ไม่พบผลการค้นหา
เหมือน 'ยึดอำนาจ' เงียบแบบกลายๆ ภายหลังไวรัสมรณะ 'โควิด-19' ลุกลามไปยังทุกภาคทั่วประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ใช้อำนาจโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี งัดพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ขึ้นมาใช้

โดยมีศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เป็นศูนย์บัญชาการ 

ผุดโครงสร้างที่มีนายกรัฐมนตรี - พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานโดยตำแหน่ง วางโครงสร้างคณะกรรมการ ให้รองนายกฯ 5 คน เป็น “ผู้ช่วยผู้กำกับ” ประกอบด้วย 1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดูเรื่องความมั่งคง 2.นายวิษณุ เครืองาม ดูเรื่องงานกฎหมาย 3.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ดูเรื่องเศรษฐกิจ 4.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ดูเรื่องที่เกี่ยวกับงานพาณิชย์ และ 5.นายอนุทิน ชาญวีรกูล ดูเรื่องเกี่ยวกับสาธารณสุข  

เพื่อ “กำกับ” การทำงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบ 6 ด้าน ประกอบด้วย 

1.ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับสาธารณสุขทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร 

2.ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 

3.ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมสินค้า ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ 

4.เป็นหัวหน้ารับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการต่างประเทศ และคุ้มครองช่วยเหลือผู้มีสัญชาติไทยในต่างประเทศ

5.ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสื่อสารโทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ 

และ 6.ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง 

โครงสร้างดังกล่าว นักวิชาการที่คลุกคลีความมั่นคง “สุรชาติ บำรุงสุข” จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปรียบเทียบว่า ไม่ต่างกับยุคที่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา รัฐประหารเงียบทางกฎหมาย เมื่อ 1 เม.ย.2476 ปิดสภาผู้แทนราษฎร งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา  

“กลไกการเมืองปกติหยุดหมดแล้ว ซึ่งเราเห็นในสภาวะ 2476 ปิดสภากลายๆ อำนาจรวมอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ คนเดียว เหมือนเอารัฐมนตรีเจ้ากระทรวงไปแขวนไว้ข้างๆ แล้วปล่อยให้ปลัดกระทรวงดำเนินการ ไม่ต่างกับโครงสร้างหลังรัฐประหาร” 

และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ภายหลังศูนย์ ศบค. เดินหน้าแก้ปัญหาโควิด “รวบอำนาจ” ตามกฎหมายกว่า 40 ฉบับ ที่รัฐมนตรี 20 กระทรวงเป็น “ผู้รักษากฎหมาย” ได้โอนมาอยู่ในมือ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เพียงผู้เดียวแล้ว อำนาจการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เคยเป็นของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ยังถูกนำมา “เกลี่ยงานใหม่” ให้ “รัฐมนตรี” คนอื่นรับผิดชอบงาน แทนเจ้ากระทรวงที่รับผิดชอบอยู่เดิม

ประยุทธ์-จุรินทร์-อนุทิน

ตัวอย่างเช่น การแก้ปัญหา “กักตุนสินค้า” เมื่อ “จุรินทร์” เจ้ากระทรวงพาณิชย์ แก้ปัญหาไม่ตก ทั้งไข่ ทั้งหน้ากาก

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 31 มี.ค.2563 จึงมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2497 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ และแต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ตามพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2497 ขึ้นใหม่

โดยมีองค์ประกอบ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กุมบังเหียนเป็นประธาน ส่วนคณะกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสรรพากร อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และอธิบดีกรมการปกครอง เป็นกรรมการ และเลขานุการ 

ในข่าวแจกของ “กระทรวงมหาดไทย” ระบุถ้อยคำของ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทย ซึ่งเหตุผลว่า เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดภาวะขาดแคลนอันจะเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน และเพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยและการดำรงชีวิตของประชาชน ในวันนี้กระทรวงมหาดไทยได้นำเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดท้องที่เขตสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ตามพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2497

“เมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย สามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อป้องกัน ปราบปรามการกักตุนสินค้าที่จำเป็นต่อการเฝ้าระวังและควบคุมติดตามการระบาด การป้องกัน และการรักษาโรค ตลอดจน การกักตุนเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

งานนี้ “พล.อ.อนุพงษ์” นั่งแท่น นำทีมแก้การกักตุนสินค้า เช่นเดียวกับ “หน้ากาก” เมื่อกระทรวงพาณิชย์ภายใต้ “จุรินทร์” เอาไม่อยู่ ศบค.จึงจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุด กระจายหน้ากากอนามัยใหม่ทั้งหมด ประกอบด้วย 

1.คณะอนุกรรมการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยแห่งชาติ 2.คณะอนุกรรมการบริหารจัดการเวชภัณฑ์ระดับประเทศ และ 3.คณะอนุกรรมการบริหารจัดการการส่งออกหน้ากากอนามัย 

ครม ประยุทธ์ อนุพงษ์

แทนที่ “จุรินทร์” ให้สัมภาษณ์เรื่องการกระจายหน้ากาก ทั้งที่ตามโครงสร้าง ศบค. เขาเป็น “ผู้กำกับ” ดูแลงานพาณิชย์

ทว่ากลับเป็น “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ ผู้กำกับงานด้านกฎหมาย มาขยายความ เรื่องกระจายหน้ากาจาก 11 โรงงาน รวมกำลังการผลิต 2.3 ล้านชิ้นต่อวัน กระจายยัง 76 จังหวัด จัดให้กระทรวงสาธารณสุข 1.3 ล้านชิ้น เพื่อนำไปแจกจ่ายบุคลากรทางการแพทย์ และให้มหาดไทย 1 ล้านชิ้น เพื่อไปให้ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่ที่บริการประชาชน และมีความเสี่ยง  

แต่งานนี้ “จุรินทร์” คือผู้ที่เสี่ยงที่จะตกเก้าอี้ที่สุด หากโควิด -19 คลี่คลายที่ถึงคราวจะต้องเปลี่ยนขุนพล 

นักการเมืองในเรือเหล็กอีกรายที่เรียกว่า ถูก “กัปตันเรือ” ยึดอำนาจไม่ต่างจาก “จุรินทร์” คือ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ที่ต้องหลบฉากบัญชาการแก้ไขสถานการณ์โควิด – 19 

ประยุทธ์ 3969988157440_o.jpg

ต้องปล่อยให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เข้าสวมอำนาจบัญชาสถานการณ์ร่วมกับหมอ “นักรบเสื้อกาวน์” ระดับปรามาจารย์ ถีบนักเลือกตั้งให้กลายเป็น “ตัวประกอบ” แถมยังเกิดอาการ “สื่อสารผิดพลาด” สะเทือนไปทั้งวงการแพทย์ - พยาบาล ต้องออกมาทำคลิปขอโทษยกใหญ่ 

อาการสื่อสารผิดพลาดยังกินความไปถึง โฆษกการเมือง “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนจากค่ายพลังประชารัฐ ปิด-ไม่ปิด กทม. กระทั่งบทบาทการแถลงสถานการณ์โควิดต้องปล่อยให้เป็นของ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะ “โฆษก ศบค.”

และทำให้บทบาทการบัญชาศูนย์โควิด -19 กลับมาอยู่ในมือของคนที่ชื่อ “พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด” อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อีกครั้ง.....  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง