ไม่พบผลการค้นหา
หลายประเทศหันใช้นโยบายการเงิน - การคลัง มูลค่าหลายล้านล้านบาทเป็นเครื่องพยุงเศรษฐกิจ ท่ามกลางความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากพิษโควิด-19

เริ่มด้วยตลาดหุ้นไทยที่เคยมีดัชนีสูงแตะ 1,850 จุด ช่วงปี 2561 หลุดต่ำลงไปถึงหลัก 900 จนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องงัดไม้ตายอย่าง ‘เซอร์กิตเบรกเกอร์’ หรือการหยุดซื้อขายโดยอัตโนมัติเป็นเวลาชั่วคราว 30 นาทีมาใช้ ไล่มาที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมตกต่ำที่สุดในรอบ 21 เดือน

อีกทั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังเรียกประชุมนัดพิเศษเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 1 ต่อปี ซึ่งก็ต่ำท่ีสุดในรอบ 20 ปีแล้ว ลงไปเป็นร้อยละ 0.75 ต่อปีอีก และปิดท้ายด้วยตัวเลขประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ประจำปี 2563 จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มาแรงแซงทุกสถาบันด้วยค่าติดลบถึงร้อยละ 5.3

โควิด-19 ที่มีต้นกำเนิดจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ไม่ได้สร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยเท่านั้น แต่เชื้อไวรัสดังกล่าวทำร้ายทุกประเทศที่มันเดินทางไปถึงในมิติที่ไม่แตกต่างกันมากนัก และถ้าหากโลกยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ความเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ากับ 'เศรษฐกิจถดถอย' ก็อยู่ห่างออกไปไม่ไกลแล้ว


อะไรคือ ‘เศรษฐกิจถดถอย’ ?

เศรษฐกิจถดถอย หรือ recession เป็นคำศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์มหภาคที่เอาไว้ใช้อธิบายสภาวการณ์ทางหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง โดยจะวัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไตรมาสปัจจุบันนำไปเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หากติดลบต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาส ก็จะถือว่าประเทศเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย 

ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ตามข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่าไทยเคยเผชิญหน้ากับเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคมาแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง คือ ปี 2540 ที่มีวิกฤตต้มยำกุ้ง, ปี 2551 ที่มีวิกฤตการเงินโลกหรือที่รู้จักในชื่อวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์หรือวิกฤตซัพไพรม์, ปี 2556 ที่เศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัว และในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างปี 2556 - 2557 ที่ประเทศไทยมีความไม่สงบทางการเมือง ซึ่งตอนนั้น จีดีพีในไตรมาส 4/2556 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ขณะที่ไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ส่วนจีดีพีในไตรมาส 1/2557 อยู่ที่ติดลบร้อยละ 0.5 ก่อนจะปรับตัวขึ้นมาเป็นร้อยละ 0.4 ในไตรมาส 2/2557

จีดีพี - สภาพัฒน์

อย่างไรก็ตาม สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติของสหรัฐฯ (เอ็นบีอีอาร์) ซึ่งเป็นผู้ประกาศสภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ชี้แจงว่า ปัจจุบันมาตรฐานที่ใช้ในการประกาศสภาวะดังกล่าวไม่ได้อยู่ที่เพียงจีดีพีติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาสอีกต่อไป แต่ต้องไปดูสภาพแวดล้อมร่วม อาทิ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ตกลงอย่างต่อเนื่องและกินระยะเวลาหลายเดือนซึ่งอาจสะท้อนได้ชัดเจนจากตัวเลขจีดีพีและรายได้ที่แท้จริง รวมไปถึงอัตราการว่างงาน กำลังการผลิต หรือสัดส่วนทั้งค้าปลีกและค้าส่ง 

ด้านนิตยสาร ฮาร์เวิร์ด บิสซิเนส รีวิว ยังอธิบายรูปแบบเพิ่มว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจจำแนกที่มาได้เป็น 3 ประเภทคือ 

  • เศรษฐกิจถดถอยแท้จริง (real recession) ซึ่งเกิดจากการที่ค่าใช้จ่ายในการลงทุนซื้อสินทรัพย์ใหม่เพื่อมาต่อยอดการดำเนินงานของบริษัท (Capital Expenditures Budget : CapEx) เติบโตขึ้นอย่างมากและลดลงอย่างรวดเร็วจนเกิดอาการชะงักชั่วคราว หรือในบางกรณีก็อาจจะเกิดจากปัจจัยภายนอกของอุปสงค์และอุปทานที่มาขัดขวางการเติบโตดังกล่าว เช่น ในภาวะสงคราม ภาวะวิกฤต หรือภาวะโรคระบาดร้ายแรงเหมือนกรณีปัจจุบันกับโรคโควิด-19
  • เศรษฐกิจถดถอยจากนโยบาย (policy recession) เกิดจากจากที่ธนาคารของประเทศตั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นดอกเบี้ยอ้างอิงเอาไว้สูงกว่าค่ากลางของตลาด ซึ่งทำให้สภาวะทางการเงินไม่ผ่อนคลาย ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยตรง โดยการถดถอยจากปัจจัยนี้น่าจะมีความเป็นไปได้ต่ำ เนื่องจากธนาคารกลางในหลายประเทศก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ในช่วงเกือบเข้าใกล้ศูนย์หรือแม้แต่ติดลบแล้วทั้งนั้น
  • วิกฤตการเงิน (financial crisis) เกิดจากความไม่สมดุลทางการเงินที่สะสมมาเป็นเวลานาน ก่อนจะปะทุตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และแทรกแซงระบบการเงินในทันทีก่อนส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงไปยังเศรษฐกิจโดยรวม เช่น ในวิกฤตซัพไพรม์ของสหรัฐฯ และแม้ว่ายังเป็นเรื่องยากที่จะสรุปว่าโควิด-19 จะส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤตการเงินด้วยไหม แต่ความเสี่ยงในการลดสภาพคล่องในมือของผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลางจากการแพร่ระบาดดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว

สรุปโควิด-19 กระทบอะไรบ้าง 

บทความชิ้นล่าสุดจากสำนักข่าวบีบีซี ชี้ว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสครั้งนี้แพร่หลายไปแทบทุกอุตสาหกรรมและในทุกประเทศที่เชื้อเดินทางไปถึง

ตลาดหุ้นทั่วโลกต้องแบกรับกับความไม่มั่นใจของนักลงทุน ดัชนีฟุตซี, ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ รวมถึงดัชนีนิกเคอิเริ่มร่วงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม นอกจากนี้ทั้งเอฟทีเอสอีและดาวโจนส์ก็เพิ่งทำสถิติร่วงหนักสุดภายในวันเดียวในรอบกว่า 30 ปีไปด้วย

ขณะเดียวกัน ถ้าจะมีอุตสาหกรรมไหนได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คงจะไม่พ้นอุตสาหกรรมการบินที่ต้องหยุดชะงักลงและขาดรายได้แทบจะทั้งหมดจากมาตรการปิดประเทศ ส่งผลให้หลายสายการบินต้องเลือกยกเลิกเที่ยวบินอย่างหมดทางเลือก

สายการผลิตเป็นอีกหนึ่งปัจจัยทางเศรษฐกิจสำคัญที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ โรงงานในจีนจำนวนมากถูกสั่งปิดดำเนินการในช่วงที่ประเทศปรับใช้มาตรการสูงสุดในการควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้สายการผลิตต้องหยุดตัวลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยประเทศจีนมีสัดส่วนในการผลิตกว่า 1 ใน 3 ของโลก

แม้แต่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้เช่นเดียวกัน โดยราคาทองโลกในช่วงเดือนมีนาคมก็มีการปรับลดอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับราคาน้ำมันที่ปรับลดไปอยู่ในจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2544 และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น 

ฝั่งองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ก็ออกมาประกาศว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกปีนี้จะต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยจีดีพีโลกน่าจะโตราวร้อยละ 2.4 เท่านั้น จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ร้อยละ 2.9 และหากสถานการณ์ “ยังคงอยู่ต่อไปด้วยความรุนแรงที่มากขึ้น” จีดีพีก็อาจจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 เท่านั้น 



‘เครื่องช่วยหายใจ’ ของแต่ละประเทศ

มาตรการที่ใช้ในการควบคุมและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศแท้จริงแล้วไม่ได้ต่างกันมากนัก คือ 1. นโยบายทางการเงิน ที่บังคับใช้ผ่านธนาคารกลางของแต่ละประเทศ 2. นโยบายทางการคลัง ที่บังคับใช้ผ่านกระทรวงการคลัง

หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทม์สรวบรวมนโยบายที่แต่ละประเทศใช้เพื่อพยุงเศรษฐกิจของตัวเองไว้ดังนี้

สหรัฐฯ

  • นโยบายการเงิน : ธนาคารกลางของหสรัฐฯ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวมแล้ว 150 เบสิช พอยต์ จากการประชุมฉุกเฉิน 2 ครั้ง คือในวันที่ 3 และ 15 มี.ค. ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยฯ ลงมาอยู่ในช่วงร้อยละ 0 - 0.25 พร้อมเตรียมงบกว่า 700,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 22 ล้านล้านบาท ผ่านมาตรการการเงินแบบผ่อนคลาย (QE) ในการเข้าไปซื้อสินทรัพย์ ตราสารทางการเงินต่างๆ นอกจากนี้ ยังรักษาสภาพคล่องด้วยการทุ่มเงินหลักล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าไปตลาดทั้งผ่านกระแสเงินสด และธุรกรรมการซื้อคืน (repo)
  • นโยบายการคลัง : รัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งวงเงินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 65 ล้านล้านบาท โดยเม็ดเงินราว 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 16 ล้านล้านบาทถูกแบ่งไปสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และงบอีกส่วนเพื่อช่วยเหลือครอบครัวชาวอเมริกันนับล้านที่ได้รับผลกระทบ ครัวเรือนละ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 98,000 บาท 

สหภาพยุโรป 

  • นโยบายการเงิน : ธนาคารกลางของสหภาพยุโรป (อีซีบี) ประกาศเพิ่มเม็ดเงินในโครงการเข้าซื้อสินทรัพย์เพิ่มอีก 120,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 4.3 ล้านล้านบาท ในวันที่ 12 มี.ค. ก่อนจะประกาศอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มอีก 750,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 27 ล้านล้านบาท ในเวลาต่อมา ก่อนที่จะปรับลบอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารกลางให้ธนาคารพาณิชย์ยืมลงอีก 25 เบสิช พอยต์ มาอยู่ที่ติดลบร้อยละ 0.75 ซึ่งเรียกมาตรการนี้ว่าอัตราดอกเบี้ยติดลบ 
  • นโยบายการคลัง : ยุติมาตรการควบคุมการกู้ยืมเงินของรัฐบาลสหภาพยุโรปชั่วคราว ส่งให้สามารถกู้ยืมเงินในจำนวนร้อยละ 2 ของจีดีพีประเทศจากกองทุนช่วยเหลือได้

แคนาดา

  • นโยบายการเงิน : ธนาคารกลางของแคนาดาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.25 พร้อมเตรียมสนับสนุนตลาดตราสารหนี้ ด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลคืน ด้วยมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์แคนาดา/ สัปดาห์ หรือประมาณ 115 ล้านบาท และยังเตรียมเม็ดเงินอีกกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์แคนาดา หรือประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
  • นโยบายการคลัง : รัฐบาลประกาศสนับสนุนเม็ดเงินมูลค่า 55,000 ล้านดอลลาร์แคนาดา หรือประมาณ 12.7 ล้านล้านบาทในการชะลอการจัดเก็บภาษีของธุรกิจและครัวเรือน ทั้งยังเตรียมงบอีก 27,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6.2 ล้านล้านบาท เพื่อสนับสนุนคนงานและครัวเรือนที่มีรายได้น้อย

ญี่ปุ่น 

  • นโยบายการเงิน : ธนาคารของประเทศปรับใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการเข้าไปซื้อกองทุนรวมที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงอื่นๆ นอกจากนี้ธนาคารกลางยังจัดโครงการกู้ยืมดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์เป็นระยะเวลา 1 ปี ให้กับสถาบันการเงินต่างๆ 
  • นโยบายการคลัง : รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมทุ่มเงินสนับสนุนเพิ่มที่อาจมีมูลค่าสูงถึงร้อยละ 10 ของผลผลิตทางเศรษฐกิจประเทศ ขณะที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลออกเม็ดเงินราว 430,000 ล้านเยน หรือประมาณ 130,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย นอกจากนี้ รัฐบาลยังเพิ่มกองทุนเพื่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและกองทุนช่วยเหลือประชาชนที่ต้องหยุดงาน

เกาหลีใต้ 

  • นโยบายการเงิน : ธนาคารกลางของเกาหลีใต้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.75 เมื่อ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา 
  • นโยบายการเงิน : รัฐบาลสนับสนุนเงินจำนวน 11.7 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 310,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนบริษัทขนาดเล็ก

จีน 

  • นโยบายการเงิน : ธนาคารกลางของจีนปรับลดอัตราเงินกู้ยืมระยะเวลา 1 ปีลง มาอยู่ที่ร้อยละ 4.05 รวมทั้งยังปรับลดเงินทุนสำรองของธนาคารพาณิชย์ลง พร้อมสนับสนุนเงินทุนกู้ยืมให้กับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กด้วยเม็ดเงินราว 500,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท 
  • นโยบายการคลัง : รัฐบาลจีนทุ่มเงินในมูลค่านับล้านล้านหยวนไปกับโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งยังเสริมผ่านมาตรชะลอการจ่ายภาษีต่างๆ 

มาตรการของประเทศไทย

เมื่อหันกลับมามองนโยบายช่วยเหลือเศรษฐกิจจากฝั่งประเทศไทย ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังเช่นเดียวกัน ซึ่งในฝั่งของนโยบายการเงิน ก็มีทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.75 รวมถึงมาตรการช่วยเหลือตลาดเงินตลาดทุนด้านสภาพคล่องผ่านธุรกรรม repo ทั้งยังมีมาตรการลด-พักดอกเบี้ยช่วยลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย หรือมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ต่างๆ 

ขณะที่นโยบายการคลังที่เห็นชัดเจนที่สุดก็ดูจะเป็นนโยบายช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบรายละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน รวมไปถึงมาตรการจากฝั่งประกันสังคม ทั้งการลดเงินสมทบ วงเงินช่วยเหลือเมื่อถูกเลิกจ้าง ถูกพักงาน หรือแม้แต่เงินทุนรักษาเมื่อติดโรคโควิด-19 ทั้งยังมีมาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ ต่างๆ รวมไปถึงแนวโน้มในการออก พ.ร.ก.กู้เงินมูลค่า 200,000 ล้านบาท เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้มากที่สุด คือนโยบายต่างๆ ที่เปรียบเสมือนเครื่องช่วยหายใจ ของทุกประเทศออกมาไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 ได้ เพราะการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือการยุติการแพร่ระบาดให้ได้อย่างรวดเร็วที่สุด แต่สิ่งที่นโยบายเหล่านี้ทำได้คือลดการยกระดับจากวิกฤตสุขภาพเป็นวิกฤตเศรษฐกิจและท้ายที่สุดกระทบจนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

เมื่อไหร่ก็ตามที่วิกฤตสุขภาพไม่อยู่แค่ฝั่งสุขภาพ เมื่อไหร่ก็ตามที่ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสตัวนี้ได้รับผลกระทบ เมื่อผู้คนว่างงานจำนวนมาก ธุรกิจไม่มีเงินจ่ายหนี้ ประชาชนไม่มีเงินเพียงพอต่อการยังชีพ เมื่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็อยู่ไม่ไกลอีกต่อไป

อ้างอิง; BI, Forbes, HBR, NYT, JT, BBC, WP, CNBC

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;