเด็นโควิด-19 มาเรียกคะแนนทางการเมือง แต่แม้จะไม่มีหลักฐานใดๆ ไต้หวันกลับถูกกล่าวว่ามีส่วนร่วมกับการโจมตีบุคคลอื่น ข้อกล่าวหานี้ไม่มีมูลความจริง ไม่ประสงค์ดี ทั้งยังกระทบต่อการทำงานของ WHO ที่ร่วมมือกับคนทั่วโลกจนอาจจะทำให้ถูกมองข้ามไปได้ 

ข้อความของกระทรวงต่างประเทศไต้หวันระบุด้วยว่า คนทั่วโลก โดยเฉพาะ 'ไต้หวัน' ได้รับรู้ท่าทีของ WHO ที่แปะป้ายผิดๆ ให้ไต้หวัน ทั้งยังไม่ใส่ใจข้อเสนอใดๆ ของไต้หวัน ทำให้เกิดคำถามเรื่องการรับมือกับสถานการณ์ของ WHO และย้ำว่า "ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ผู้คนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างมีเสรีภาพ"

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไต้หวันไม่มีทางสนับสนุนการโจมตีส่วนบุคคลต่อ ดร.เทดรอส ทั้งยังเชื่อมั่นว่า "สุขภาพเป็นเรื่องของทุกคน" และไต้หวันจะพยายามต่อไปจนกว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จาก WHO เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การรับมือไวรัสโคโรนาของไต้หวันให้กับประชาคมโลก

ก่อนหน้านี้ในเดือน มี.ค. The Japan TImes รายงานว่า 'โจเซฟ อู่' รัฐมนตรีต่างประเทศของไต้หวัน เคยแสดงความเห็นต่อ WHO ว่า "ไม่ควรปล่อยให้ประเด็นทางการเมืองชี้นำการรับมือสถานการณ์โควิด-19" อ้างอิงกรณีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ WHO ไม่ตอบคำถามของสื่อมวลชนว่าจะนำประสบการณ์รับมือโควิดของไต้หวันไปแบ่งปันประเทศสมาชิกของ WHO ทั่วโลกหรือไม่

เหตุการณ์ดังกล่าวพาดพิงถึง 'บรูซ เอลเวิร์ด' หัวหน้าโครงการรับมือไวรัสโคโรนาในเมืองอู่ฮั่นของ WHO ซึ่งให้สัมภาษณ์สื่อฮ่องกงผ่านระบบวิดีโอคอล เมื่อวันที่ 30 มี.ค. แต่เมื่อสื่อถามถึงไต้หวัน เอลเวิร์ดก็นิ่งเงียบไป ก่อนจะบอกว่า ได้ยินคำถามไม่ชัด แม้ผู้สื่อข่าวจะถามถึงสองครั้ง เขาก็ย้ำว่าไม่ได้ยิน และตัดสายไป

ด้วยเหตุนี้ WHO จึงถูกผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในฮ่องกงจำนวนหนึ่งโจมตีว่า 'เลือกปฏิบัติ' กับไต้หวัน เพราะกลัวจีนไม่พอใจ เนื่องจากจีนถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่ไต้หวันยืนยันอำนาจอธิปไตยในการปกครองตนเอง ทำให้ไต้หวันไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกของ WHO ได้ และข้อเสนอใดๆ ของไต้หวันจะไม่ถูก WHO นำไปพิจารณา


แคมเปญถอดถอน ผอ.WHO มีผู้ลงชื่อเฉียด 8 แสน

แม้ ดร.เทดรอส จะระบุว่า การโจมตีตนเองมาจาก 'ไต้หวัน' แต่การรณรงค์ผ่านสื่อออนไลน์ให้ถอดถอน ดร.เทดรอสออกจากตำแหน่ง ผอ. WHO มีกระแสมาจาก 'ฮ่องกง'

ตั้งแต่เดือน ก.พ.เป็นต้นมา กลุ่มนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงหลายราย ร่วมกันทวีตข้อความชักชวนให้คนลงชื่อในแคมเปญถอดถอน ดร.เทดรอส ทั้ง 'โจชัว หว่อง' 'แอกเนส เจา' และ 'เดนิส โฮ' ซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในการประท้วงฮ่องกง เป็นหนึ่งในผู้ทวีตข้อความเรียกร้องให้ลงชื่อถอดถอนเทดรอส

AFP-เจ้าหน้าที่จีนเข้าตรวจสอบศพชายสูงวัยที่เสียชีวิตหลังจากล้มลงข้างถนนในเมืองอู่ฮั่นช่วงไวรัสโคโรนา 2019 แพร่ระบาด - 30 ม.ค.2563.jpg
  • เจ้าหน้าที่จีนพบชายสูงวัยเสียชีวิตในเมืองอู่ฮั่นเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2563

การรณรงค์ดังกล่าวดำเนินการผ่านเว็บไซต์ change.org มีผู้ใช้ชื่อว่า Osuka Yip เขียนจดหมายเปิดผนึกให้คนร่วมลงชื่อตั้งแต่เดือน ก.พ. โดยระบุว่าจะนำรายชื่อไปร้องเรียนต่อสหประชาชาติ โดยให้เหตุผลว่า เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2563 ดร.เทดรอส ปฏิเสธที่จะประกาศการระบาดของไวรัสโคโรนาให้เป็นภาวะฉุกเฉิน ทั้งที่ทราบกันในขณะนั้นว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ "ยังไม่มีวิธีการรักษา"

นอกจากนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตและติดเชื้อไวรัสก็เพิ่มสูงขึ้นกว่าสิบเท่า (นับจากการติดเชื้อจากจำนวน 800 ไปจนเกือบ 10,000 ราย) ในช่วงระยะเวลาเพียง 5 วัน ส่วนหนึ่งของปัญหานี้ เป็นผลจากการประเมินสภาวะเชื้อไวรัสโคโรนาของ ดร.เทดรอส จึงเห็นว่าเขาไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง ผอ.องค์การอนามัยโลกที่กำลังดำรงอยู่ในปัจจุบัน และต้องการให้เขาประกาศลาออกจากตำแหน่งโดยทันที

"พวกเรามีความเชื่อว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) ควรจะมีความเป็นกลางทางการเมือง แต่นายเทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส เชื่อข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่รัฐบาลจีนเปิดเผยมาให้ โดยขาดการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

ในทางกลับกัน ไต้หวัน ไม่ควรที่จะถูกกีดกันจาก WHO ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางการเมืองใดๆ ก็ตาม เนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ของพวกเขานับว่ามีความก้าวหน้ามากกว่าบางประเทศที่ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อจาก WHO"

เมื่อเวลา 23.23 น. วันที่ 9 เม.ย. มีผู้ลงชื่อในแคมเปญถอดถอน ดร.เทดรอส 773,217 ราย แต่ผู้รณรงค์ตั้งเป้าว่าจะต้องล่ารายชื่อให้ครบ 1 ล้านชื่อ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: