ไม่พบผลการค้นหา
สมคิด-สุริยะ หารือผู้ผลิตรายใหญ่ ย้ำจัดหาหน้ากากทางเลือกแบบผ้า 10 ล้านชิ้น พร้อมเจลล้างมือ วอนอย่าเลิกจ้างแรงงาน ฟากผู้ประกอบการกางตัวเลขสต็อกยืนยันข้าว-ปลากระป๋อง-น้ำดื่ม-ทิชชูในประเทศมีเพียงพอ ไม่ขาดแคลน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมกับผู้ผลิตผู้จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ กว่า 10 ราย เข้าประชุมหารือรับมือผลกระทบการระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2563 ณ กระทรวงอุตสาหกรรม

นายสมคิด กล่าวว่า ตามมติ ครม. เมื่อวานนี้ (17 มี.ค. 2563) จะมีผลทำให้มีประชาชนจำนวนมากต้องอยู่กับบ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน ประกอบกับเรื่องใหญ่และสำคัญในเวลานี้ คือ ความต้องการหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือที่เพิ่มสูงขึ้นมาก จึงได้เชิญผู้ผลิตผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำมาหารือ เพื่อขอให้เตรียมความพร้อมและช่วยเหลือจัดผลิต จัดหาสิ่งจำเป็นต่างๆ ที่ประชาชนต้องการในเวลานี้ 

"ความต้องการหน้ากากและเจลล้างมือมีมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นสิ่งสำคัญที่จะป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ในเบื้องต้น ขณะเดียวกัน ภาวะการตื่นตกใจของประชาชนที่ต้องอยู่กับบ้าน เขาก็ต้องแน่ใจว่าจะมีของกิน ของใช้ มีน้ำดื่มที่เพียงพอกับสถานการณ์นี้ ซึ่งเรามั่นใจว่า ประเทศไทยมีของพวกนี้เพียงพอ แต่ต้องทำให้มั่นใจว่า มีพอจริงๆ ด้วย" นายสมคิด กล่าว

สมคิด-สุริยะ ผู้ประกอบการ
  • บรรยากาศการประชุมร่วมกับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการสินค้าอุปโภคบริโภค

สำหรับกรณีการจัดหาหน้ากากทางเลือก ล่าสุดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 มี.ค. 2563 ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมมอบประสานกับภาคอุตสาหกรรมการผลิต ผลิตหน้ากากอนามัยทางเลือกเพิ่มเติม จำนวน 10 ล้านชิ้น เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชน 

"วันนี้มีผู้ประกอบการสิ่งทออยู่ตรงนี้ มีสหพัฒน์ ซึ่งปกติผลิตชุดชั้นใน ก็อยู่ตรงนี้ ที่จะสามารถนำกำลังการผลิตบางส่วนมาผลิตหน้ากากผ้าได้ ดังนั้นจึงคาดว่า หน้ากากทางเลือก 10 ล้านชิ้นนี้ จะออกมาในเวลารวดเร็ว เพราะเราไม่มีเวลารอแล้ว และจะแจกล็อตแรกภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะทำให้การแจกจ่ายสะดวกที่สุด" 

โดยเบื้องต้น คาดว่าจะแจกจ่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ ปั๊มน้ำมัน หรือสาขาธนาคาร ซึ่งทีมงานจะต้องไปประสานงานและตัดสินใจกันอีกทีว่าจะเป็นช่องทางใดบ้าง

ส่วนกรณีเจลล้างมือ ได้ขอให้ผู้ผลิตแอลกอฮอล์ปรับเปลี่ยน (convert) การผลิตจากสินค้าปกติมาเป็นเจลล้างมือ เช่น ให้ปตท.คุยกับผู้ผลิตเอทานอลที่สามารถผลิตเจลล้างมือได้ แล้วนำมาผลิตเพื่อจำหน่ายจ่ายแจกที่ปั๊ม ปตท. เป็นต้น 

รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค นายสมคิดยืนยันว่า ของเหล่านี้ ประเทศไทยมีเพียงพอ ไม่มีทางขาดแคลน เพราะภาคการผลิตชี้แจงได้ว่า สินค้าในสต็อกมีเพียงพอ 

อีกด้านหนึ่ง ขอฝากให้เจ้าของกิจการขนาดใหญ่ทั้งหลาย ชะลอการเลิกจ้าง โดยต้องคิดถึงคนที่เขาทำงานด้วย ยามลำบากก็ลำบากด้วยกัน ยามสบายก็สบายด้วยกัน ถ้าเขาลำบาก ธุรกิจจะอยู่ได้อย่างไร ดังนั้นต้นทางอย่างภาคธุรกิจ จะสามารถช่วยให้สถานการณ์นี้ลุลวงไปได้ หากไม่ปิดโรงงาน ไม่เลิกจ้าง รวมถึงช่วยกันพยายามป้องกันการระบาดของโลกด้วย

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หน้ากาก N95
  • สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

"ขอให้ช่วยกันดูแลการจ้างงาน อย่าไปปลดเขา ตอนนี้แบงก์ชาติ คลัง ก็คุยกันแล้วว่าจะหาทางช่วย เพราะเราจะไม่ทิ้งเขาเด็ดขาด ซึ่งผมคาดว่า ถ้าช่วยกันจริงจัง 2 เดือนหลังจากนี้ เราก็น่าจะผ่านพ้น" นายสมคิด กล่าว 


จับมือสภาอุตฯ หาหน้ากากทางเลือก 10 ล้านชิ้น แจกปชช.

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า เรื่องหน้ากากทางเลือก 10 ล้านชิ้น ทางประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะเจรจากับผู้ผลิตกระจายแล้วส่งมาที่กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อกระจายไปตามร้านสะดวกซื้อเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนต่อไป 

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
  • สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า การผลิตหน้ากากผ้าทางเลือก 10 ล้านชิ้น สอท.จะเป็นผู้จัดหาเพื่อส่งมาให้กระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนผู้กระจายจัดสรรสู่ประชาชนคือกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งในตอนนี้ ราคาต้นทุนหน้ากากผ้าอยู่ที่ 6-7 บาท/ชิ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่ราคาต้นทุนอยู่ที่ชิ้นละ 5 บาท เนื่องจากความต้องการในตลาดมีสูงขึ้น โดยเฉพาะราคายางยืดมาทำหน้ากากราคาเพิ่มขึ้นเท่าตัว 

อย่างไรก็ตาม ทราบว่าทางรัฐบาลได้อนุมัติจ่ายให้ภาคเอกชนที่ชิ้นละ 6 บาท และการผลิตจะใช้เวลา 2 เดือน (แบ่งเป็นเดือนละ 5 ล้านชิ้น) โดยภายใน 2 สัปดาห์นี้จะส่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประมาณ 2.3 แสนชิ้นเป็นลอตแรก  

กลินท์ สุพันธ์ กอบศักดิ์
  • กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย


ผู้ผลิตกางตัวเลขกำลังการผลิต-สต็อกสินค้า ย้ำไม่ขาดแคลน

นอกจากนี้ สภาอุตสาหกรรมนำเสนอข้อมูลในที่ประชุมครั้งนี้ โดยระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 11 ของโลก และอันดับที่ 2 ของเอเชีย (รองจากประเทศจีน) เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มในประเทศมีจำนวน 53,642 โรงงาน แบ่งเป็น โรงงานแปรรูปผลิตผลทางเกษตรเบื้องต้น 43,725 โรงงาน โรงงานแปรรูปอาหาร 9,102 โรงงาน และโรงงานผลิตเครื่องดื่ม 815 โรงงาน มีมูลค่าการผลิตอาหารราว 3,000,000 ล้านบาท / ปี

แล้วหากแยกประเภทผลิตภัณฑ์ที่ประชาชนมีความต้องการในช่วงสภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ได้แก่

  • ข้าวสาร ผลผลิตข้าวในประเทศมี 18.72 ล้านตันข้าวสาร โดยมีความต้องการใช้ในประเทศ 11.5 ล้านตัน แบ่งออกเป็นการใช้บริโภคในประเทศ 8.66 ล้านตันข้าวสาร ใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูป 1.56 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งนับว่ามีสัดส่วนการผลิต และความต้องการใช้มีปริมาณเพียงพอ
  • บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กำลังการผลิต 10 ล้านซอง/วัน และสามารถผลิตเพิ่มได้ถึง 15 ล้านซอง/วัน กำลังการผลิต (ต่อเดือน) 2.95 หมื่นตัน กำลังการผลิตที่ใช้ไปร้อยละ 79     
  • ปลากระป๋อง กำลังการผลิต (ต่อเดือน)  22,679 ตัน กำลังการผลิตที่ใช้ไปร้อยละ 50 
  • น้ำดื่ม กำลังการผลิต (ต่อเดือน) 444 ล้านลิตร กำลังการผลิตที่ใช้ไปร้อยละ 67
  • ซอสปรุงรสต่าง ๆ กำลังการผลิต (ต่อเดือน) 7.9 ล้านลิตร กำลังการผลิตที่ใช้ไปร้อยละ 96  
สมคิด-ธุรกิจ-สหพัฒน์-ฐปน -ไทยเบฟ -ซีพี
  • ผู้ประกอบการรายใหญ่เข้าร่วมประชุมที่กระทรวงอุตสาหกรรม วันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศไทยใช้ไปเพียงร้อยละ 70 ดังนั้นจึงยังมีกำลังการผลิตเหลืออีก และมีสต็อกสินค้าทั่วไปอยู่ได้อีก 1 เดือน รวมถึงข้าวสาร มีสต็อก 3 เดือน สต็อกทิชชู ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 11 ล้านม้วนต่อวัน และยังสามารถเพิ่มเป็น 18 ล้านม้วน/วันได้อีก 

"ดังนั้นไม่ต้องกังวลสินค้าจะขาดแคลน แต่สิ่งที่ต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการค้าปลีกคือ ขอให้ขึ้นป้ายติดให้ผู้ซื้อทราบว่า มีของเพียงพอ และเพิ่มความถี่ในการเติมสินค้าเข้าชั้นวางเพิ่มขึ้น" นายฉัตรชัย กล่าว


เอกชนขอรัฐเปิดทางขนส่งวัตถุดิบ-สินค้าเป็นกรณีพิเศษ

นางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า ในฐานะร้านค้าปลีกที่เป็นปลายทางของการผลิต เราพร้อมจัดหาสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ก็ขอฝากให้ภาครัฐยืดหยุ่นกฎระเบียบด้านการขนส่ง ในช่วงเวลาที่เดิมห้ามนำรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าเมือง 

เช่นเดียวกับ นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) เสนอว่า ภาครัฐต้องพูดให้ชัดว่า ในกรณีบางปิดพื้นที่ที่ต้องปิดเมืองนั้น ต้องให้ชัดว่า เป็นการจำกัดเฉพาะการเคลื่อนย้ายคน ไม่ใช่การปิดเมืองห้ามการขนส่ง เพราะไม่เช่นนั้นจะกระทบการการขนส่งสินค้าที่จะส่งถึงมือผู้บริโภค 

"ยืนยันว่า สถานการณ์ครั้งนี้ ไม่ได้เหมือนตอนน้ำท่วมปี 2554 ในแง่ที่จะเกิดการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคในบางพื้นที่ ดังนั้นหากช่วงนี้ไม่เลื่อนการหยุดสงกรานต์แล้ว ก็ขอให้ภาครัฐพิจารณาเรื่องเปิดช่องทางขนส่งสินค้า ขนส่งวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานผลิต จากโรงงานผลิตถึงผู้บริโภค เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าได้ไม่สะดุด" นายเวทิต กล่าว

ทั้งนี้ ภาคเอกชนที่เข้าร่วมประชุมวันนี้ ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)  บริษัท ยูนิลิเวอร์ ประเทศไทย บริษัทในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด บิ๊กซี ท็อปส์ แม็คโคร 7-ELEVEN ฯลฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :