ไม่พบผลการค้นหา
โรงพยาบาลนครพงค์ จ.เชียงใหม่ เปิด "คลินิกมลพิษ" รองรับผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันเพิ่มเติมจากผู้ป่วยนอกตามปกติ ขณะที่ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ จัดพื้นที่เซฟตี้โซน ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ ให้ประชาชนได้สูดอากาศบริสุทธิ์

จากสถานการณ์หมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ ต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิด “คลินิกมลพิษ” ซึ่งเป็นคลินิกเวชกรรมสิ่งแวดล้อม ที่โรงพยาบาลนครพิงค์ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน โดยนายแพทย์ชาญชัย พจมานวิพุธ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลนครพิงค์ ระบุว่าสามารถตรวจรักษาผู้ป่วยได้วันละ 50-60 คน นอกเหนือจากผู้ป่วยนอกตามปกติที่มีอยู่วันละกว่า 2,200 คน 

หมอกควัน

ขณะที่ นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า แม้สถานการณ์ฝุ่นควันและจุดฮอทสปอทจากไฟป่าจะลดลง แต่ยังต้องเข้มทุกพื้นที่ แต่อุปสรรคที่พบก็คือจุดความร้อนจากไฟป่าสองแห่งที่ยังดับไม่ได้ในเขตอำเภอเชียงดาว บริเวณรอยต่อระหว่างอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง อุทยานแห่งชาติดอยผาแดง และ อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก และ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งติดแนวชายแดนประเทศเมียนมาร์ ทำให้การเข้าถึงลำบากเนื่องจากเป็นพื้นที่สูงชันและเป็นพื้นที่ปฏิบัติยุทธการทางทหารมาก่อน 

สำหรับมาตรการทางกฎหมายที่นำมาใช้อย่างเข้มงวด หลังประกาศห้ามเผาป่า ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมจนถึงปัจจุบัน มีการดำเนินคดีไปแล้ว 36 คดี จับผู้ต้องหาได้ 7 ราย ทั้ง พ.ร.บ.ป่าไม้, พ.ร.บ. สาธารณสุข และ พ.ร.บ. จราจร ( จุดไฟทำให้เกิดหมอกควันริมถนน และ กีดขวางการจราจร) ส่วนพื้นที่ป่าตั้งแต่ 1 ม.ค.- 28 ก.พ. ที่ผ่านมา พบเสียหายแล้ว 174,000 ไร่ 

ขณะที่นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สั่งการให้ทุกอำเภอจัดพื้นที่เซฟตี้โซนอย่างน้อยอำเภอละ 1 จุด เปิดเครื่องปรับอากาศที่มีระบบฟอกอากาศในตัว พร้อมกับนำเครื่องฟอกอากาศมาติดตั้งเพิ่ม ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้เข้ามาพักผ่อนหลบหมอกควัน และรับอากาศบริสุทธิ์ตลอดทั้งวันจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น โดยนำร่องที่ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา อ.เมืองเชียงใหม่ รองรับคนได้ 800-1,000 คน  และกำชับให้ อสม.ลงพื้นที่ให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพประชาชนในทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมกับให้แจ้งข่าวสารสถานการณ์ผ่านวิทยุชุมชนและหอกระจายข่าวในทุกหมู่บ้าน