ไม่พบผลการค้นหา
ผลวิจัยชี้ว่าอาการ 'โมโหหิว' หรือหงุดหงิดเพราะไม่ได้รับประทานอาหาร ไม่ได้เป็นเพราะคิดไปเอง แต่เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ส่งผลให้เกิดความเครียด-อารมณ์แปรปรวน

คณะนักวิจัยในแคนาดาเผยแพร่งานวิจัยลงในวารสารด้านจิตวิทยา Psychopharmacology เมื่อวันที่ 28 ก.ย. โดยระบุว่า ผู้ที่ยังไม่ได้รับประทานอาหารและรู้สึกหิว เกิดจากร่างกายมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ส่งผลกระทบทางอารมณ์และก่อให้เกิดความเครียด พร้อมระบุว่า 'โมโหหิว' เป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากการทำงานของระบบภายในร่างกาย ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์

ศาสตราจารย์ฟรานเซสโก เลรี แห่งมหาวิทยาลัยเกวลฟ์ในแคนาดา เปิดเผยว่าคณะนักวิจัยได้พิสูจน์สมมติฐานด้วยการฉีดสารต่อต้านการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสให้แก่หนูทดลอง ทำให้หนูเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ใกล้เคียงกับภาวะที่ร่างกายต้องการอาหาร หรืออาการหิว และพบว่าหนูทดลองมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ส่วนผลตรวจเลือดหลังจากนั้นยังพบว่า หนูทดลองที่ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ มีฮอร์โมน 'คอร์ติซอล' ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเครียด 'สูงกว่าปกติ' แต่เมื่อฉีดน้ำเปล่าและยาคลายเครียดให้ พบว่าหนูทดลองมีอาการสงบมากขึ้น

ที่ผ่านมา งานวิจัยจำนวนมากตั้งข้อสันนิษฐานว่าภาวะเครียดและอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นอาการทางจิตใจ และขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมรอบตัว แต่การทดลองในครั้งนี้กลับบ่งชี้ว่าภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำซึ่งเกิดจากการทำงานของระบบในร่างกาย ส่งผลให้คนมีปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่แตกต่างจากปกติได้ เช่น บางรายอาจหงุดหงิดหรือโมโห แต่บางรายอาจรู้สึกหมดแรงและขี้เกียจ 

นอกจากนี้ เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ merriam-webster ซึ่งเป็นบริษัทจัดทำพจนานุกรมภาษาอังกฤษรายใหญ่ของโลกได้เพิ่มคำศัพท์ hangry ลงไปในพจนานุกรมที่จะพิมพ์จำหน่ายในปีต่อไป โดยให้คำนิยามว่าเป็นการโมโหหิว หรือหงุดหงิดเพราะหิว ซึ่งเกิดจากการผสมกันระหว่างคำว่า hungry (หิว) และ angry (โกรธ)

ที่มา: Fox News/ The Loop/ Metro

ภาพจาก: Aarón Blanco Tejedor on Unsplash

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: