ไม่พบผลการค้นหา
จากการต่อสู้ของ 14 แรงงานพม่าที่ถูกเอาเปรียบในฟาร์มไก่ สู่มหากาพย์ 'คดีหมิ่นประมาท' ที่ตามมามากมาย ระหว่างรณรงค์ช่วยเหลือแรงงาน ทั้งตัวแรงงานเอง, นักข่าว, นักสิทธิมนุษยชน, นักวิชาการ หลายคดีศาลพิพากษายกฟ้องแล้ว แต่บางคดียังไม่จบจนปัจจุบัน รวมถึงคดีของอดีตนักข่าววอยซ์ทีวีที่คดีกำลังจะถึงที่สุดในวันที่ 9 ส.ค.นี้

เป็นเวลาเกือบ 4 ปีแล้ว นับตั้งแต่ ‘สุชาณี คลัวเทรอ’ สมัยที่ยังทำงานเป็นนักข่าวของวอยซ์ทีวี ได้ทวีตแจ้งข่าวเรื่องราวของแรงงานพม่า 14 คนในฟาร์มไก่แห่งหนึ่ง แล้วต่อมาถูกบริษัทเจ้าของฟาร์มฟ้องคดีฐาน ‘หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา’ ล่าสุด วันที่ 9 ส.ค.2565 ศาลจังหวัดลพบุรีนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา

ก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นตัดสินลงโทษจำคุกสุชาณี 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) ออกแถลงการณ์ประณามการตัดสินจำคุกในครั้งนั้นอย่างรุนแรง สุชาณีใช้เงินประกันตัว 75,000 บาทและต่อสู้ต่อในชั้นอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โดยระบุว่า ข้อความของเธอเป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์ อันเป็นประโยชน์ส่วนรวมโดยสุจริต ซึ่งเป็นข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ม.329 (3)

สาเหตุของคดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 14 ก.ย.2561 สุชาณีรีทวีตแจ้งข่าวคำพิพากษาของศาลที่ส่งผลให้บริษัทธรรมเกษตร ซึ่งประกอบกิจการฟาร์มไก่ที่จังหวัดลพบุรีต้องจ่ายค่าชดเชยแก่แรงงานพม่า 14 คน เป็นเงิน 1.7 ล้านบาทเศษ อย่างไรก็ดี ในพื้นที่ของทวิตเตอร์ที่มีการจำกัดจำนวนตัวอักษร คำบรรยายสั้นๆ ของสุชาณีที่ว่านี่เป็นคำพิพากษาต่อ “กรณีแรงงานทาส” กลายเป็นประเด็นให้บริษัทฟ้องหมิ่นประมาท

คดีนี้มีความซับซ้อนมากกว่าเรื่องการฟ้องนักข่าว เนื่องจากบริษัทฟ้องหมิ่นประมาทกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักวิชาการอีกจำนวนหนึ่งด้วยเช่นกัน สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) เคยรวบรวมว่ามีจำเลยในคดีหมิ่นประมาทบริษัทธรรมเกษตรรวม 22 คน (รวมแรงงานพม่า 14 คน) ทั้งหมดเกิดจากจุดเริ่มต้นสำคัญคือ แรงงานพม่ากลุ่มหนึ่งออกมาร้องทุกข์ เรียกร้องความเป็นธรรมจากการเป็นลูกจ้างฟาร์มไก่  

สุชาณี.jpg
  • สุชาณี คลัวเทรอ อดีตนักข่าววอยซ์ทีวี

กลางปี 2559 แรงงานพม่า 14 คน ตัดสินใจแจ้งเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network) หรือ MWRN เกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นธรรม ต่อมาได้ฟ้องต่อศาลแรงงาน และยังมีการร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จนเมื่อบริษัทตัดสินใจฟ้องหมิ่นประมาทกับคนงานพม่า 14 คน ก็ยิ่งก่อให้เกิดกระแสรณรงค์ปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติในกรณีนี้เป็นวงกว้าง และนำมาซึ่งการที่บริษัทฟ้องหมิ่นประมาทต่อเนื่องอีกหลายคดี 

ไอลอว์สรุปประเด็นข้อต่อสู้ระหว่างแรงงานพม่าและบริษัทไว้ว่า

1. คนงานกล่าวหาว่า นายจ้างจ่ายค่าจ้างเพียงวันละ 220-230 บาท ซึ่งน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้รับค่าจ้างจากการทำงานล่วงเวลา-ทำงานวันหยุด ด้านนายจ้างต่อสู้ว่า ก่อนรับเข้าทำงานมีการตกลงกันแล้วว่า ค่าจ้างต้องถูกหักเป็นค่าที่พักเดือนละ 1,600 บาท ค่าไฟฟ้า 1,400 บาท ค่าน้ำประปา 1,200 บาท ค่าน้ำดื่ม 80 บาท จึงเหลือจ่ายจริงตามที่คนงานได้รับ

2. คนงานกล่าวหาว่า ในช่วงที่ฟาร์มนำไก่มาลงเลี้ยง ต้องทำงานหนักทั้งวันทั้งคืน ตั้งแต่ 07.00-17.00 น. ทำงานล่วงเวลาตั้งแต่ 19.00-05.00 น.รวมวันละ 20 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ด้านนายจ้างต่อสู้ว่า ไม่ได้บังคับให้ทำงานหนักเช่นนั้น เหตุที่คนงานเข้าไปทำงานในฟาร์มช่วงกลางคืนเพราะอยากให้ไก่มีน้ำหนักเพิ่มเพื่อจะได้ค่าตอบแทนพิเศษ นอกจากนี้ในช่วงพักเล้าที่ฟาร์มไม่มีไก่ 25-28 วัน คนงานก็ได้พักผ่อนเพราะไม่มีงาน

3. คนงานกล่าวหาว่า นายจ้างมีพฤติกรรมกักขังหน่วงเหนี่ยว โดยยึดพาสปอร์ตของคนงาน คนงานไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากฟาร์ม หากต้องการไปซื้อของในตลาดก็จะต้องมีคนไทยพาไปและพากลับเสมอ ด้านนายจ้างต่อสู้ว่า นายจ้างไม่ได้ยึดพาสปอร์ต เพียงแต่นำไปเก็บไว้เพื่อต่อใบอนุญาตทำงานและได้คืนให้คนงานแล้ว การไปซื้อของเพียงช่วยอำนวยความสะดวกจัดบริการรถรับส่ง และคนงานยังเคยขอลากลับบ้านที่พม่ารวมทั้งไปท่องเที่ยวกันในวันหยุด


ไทมไลน์คดีต่างๆ

1 ส.ค.2559  หลังได้รับการร้องเรียนกรณีนี้จากคนงานพม่า กสม. มีมติว่า "มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีนายจ้างจ่ายค่าแรงและข้อตกลงการจ้างงานไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากนายจ้างไม่เข้าใจสาระสำคัญของกฎหมาย แต่การกระทำไม่เข้าข่ายการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานบังคับ เนื่องจากการจ้างงานไม่มีสภาพกดขี่หรือบังคับและลูกจ้างเข้ามาทำงานโดยชอบด้วยกฎหมาย"

6 ต.ค.2559 บริษัทฟ้องแรงงานพม่า 14 คนในข้อหาหมิ่นประมาทและแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมายกรณีที่ไปร้องเรียน กสม. และนั่นทำให้เกิดการณรงค์ต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติเป็นวงกว้าง ก่อนที่ท้ายที่สุดอีก 2 ปีต่อมาศาลจะพิพากษายกฟ้อง

4 พ.ย.2559 บริษัทฟ้องหมิ่นประมาท อานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยด้านแรงงานข้ามชาติ จากการเผยแพร่ข่าวและบทความที่มีการกล่าวหาว่าสภาพการจ้างงานในฟาร์มเป็น "การค้าทาส"

17 มี.ค.2560 ศาลแรงงานพิพากษาให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยให้คนงาน 14 คน ราว 1.7 ล้านบาท  โดยอัตรานี้ใกล้เคียงกับที่พนักงานตรวจแรงงานเคยเข้าไปตรวจสอบและสั่งไว้

8 ต.ค. 2561 บริษัทฟ้องหมิ่นประมาท ‘นาน วิน’ หนึ่งในคนงานพม่าที่ไปแถลงข่าวที่ชมรมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) และให้สัมภาษณ์ในคลิปสั้น 107 วินาทีกับองค์กรระหว่างประเทศที่จับตาเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่าง ฟอร์ติฟายไรต์ (Fortify Rights) ซึ่งจัดทำคลิปนี้ขึ้นเมื่อเดือน ต.ค.2560 เพื่อรณรงค์ให้ยกเลิกการฟ้องหมิ่นประมาทคนงานพม่า ในคลิปมีคำให้สัมภาษณ์ของคนงานพม่า 3 คนเล่าถึงสภาพการทำงานและการถูกดำเนินคดี

12 ต.ค.2561 บริษัทฟ้องหมิ่นประมาท สุธารี วรรณศิริ เจ้าหน้าที่ของฟอร์ติฟายไรต์ ที่ทวีตข้อความพร้อมแนบลิงก์สัมภาษณ์ ‘นาน วิน’ ดังกล่าว

การฟ้องหมิ่นประมาทดูเหมือนขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับการต่อสู้ของแรงงานพม่าและการรณรงค์ของเอ็นจีโอ

ไอลอว์ระบุเหตุผลการฟ้องร้องของบริษัทว่า การรณรงค์ที่กล่าวหาว่าฟาร์มละเมิดสิทธิแรงงานเป็นการใส่ความด้วยข้อความที่ไม่เป็นจริง ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง โดยบริษัทอ้างอิงถึงคำตัดสินของศาลแรงงานที่แม้จะกำหนดให้บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยราว 1.7 ล้านแก่คนงาน แต่ก็เป็นเพียงค่าทำงานล่วงเวลาย้อนหลัง จากการที่คนงานต้องเข้าไปทำงานในฟาร์มตอนกลางคืน คิดเป็นวันละ 2-4 ชั่วโมง ไม่ได้คิดเวลาทำงานล่วงเวลาวันละ 10 ชั่วโมงตามที่คนงานร้องขอ โดยศาลเชื่อว่า การเข้าไปทำงานในฟาร์มช่วงกลางคืนเป็นข้อตกลงพิเศษที่คนงานเข้าไปนอนพักผ่อนในฟาร์ม หากเกิดความผิดปกติกับไก่จะได้ช่วยเหลือได้ทัน ไม่ได้ทำงานตลอดเวลา นอกจากนี้ศาลยังเห็นว่า ลักษณะของฟาร์มไม่ได้แข็งแรงพอที่จะกักขังคนงานให้ทำงานห้ามออกข้างนอก จึงไม่ได้กำหนดค่าเสียหายจากการกักขังหน่วงเหนี่ยว

อีกราว 2 ปีต่อมา เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2563 ศาลพิพากษายกฟ้องคดีของ นาน วิน และ สุธารี โดยระบุว่า การให้สัมภาษณ์ของ นาน วิน เป็นความจริง จากคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน คำสั่งพิพาษาศาลแรงงาน และคำวินิจฉัยของ กสม. จึงเป็นการติชมด้วยความสุจริตเพื่อปกป้องส่วนได้เสียของตน ส่วนสุธารีนั้นข้อความที่ทวีตเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง แม้จะแนบคลิปวีดีโอด้วย แต่ในเมื่อข้อความในคลิปไม่เป็นการหมิ่นประมาท การเผยแพร่ดังกล่าวจึงเป็นการเผยแพร่เพื่อการติชมอย่างสุจริตด้วยความเป็นธรรม


ฟ้องนักข่าว

ในช่วงเวลานั้น ประเด็นนี้ได้รับความสนใจจากแวดวงนักปกป้องสิทธิและสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ วันที่ 14 ก.ย.2561 สุชาณี ซึ่งขณะนั้นยังทำงานเป็นนักข่าวที่วอยซ์ทีวีและติดตามกรณีนี้มาอย่างต่อเนื่อง ได้รีทวีตเอกสารคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษในคดีแรงงานพม่า 14 คนซึ่งทวีตโดย อานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยด้านแรงงาน โดยสุชาณีเขียนข้อความบรรยายาสรุปประเด็นสั้นๆ "ศาลสูงสุดมีคำสั่งให้เจ้าของฟาร์มไก่ จ.ลพบุรี อดีต 1 ในฟาร์มส่งไก่ให้บริษัทเบทาโกร จ่ายเงินชดเชยคนงานพม่า 14 คน 1.7 ล้านบาท กรณีใช้แรงงานทาส"

ไอลอว์ระบุว่า ทางบริษัทได้เห็นข้อความในทวิตเตอร์ของสุชาณีและได้เข้าแจ้งความที่ สภ.โคกตูม จังหวัดลพบุรี ให้ดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ จากนั้น 16 ต.ค.2561 พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง

“เมื่ออัยการพิจารณาข้อความที่อานดี้ ฮอลล์ เป็นคนทวีตและผู้ต้องหารีทวีตแล้วพบว่า มีข้อความทำนองเดียวกันว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้อง บริษัทธรรมเกษตรจึงต้องจ่ายเงินแก่ลูกจ้างชาวพม่าทั้ง 14 คน เป็นเงิน 1.7 ล้านบาทเศษ ลักษณะของข้อความดังกล่าวป็นการแจ้งข่าวรายงานตามเนื้อหาของคำพิพากษา แม้จะมีคำว่า “กรณีใช้แรงงานทาส” แต่เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นผู้สื่อข่าวที่ติดตามทำข่าวเรื่องนี้ตลอดมา และการรายงานข่าวในฐานะสื่อมวลชนย่อมใช้คำที่ทำให้ผู้อ่านสนใจข่าว ซึ่งเป็นการใช้คำในเชิงเรียกจุดสนใจโดยเจตนาเพื่อให้ประชาชนสนใจข่าวนั้นๆ แม้ว่าอาจใช้คำไม่เหมาะสม แต่เมื่อปรากฏว่า ไม่มีข้อความอื่นนอกเหนือไปจากนั้น ซึ่งจะส่อให้เห็นว่าผู้ต้องหามีเจตนาไม่สุจริตหรือจงใจกล่าวให้เสียหาย น่าเชื่อว่า ผู้ต้องหามีเจตนาเพียงนำเสนอข่าวเรื่องคำพิพากษาในฐานะสื่อมวลชนเท่านั้น ไม่ได้เจตนาทำให้บริษัทธรรมเกษตร เสียชื่อเสียง” ไอลอว์ระบุถึงคำสั่งอัยการ

ต่อมาบริษัทธรรมเกษตร โดยชาญชัย เพิ่มพล ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสุชาณี ต่อศาลจังหวัดลพบุรีเอง ในวันที่ 1 มี.ค.2562

24 ธ.ค. 2562 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้สุชาณีมีความผิด ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา จำเลยยื่นประกันตัวและต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นระบุว่าจำเลยไม่ได้แสดงความเห็นโดยสุจริตทำให้บริษัเสียหาย เนื่องจากข้อความที่ทวีตไม่ตรงกับคำพิพากษา อีกทั้งจำเลยมีเวลาตรวจสอบข้อเท็จจริงแต่จำเลยกลับไม่ทำ

27 ต.ค.2563 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้อง โดยระบุว่า โพสต์ของจำเลยที่เขียนว่า "กรณีใช้แรงงานทาส"  มีเหตุผลที่น่าเชื่อว่าเป็นความเข้าใจและตีความของจำเลยโดยสุจริตว่า มีความหมายทำนองเดียวกันกับที่โจทก์ไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างทั้ง 14 คน อันมีลักษณะเป็นการพาดหัวข่าวเพื่อดึงดูดความสนใจแก่ผู้อ่านให้ติดตามข่าว ถึงแม้จะใช้ถ้อยคำดังกล่าวเกินเลยไปกว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษอันเป็นการไม่เหมาะสมอยู่บ้างก็ตาม แต่หาใช่เป็นเรื่องที่จำเลยสร้างขึ้นมาเองไม่และมิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ดังนั้นจำเลยในฐานะสื่อมวลชนที่มีหน้าที่รายงานข่าวเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานต่างชาติโดยตรงและในฐานะประชาชน ย่อมมีสิทธิตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดอันเป็นประโยชน์ส่วนรวมโดยสุจริต ติชม โจทก์ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ต้องด้วยข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ม.329 (3) การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด

9 ส.ค.2565 กำลังจะมีคำพิพาษาศาลฎีกา

นอกจากนี้ บริษัทธรรมเกษตรยังฟ้องคดีแพ่งต่อบริษัทวอยซ์ทีวีเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2562 คดีนี้ถึงที่สุดแล้ว โดยเมื่อวันที่ 19 ก.ค.2565 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาสั่งไม่รับคำฟ้องของบริษัทธรรมเกษตร


ฟ้องนักสิทธิมนุษยชน

ในระหว่างปี 2559-2561 มีนักสิทธิมนุษยชนอีกหลายคนที่โพสต์ในโซเชียลมีเดียให้กำลังใจคนทำงานด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติที่ต้องถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาทจากกรณี 14 แรงงานพม่านี้ และนั่นทำให้ 'คนให้กำลังใจ' ถูกฟ้องหมิ่นประมาทไปด้วยเช่นกัน บางคดีจบไปแล้ว บางคดียังไม่จบ

1 พ.ค.2562 บริษัทฟ้องหมิ่นประมาท ‘งามศุกร์ รัตนเสถียร์’ นักวิชาการสถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งแชร์แถลงการณ์ขององค์กรฟอร์ติฟายไรต์ เพื่อเรียกร้องให้บริษัทหยุดดำเนินคดีต่อลูกจ้างชาวพม่า ในแถลงการณ์ดังกล่าวมีลิงก์ให้คลิกไปยังคลิปวีดิโอสัมภาษณ์แรงงานพม่าความยาว 107 วินาทีของฟอติฟายไรต์ คดีนี้ศาลฎีกายกฟ้องไปเมื่อ 22 ก.ย.2564 

25 ต.ค.2562 ฟ้อง 'อังคณา นีละไพจิตร' อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน จากการแชร์ 2 โพสต์ที่เป็นแถลงการณ์ของ 16 องค์กรซึ่งมีลิงก์เชื่อมไปยังคลิปสั้นสัมภาษณ์แรงงานพม่าของฟอร์ติฟายไรต์ คดีนี้ศาลรับฟ้องแล้วและจะมีการสืบพยานที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ระหว่างวันที่ 14-17 และ 21-22 มี.ค.2566

ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ระบุว่า ในวันที่ 12 ก.ย.2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังมีนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่ กรณีบริษัทธรรมเกษตรฟ้องหมิ่นประมาทนักปกป้องสิทธิอีก 2 คนที่ถูกรวมเป็นคดีเดียวกัน นั่นคือ

  • ธนภรณ์ สาลีผล อดีตเจ้าหน้าที่ฟอร์ติฟายไรต์ จากข้อความทวิตเตอร์ 2 โพสท์ และการรีทวีต 3 ครั้งที่มีเนื้อหาสนับสนุนและให้กำลังใจอังคณา นีละไพจิตร
  • พุทธณี กางกั้น นักสิทธิมนุษยชน ซึ่งไอลอว์ระบุว่าเธอถูกฟ้อง 14 กรรมจากการโพสต์ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กให้กำลังใจนักปกป้องสิทธิที่ถูกฟ้อง โดยโจทก์เห็นว่าการโพสต์ทั้งหมดเชื่อมโยงไปยังปลายทางที่เป็นคลิปวิดีโอรณรงค์ความยาว 107 วินาทีของฟอร์ติฟายไรต์

ฟอร์ติฟายไรต์เคยออกแถลงการณ์ถึงทางการไทยว่า นอกจากควรยกฟ้องคดีของบริษัทแล้ว รัฐบาลไทยยังควรยกเลิกการเอาผิดทางอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทด้วย พร้อมชี้ว่า การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมในรูปของการฟ้องคดีปิดปาก หรือ SLAPP (Strategic Litigation Against Public Participation) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปในประเทศไทย

SLAPP เป็นข้อเถียงใหญ่ในขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่เรียกร้องสิทธิด้านต่างๆ เนื่องจากพวกเขามักเผชิญกับการถูกฟ้องคดีจำนวนมากเพื่อยุติการเคลื่อนไหวทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐ  ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีกฎหมาย ANTI-SLAPP โดยเฉพาะ แต่มีช่องทางที่พอจะยับยั้งคดีในลักษณะ SLAPP ได้บ้าง โดยไม่กี่ปีมานี้มีการเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ม.161/1 ที่ให้ศาลศามารถวินิจฉัยได้เลยว่าหากเป็นการฟ้องคดีเพื่อกลั่นแกล้งสามารถไม่รับฟ้องได้โดยไม่ต้องไต่สวน และ ม.165/2 ซึ่งเปิดโอกาสให้จำเลยนำพยานหลักฐานมาสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้ แต่ดูเหมือนว่าในสถานการณ์จริง ศาลก็ยังไม่เคยใช้เครื่องมือเหล่านี้แต่อย่างใด  

อ่านเพิ่มเติม

ที่มา :